xs
xsm
sm
md
lg

กยศ.โยน ครม.ชี้ชะตา มี-ไม่มี กรอ.เตือน ม.เอกชน หัวหมอหากินกับกองทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กยศ.โยน ครม.ชี้ขาดจะต่ออายุ กรอ.หรือไม่ เนื่องจากการออกกฎหมายรวม 2 กองทุน กยศ.-กรอ.ยังไม่แล้วเสร็จ เตือนมหาวิทยาลัยเอกชนหัวหมอ ให้เด็กลงนามในเอกสารกู้ยืมเงิน โดยจะเรียนหรือไม่เรียนก็ได้ถือว่าไม่ถูกต้อง กยศ.มีมาตรการลงโทษ ส่วนสถาบันการศึกษาใดได้รับเงินกู้ซ้ำซ้อน ขอให้ส่งคืน ไม่เช่นนั้นถือว่ามีความผิด

นายเสริมเกียรติ ทัศนสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินกู้ยืม ที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระการกู้ กรอ.ประจำปีการศึกษา 2552 เนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา มีมติว่า ในปีการศึกษา 2551 ให้กู้ กรอ.ในสาขาที่ขาดแคลนและเป็นความต้องการของประเทศ ส่วนปีการศึกษา 2552 ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.กยศ.เพื่อหลอมรวมกองทุน กรอ.และ กยศ.เข้าเป็นกองทุนเดียวกัน แต่เนื่องจากขณะนี้การออกกฎหมายดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ โดยร่าง พ.ร.บ.กยศ.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ฉะนั้น ที่ประชุมจึงเห็นควรให้เสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติ ว่า ในระหว่างที่การแก้ไขกฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ ในปีการศึกษา 2552 นี้ จะให้นิสิตนักศึกษากู้ กรอ.ต่อไปหรือไม่

นายเสริมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่ผู้ปกครองร้องเรียน ว่า มหาวิทยาลัยใช้ กยศ.เป็นเครื่องมือในการรับนักศึกษาเชิงธุรกิจ โดยมหาวิทยาลัยสร้างแรงจูงใจ และชักชวนให้เด็กมาสมัครเรียนไว้ก่อน เพื่อให้ลงนามเอกสารการกู้ยืมเรียนไว้ แต่จะเรียนหรือไม่ก็ไม่เป็นไรนั้น ว่า ถ้ามีการกระทำดังกล่าวจริง ถือว่าไม่ถูกต้อง ซึ่ง กยศ.มีมาตรการลงโทษว่าจะเข้าไปควบคุมดูแลการพิจารณากู้ กยศ.เอง จากเดิมที่ กยศ.มอบอำนาจให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาการกู้ กยศ.ฉะนั้น ถ้ามีกรณีดังกล่าวจริง ขอให้ร้องเรียนมาที่ กยศ.เพื่อจะได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

“ที่ผ่านมา มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่บ้าง โดยเฉพาะกับต่างจังหวัด เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏขยายสาขา รับนักศึกษามากขึ้น จึงทำให้เกิดการแย่งนักศึกษา มหาวิทยาลัยเอกชนจึงต้องใช้เรื่องการกู้ กยศ.มาเชิญชวนให้เด็กมาเรียน ซึ่งปัญหานักศึกษากู้ กยศ.ซ้ำซ้อนในหลายสถาบัน มักเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการเข้าเรียน ที่เด็กอาจจะยังลังเลใจ ว่า จะเลือกมหาวิทยาลัยใดดีระหว่าง 2 แห่ง ทำให้เกิดปัญหามหาวิทยาลัยส่งสัญญาเงินกู้ของเด็กมายัง กยศ.ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งหากตรวจพบว่าเป็นไปโดยไม่ตั้งใจ กยศ.ก็จะยกเลิกสัญญาในสถาบันที่เด็กไม่ได้เรียนจริง และกรณีที่รับเงินกู้ไปแล้ว ก็จะขอให้มหาวิทยาลัยแห่งนั้น ส่งเงินกู้คืน ส่วนถ้าเป็นความซ้ำซ้อนโดยความจงใจ กยศ.จะมีมาตรการเข้าไปควบคุมต่อไป” นายเสริมเกียรติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น