“วิทยา” สั่งเก็บปลากระป๋องยี่ห้อชาวดอย ล็อตบริจาคที่พัทลุงออกจากตลาด พร้อมส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ตรัง หากพบไม่ได้มาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หากพบสิ่งเจือปนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แนะผู้บริจาคอาหารกระป๋องช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ขอให้ดูวันหมดอายุ อย่าเห็นแก่ของถูก หรือราคาลดต่ำผิดปกติ หากพบกระป๋องบุบบู้บี้ ปูดบวม ขึ้นสนิม ต้องทิ้งอย่าเสียดาย เพราะอาจมีเชื้อโรคอยู่ในกระป๋อง ที่ก่อพิษรุนแรงต่อลำไส้ ระบบประสาท ถึงขั้นเสียชีวิตได้
จากกรณีที่ชาวบ้านที่ตำบลชัยบุรี จังหวัดพัทลุง ได้รับบริจาคอาหารช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งภายในถุงบรรจุปลากระป๋อง ข้าวสาร บะหมี่สำเร็จรูป และของใช้ประจำวัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา หลังจากนั้น ได้เปิดปลากระป๋องดังกล่าวบริโภค พบว่ามีกลิ่นเหม็นเน่า เนื้อปลาเละ เมื่อลองชิม เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน จึงได้นำปลากระป๋องทั้งหมดไปส่งคืนที่ผู้ใหญ่บ้าน นั้น
วันนี้ (4 ม.ค.) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง เก็บปลากระป๋องบริจาค คือ ยี่ห้อชาวดอย ซึ่งผลิตจากบริษัท ทองกิ่งแก้วฟู๊ดส์ เลขที่ 17/1 หมู่ 5 ต.แคราย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร จำหน่ายโดยบริษัท ไทย เอ ดี ฟู๊ดส์ เลขที่ 5/145 หมู่ 1 ถนนพระรามที่ 2 แขวงแสมดำ บางขุนเทียน กทม.ผลิตวันที่ 24 ธันวาคม 2551 หมดอายุ วันที่ 24 ธันวาคม 2554 เลขที่ อย. 74-07040-1-0050 ล็อตการผลิต TSE 77 ออกจากหมู่บ้านทั้งหมด และให้ส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.ตรัง เป็นการด่วน แล้ว คาดว่า จะทราบผลในวันพรุ่งนี้ ขณะเดียวกัน ได้สั่งการสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เก็บปลากระป๋องยี่ห้อดังกล่าวและผลิตในล็อตเดียวกัน ออกจากท้องตลาดทั้งหมด รวมทั้งในเขต กทม.ด้วย เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เก็บตัวอย่างปลากระป๋องรุ่นผลิตเดียวกัน และรุ่นผลิตใกล้เคียงกัน ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย หากพบไม่ได้มาตรฐาน ถือว่าเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 28 จะมีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือหากพบสิ่งปนเปื้อนอันตรายเจือปนอยู่ ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบที่โรงงานผลิตเป็นการด่วน ว่า ได้ตามมาตรฐาน จีเอ็มพีหรือไม่ และสืบหาสาเหตุการเน่าเสีย ซึ่งอาจเกิดจากการควบคุมกระบวนการผลิตบกพร่อง เช่น ความร้อนไม่เพียงพอในการฆ่าเชื้อโรค หรือเกิดจากกระบวนการขนส่ง และการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ หากพบสถานที่ไม่ผ่านจีเอ็มพีมีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท
“จากการตรวจสอบสภาพของปลากระป๋องที่บริจาคครั้งนี้ ในเบื้องต้นสันนิษฐานปัญหาเน่าเสีย อาจจะเกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่สะอาด เพราะกระป๋องอยู่ในสภาพดี ไม่มีรอบบุบ หรือบวม กระดาษฉลากอยู่ในสภาพดี”นพ.สุพรรณ กล่าว
นพ.สุพรรณ กล่าวด้วยว่า การเลือกซื้ออาหารกระป๋อง จะต้องเลือกกระป๋องที่มีสภาพสมบูรณ์ ไม่บุบบู้บี้ หรือไม่ปูดบวม ไม่ควรซื้ออาหารกระป๋องที่ลดราคาถูกจนผิดสังเกต ขอให้ประชาชน สังเกตอาหารกระป๋องที่ได้รับบริจาค ให้ดูฉลากอาหาร ต้องมีตรา อย.วันเดือนปีผลิต วันหมดอายุ ลักษณะกระป๋องที่บรรจุ รวมทั้งฝาและก้นกระป๋อง หากบุบบวม พองหรือโป่ง เป็นสนิม หรือหากลักษณะภายนอกดี แต่ลักษณะของอาหารที่บรรจุภายในมีสี กลิ่น และรสผิดปกติ ต้องทิ้งทันที อย่าเสียดายเป็นอันขาด และควรเก็บรักษาอาหารกระป๋องไว้ในที่แห้ง ไม่อับชื้น และไม่ถูกแสงแดด
ทั้งนี้ เชื้อโรคที่ชอบอยู่ในอาหารกระป๋องได้แก่ เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ( Staphylococcus aureus) เชื้อคลอสตริเดียม เปอร์ฟริงเจน(Clostridium perfringen) และเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) เชื้อทั้ง 3 ชนิดนี้ มีความรุนแรง สามารถสร้างพิษ (toxin) ออกมาทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสียอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม พิษมีความรุนแรงสูงมาก ทำให้เสียชีวิตได้ แต่พิษของเชื้อดังกล่าวไม่ทนต่อความร้อน ถ้าใช้อุณหภูมิน้ำเดือด หรือ 100 องศาเซลเซียล นาน 15-30 นาที ก็ทำลายพิษได้ โดยหากได้รับพิษ จะเริ่มมีอาการหลังรับประทานอาหารเข้าไปนาน 18-36 ชั่วโมง มีอาการอ่อนเพลีย มึนงง ริมฝีปากและลำคอแห้ง อาจมีการอาเจียนและท้องเสียได้บ้าง หลังจากนั้นจะมีอาการทางระบบประสาทตาพร่า, ม่านตาขยาย, กลืนและพูดลำบาก หายใจไม่ออก เสียชีวิตได้
ด้านนพ.วิเชียร แก่นพลอย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ในวันนี้ได้เดินทางไปที่ตำบลชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยา เจ้าหน้าที่คุมครองผู้บริโภค เจ้าหน้าที่ควบคุมป้องกันโรคและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยในตำบล เพื่อสอบสวนโรค ในรอบ 3 วันมานี้ตั้งแต่วันที่ 12-14 มกราคม 2552 ยังไม่มีผู้ป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษ เนื่องจากเมื่อเปิดกระป๋องมีกลิ่นเหม็นเน่า เนื้อปลาเละ สีคล้ำ ประชาชนจึงไม่กล้ารับประทาน และนำไปคืนที่อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 โดยหมู่บ้านที่ได้รับบริจาคปลากระป๋องครั้งนี้มีทั้งหมด 13 หมู่บ้าน วันนี้ได้คืนแล้ว 5 กระสอบปุ๋ย สภาพกระป๋องอยู่ในสภาพดี มีฉลากครบถ้วน
นพ.วิเชียร กล่าวต่อว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยตำบลท่าสำเภาใต้ สถานีอนามัยตำบลสระซาง สถานีอนามัยบ้านใต้น้อยและสถานีอนามัยมะกอกใต้ ร่วมกับ อสม.ตำบลชัยบุรี ประกาศแจ้งให้ประชาชนงดกินปลากระป๋องบริจาคครั้งนี้ ผ่านทางหอกระจายข่าวทุกหมู่บ้าน รวมทั้งวิทยุชุมชน และเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เกิดจากการกินปลากระป๋องบริจาคเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หากมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรืออุจจาระร่วง ให้รีบไปรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที