xs
xsm
sm
md
lg

ศาล-กยศ.ตั้งโต๊ะไกล่เกลี่ยลูกหนี้เชียงรายหลัง นร.-นศ.หนีหนี้พุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – หนี้ กยศ.ยังล้น เฉพาะเชียงรายปีนี้ตั้งแท่นฟ้อง 3 พันราย ศาลฯ แนะลูกหนี้เข้าโครงการไกล่เกลี่ย หลังจับมือ กยศ.เปิดโต๊ะรับไกล่เกลี่ย ตั้งเป้าลดคดีฟ้องร้องวันละ 500 ราย

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (5 ก.พ.)กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ.ร่วมกับศาล จ.เชียงราย ได้จัดทำโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนฟ้องคดีในพื้นที่ จ.เชียงราย ขึ้น โดยใช้สถานที่บริเวณหน้าอาคารศาล จ.เชียงราย ถนนธนาลัย เทศบาลนครเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย กำหนดระยะเวลา 3 วัน คือตั้งแต่วันที่ 5-7 ก.พ.นี้

ภายในโครงการจัดให้นักศึกษาที่เคยกู้ยืมเงินไปแล้ว แต่ค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 5 งวดขึ้นไป และกำลังจะถูก กยศ.ฟ้องร้องดำเนินคดีหากว่าไม่ชำระ ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป เข้าไปรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ของ กยศ.เป็นจำนวนมาก

นายมโน เทอดจิตธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จ.เชียงราย กล่าวว่า กรณีที่นักเรียนนักศึกษาที่กู้ยืมเงินจาก กยศ.แล้วไม่ชำระคืน และทำให้เกิดการฟ้องร้องมีเป็นประจำทุกปี โดยปี 2551 ที่ผ่านมามีกว่า 2,000 ราย และในปี 2552 นี้เตรียมจะฟ้องร้องกันอีกประมาณ 3,000 ราย

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือกลุ่มคนที่กำลังจะถูกฟ้องไปพร้อมๆ กันจึงจัดโครงการนี้ขึ้นโดย จ.เชียงราย ถือเป็นหนึ่งใน 10 จังหวัด ที่มีการดำเนินการ โดยมีการตั้งเป้าว่าจะมีผู้ที่กำลังจะถูกฟ้องร้องเข้าร่วมโครงการประมาณ 50% หรือวันละประมาณ 500 ราย

ผู้เข้าร่วมจะได้รับคำปรึกษาเพื่อเข้าสู่เงื่อนไข 3 ประการคือหากชำระเงินทั้งหมดทันทีก็จะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับที่กำหนดเอาไว้ร้อยละ 1 กว่า 80% แต่ถ้าต้องการชำระหนี้ก่อนสิ้นเดือน มี.ค.นี้ ก็จะลดเบี้ยปรับให้ 65% และสุดท้ายผ่อนชำระเป็นเวลา 9 ปี ตามอัตราดอกเบี้ยเดิม โดยหากมีรายได้น้อยก็จ่ายเป็นหลักร้อยบาทต่อเดือนหากมากก็จ่ายเป็นหลักพันบาท

“หากเข้าสู่เงื่อนไขตามโครงการก็ไม่ต้องติดปัญหาต้องฟ้องร้องกันอีกต่อไป จึงฝากไปถึงผู้กู้ยืมที่พอจะมีรายได้ว่าถ้าใช้คืนได้ก็ให้ใช้คืน เพื่อจะได้ให้น้องๆ ได้กู้ยืมต่อทั้งตัวเองก็ไม่ต้องเสียเครดิตหากต้องไปทำนิติกรรมในอนาคต” นายมโน กล่าวและว่า

เท่าที่สังเกตผู้ที่เป็นหนี้ กยศ.มีทั้งผู้ที่มีฐานะดี ผู้ที่พอจะมีฐานะอยู่บ้างและผู้ที่ยากจน แต่ท้ายที่สุดคนที่มักจะถูกฟ้องร้องมักจะเป็นคนที่ยากจนซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ กระนั้นหากว่ามีการฟ้องร้องแล้วนำเงินไปชำระภายหลัง ก็สามารถทำได้แต่จะกลายเป็นหนี้สินก้อนใหม่ที่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแทน สำหรับแนวโน้มของหนี้สิน กยศ.ในอนาคตนั้นตนเห็นว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยของการปล่อยกู้ยืมในอนาคตนั่นเอง

ด้าน นายเสริมเกียรติ ทัศนสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการ กยศ.กล่าวว่า ในปัจจุบันมีนักศึกษาทั่วประเทศที่ไม่ชำระหนี้ กยศ.5 งวดขึ้นไปประมาณ 150,000 ราย ซึ่ง กยศ.พยายามจะใช้วิธีการไกล่เกลี่ยดังกล่าว เนื่องจากหากต้องฟ้องร้องก็จะต้องสูญเสียงบประมาณหลายร้อยล้านบาท และน่าดีใจที่ในพื้นที่ภาคเหนือให้ความร่วมมือดีอย่างมาก จึงตั้งเป้าว่าอย่างน้อยๆ ก็มีคนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 30-40%

ส่วนผู้ที่เข้าร่วมโครงการแต่ไม่ชำระคืน 1 ปี ต้องเสียค่าเบี้ยปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 12 และหากเกินกว่า 1 ปีหรือเป็น 2 ปีก็จะเพิ่มเป็นร้อยละ 18 ตามลำดับ

ส่วนเรื่องกองทุนที่จะให้กับรุ่นน้อง กยศ.ระบุว่ายังไม่น่าเป็นห่วงเพราะรัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณให้ปีละประมาณ 25,000 ล้านบาท และเงินกู้ยืมที่จัดให้นักศึกษารุ่นน้องที่ยืมใช้อยู่ในปัจจุบันก็มาจากการใช้คืนของรุ่นพี่ที่พากันไปใช้หนี้กว่า 70% เหลือเพียงประมาณ 30% ที่ยังติดปัญหาไม่ชำระหนี้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและการไม่มีงานทำนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น