xs
xsm
sm
md
lg

ขยายเงินกู้ กยศ.อืด ศธ.ขอ 7 พันล.ได้แค่ 1.5 พันล. ชี้ทุ่มเงินติดตามหนี้เยอะแต่ไร้ผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นโยบายขยายเงินกู้ กยศ.ยังอืด กยศ.ยังไม่มีคำตอบจะเพิ่มวงเงินกู้ให้ได้เท่าไหร่ “นริศรา” เผยขอ 7 พันล้านบาท แต่ กยศ.ให้แค่ 1.5 พันล้านบาท อึ้ง กยศ.ใช้งบตามหนี้กว่า 500 ล้านบาท แต่ประสิทธิภาพต่ำ ชี้เอาเงินมาปล่อยกู้ให้นักศึกษาจะดีกว่า

น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้หารือร่วมกับ นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการเตรียมการรองรับการขยายจำนวนผู้กู้ยืมเงิน กยศ.ตามที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ กยศ.ไปหารือถึงการดำเนินการทั้ง 4 ประเด็น คือ 1.การเพิ่มวงเงินที่จะนำมาปล่อยกู้ให้กับนักศึกษา โดยเฉพาะเพื่อนำมาเพิ่มสัดส่วนผู้กู้ในสายอาชีวศึกษาให้มากขึ้น 2.การแก้ไขปัญหาการอนุมัติเงินกู้ยืมให้กับนักเรียนที่มีการร้องเรียนเป็นจำนวนมากว่าล่าช้า 3.การขยายโอกาสให้นักศึกษาได้ยื่นกู้ในระหว่างชั้นปี 2-4 และ 4.การติดตามการชำระหนี้
 
อย่างไรก็ตาม จากที่ได้หารือร่วมกับ นพ.ธาดา พบว่าประเด็นทั้งหมดยังไม่มีความคืบหน้าเท่าใดนัก มีเพียงประเด็นการเพิ่มวงเงินที่จะนำมาปล่อยกู้ให้กับนักศึกษา ซึ่งทาง กยศ.แจ้งว่า อาจจะนำเงินที่คงเหลือของกองทุนมาขยายวงเงินเพิ่มเติมให้นักศึกษากู้ได้อีกเพียง 1,500 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าวงเงินที่ รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่าควรจะเพิ่มขึ้นได้อีกมาก เพราะกองทุนมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 13,000 ล้านบาท หากนำเงินที่คงเหลืออยู่ประมาณ 7,000 ล้านบาท มาขยายโอกาสให้กับนักเรียน นักศึกษาที่ด้อยโอกาสได้กู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นก็จะช่วยเหลือนักเรียน อาจจะเพิ่มจำนวนผู้กู้ได้อีกถึงประมาณ 3 แสนราย

“สรุปแล้วก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจาก กยศ.ว่าจะเพิ่มวงเงินที่จะปล่อยกู้ให้ได้อีกเท่าไร ซึ่งก็เข้าใจเหตุผลของ กยศ.ว่าหากนำเงินคงเหลืออยู่ไปปล่อยกู้หมดกองทุนจะไม่เสถียรภาพ รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณในปีต่อไปด้วย แต่ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลพร้อมจะดูแลอยู่แล้ว โดยเฉพาะภาระในเรื่องงบประมาณซึ่งสามารถตั้งงบเพิ่มเติมในปีงบประมาณต่อไปได้”

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ถือเป็นวาระเร่งด่วนเพื่อจะได้ช่วยเหลือนักศึกษาได้ทันก่อนเปิดภาคเรียน 1/2552 เพราะขณะนี้มีนักศึกษาหลายคนที่สอบติดแล้วและต้องการจะยื่นกู้ อีกทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ได้มีดำริว่าในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันควรจะขยายวงเงินกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้ กยศ.ไปหารือกันในส่วนของคณะกรรมการกองทุน เพื่อนำข้อสรุปเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ในระหว่างการประชุมผู้บริหารระดับสูง ศธ.วันที่ 26 ม.ค.นี้ หากได้ข้อสรุปร่วมกันจะได้นำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป

ส่วนการชำระหนี้ของลูกหนี้รายเก่า น.ส.นริศรา กล่าวว่า รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า จากการติดตามการข้อมูลการชำระหนี้ของผู้กู้ กยศ. ปรากฏว่ามีหนี้เสียถึงร้อยละ 30 หรือประมาณ 5 หมื่นคน จากจำนวนผู้กู้ทั้งหมดประมาณ 2 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่ข้อมูลที่น่าตกใจ คือ กยศ.ใช้เงินเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงหนี้ดังกล่าวนี้ถึง 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตนเห็นว่าควรมีมาตรการปรับปรุงแก้ไข อาทิ การยืดเวลาการใช้คืนหนี้ออกไปจากเดิม 15 ปี หรืออาจใช้มาตรการอื่นมาใช้ หรือหากกรณีที่ลูกหนี้ผิดข้อตกลงการชำระหนี้ อาจจะต้องให้ชื่อติดในเครดิตบูโร เพื่อให้ลูกหนี้ กยศ. มีความรับผิดชอบมากขึ้น และสามารถนำเงินดังกล่าวมาปล่อยกู้ให้กับนักศึกษาในรุ่นต่อๆ ไปได้ ซึ่งทาง กยศ.ก็รับข้อเสนอไปหาแนวทางต่อไป

“คงต้องมาดูรายละเอียดกันด้วยว่า ประสิทธิภาพในการติดตามหนี้เป็นอย่างไร เพราะจากข้อมูลเบื้องต้นค่าใช้จ่ายของกองทุนปีละ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าติดตามทวงหนี้ 500 ล้านบาท ค่าดำเนินการให้กับธนาคารกรุงไทย 300 ล้านบาท และเงินเดือนพนักงาน 200 ล้านบาท ซึ่งก็ตกใจว่าใช้เงินขนาดนี้แต่ทำไมประสิทธิภาพเงินคืนต่ำมาก เพราะหากนำเงิน 500 ล้านบาทนั้นมาปล่อยกู้ให้นักศึกษายังจะมีค่ากว่า หรือหากใช้เงินถึง 500 ล้านบาท ก็ควรติดตามหนี้ได้มากกว่านี้” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น