มาตรฐานวิทย์-คณิต เด็กไทยแย่ สสวท.ตั้งเป้ายกเครื่องครั้งใหญ่ ประกาศในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเทียบเคียงกับมาตรฐานนานาชาติ พร้อมฝันอีก 20 ปีจะติดอันดับ Top 5
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ให้สัมภาษณ์เนื่องในโอกาสวันสถาปนา สสวท.36 ปี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2552 ถึงเป้าหมายการดำเนินงานในอนาคตว่าภารกิจหลักของ สสวท.จะเร่งยกระดับการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ให้พัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยจะเน้นสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งให้มากยิ่งขึ้น พัฒนาครูผู้สอน สื่อการเรียนการสอน รวมทั้งการประเมินผลความสามารถวิชาดังกล่าวของเด็กไทย ซึ่งต้องได้มาตรฐานเทียบเคียงกับนานาชาติได้ โดย สสวท.ได้นำเสนอเรื่องนี้ต่อทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา
สำหรับการสร้างเครือข่ายนั้น จะเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่มีศักยภาพสูงต่างๆ ในการผลิตครู เช่นสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เพื่อผลิตครูให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมให้มากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้เด็กไทยสนใจเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเข้าร่วมในโครงการผลิตครูวิชานี้ ทั้งนี้เพราะปัญหาสำคัญพบว่า ในปัจจุบัน ครูสอนไม่ตรงกับวุฒิที่เรียนจบมา ในส่วนของการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนจะมุ่งนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เช่น การศึกษาผ่านระบบการเรียนรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตที่ครูและนักเรียนแม้จะอยู่ห่างไกลก็สามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งสื่อดิจิทัล ซึ่ง สสวท.ได้พัฒนาเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย
ด้านการประเมินผลมาตรฐานความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ของเด็กไทยพบว่า จากการประเมินผลโครงการศึกษานานาชาติ Trends in International Mathematics and Science Study หรือ TIMSS 2007 และโครงการประเมินความสำเร็จของการจัดการศึกษาภาคบังคับของประเทศสมาชิก (Program for International Student Assessment) หรือโครงการ PISA พบว่ามาตรฐานความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของเด็กไทยอยู่ในระดับล่าง ดังนั้น สสวท.จึงมุ่งยกระดับการเรียนรู้ของโรงเรียนทั่วไปให้ได้ตามมาตรฐานหลักสูตร โดยตั้งเป้าว่า ในอีก 4-5 ปี มาตรฐานการเรียนรู้ของเด็กไทยต้องไม่ต่ำไปกว่าเดิมหรือเท่าเดิม และในอีก 10 ปีข้างหน้า มาตรฐานจะเพิ่มขึ้นเทียบเคียงกับมาตรฐานนานาชาติได้
นอกจากนี้ คาดว่า ในอีก 20 ปีมาตรฐานความสามารถทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ของเด็กไทยน่าจะขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสูด 5 อันดับแรก (Top 5) ได้ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าทุกหน่วยงานจะต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งด้วย
ทั้งนี้ ในโอกาสครบรอบ 36 ปี สสวท.ได้มีพิธีมอบรางวัลการแข่งขันผลงานสร้างสรรค์ความสามารถทางคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในระดับประเทศ ทั้งระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งนี้โปรแกรม GSP เป็นสื่อเพื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพสูง เรียนรู้ง่าย ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเร็ว ซึ่ง สสวท.ซื้อลิขสิทธิ์ และแปลเป็นภาษาไทย สามารถนำไปบูรณาการกับกิจกรรมการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เทคโนโลยี ศิลปะ และวิชาอื่นๆ หลากหลายโดยนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
สำหรับนักเรียนที่ชนะเลิศรางวัลเหรียญทองในระดับประถมศึกษา คือ ด.ญ.สิรญาณ์ วงษาไฮ และ ด.ญ.มินตรา เทเวลา จากโรงเรียนเมืองวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ผู้ชนะเลิศรางวัลเหรียญทองในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น คือ ด.ช.ชยณัฐ พานิช และ ด.ญ.ณิชกานต์ ศุภภัทราชัย จากโรงเรียนสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และผู้ชนะเลิศรางวัลเหรียญทองระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย คือ นายนพกร ใช้บุญเรือง และ นายภรัณย์ กองรอด จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี