แทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาตั้งหลักแหล่ง และประกอบอาชีพอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวจากพม่า ลาว และ กัมพูชา ซึ่งประมาณการว่ามีแรงงานต่างชาติและผู้ติดตามเข้ามาอยู่กว่า 1 ล้านคน
ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่มาพร้อมกับแรงงานต่างด้าว คือ การนำโรคติดต่อเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ทำให้หลายโรคที่เคยควบคุมได้ กลายเป็นปัญหาใหม่อีกครั้ง เช่น วัณโรค มาลาเรีย เอดส์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เมื่อเจ็บป่วยมักไม่กล้าไปรักษา เพราะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารและกลัวถูกจับ
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพต่อคนไทยทั้งประเทศ การดูแลสุขภาพคนกลุ่มนี้จึงต้องทำในเชิงรุก โดยพัฒนาแรงงานต่างด้าวในชุมชน หรือสถานประกอบการ ให้เป็น อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) และพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งพบว่าช่วยลดช่องว่าง เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน ควบคุมโรค และการให้บริการสุขภาพแก่แรงงานต่างด้าวได้เป็นอย่างดี
“สิงห์ทอง ศรีวงศ์” หรือ “พี่สิงห์” อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) สถานีอนามัยแม่เมืองน้อย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ส่วนตัวเป็นคนพม่า อยู่ไทยมาเกือบ 20 ปี และขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ด้วยการที่เป็นคนต่างด้าว จึงรับรู้ถึงปัญหาชีวิตที่ต้องหลบหลีก และหลบหนีตำรวจอยู่ตลอดเวลา ครั้นเมื่อคราวเจ็บป่วย ก็ไม่กล้าเดินทางไปรักษา เพราะกลัวถูกจับกุม ทำให้บางโรคที่มีเชื้อติดต่อกันเกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและประชาชนในเขตพื้นที่ใกล้เคียง
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้น ให้ตัวเองหันมาทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือเพื่อนต่างด้าว มีหน้าที่หลักเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพ และดึงเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค เช่น มาลาเรีย วัณโรค หรือเอดส์ โดยใช้ภาษาไทยใหญ่ เป็นภาษาแม่ในการสื่อสาร
“เวลาว่างหลังจากทำสวนกระเทียม ผมจะเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน และรักษาสุขภาพในกลุ่มแรงงานต่างด้าวตามเขตพื้นที่ต่างๆ เพราะจากสถิติ คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มการแพร่ระบาดโรคติดต่อได้สูงมาก โดยเฉพาะวัณโรค เพราะเป็นชุมชนแออัด รวมถึงกลัวถูกตำรวจจับ ทำให้ไม่กล้าเปิดเผยตัวรักษา ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดไปสู่คนทั่วไป และนักท่องเที่ยว เนื่องจากเราไม่รู้เลยว่า ใครเป็นโรคติดต่อบ้าง ดังนั้นชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจ และดึงเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างต่อเนื่องให้ได้” พี่สิงห์เล่า
นอกจากนี้ พี่สิงห์ ยังบอกด้วยว่า อยากให้ผู้บริหารทุกจังหวัด ตำบล อำเภอ และชุมชนทั่วประเทศ ต้องตั้งกลุ่มแนวร่วมรวมพลัง สร้างความเข้าใจกับคนต่างด้าวให้มากขึ้น ด้วยการชักจูงให้ลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย รวมถึงช่วยเหลือ และดึงเข้าสู่ระบบการรักษาโรคอย่างทันท่วงที และต่อเนื่อง ก่อนจะเกิดการแพร่ระบาด จนยากที่จะแก้ไข
“ตื่นเช้าผมจะถามตัวเองอยู่เสมอว่า วันนี้จะทำอะไรให้สังคมดี ไม่ใช่หวังแต่อยากได้ แต่ไม่รู้จักการให้ การเป็นอาสาสมัคร มีจิตอาสา ไม่เพียงแต่ช่วยให้เพื่อนมนุษย์เกิดสุข และรอยยิ้ม แต่มันจะช่วยให้โลกทั้งใบ ยิ้มอย่างมีความสุข และมีความหวังต่อไป ถ้าเราไม่ช่วยกันใครหน้าไหนจะมาช่วยล่ะครับ หรือจะรอให้เกิดปัญหาขึ้นมาก่อน แล้วค่อยมาช่วยกัน ผมว่าถึงจุดนั้น มันคงไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้วล่ะ” พี่สิงห์ ฝากทิ้งท้าย
ด้าน นพ.วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขเชียงใหม่ เปิดเผยว่า แรงงานต่างด้าวที่ป่วยเป็นโรควัณโรค เป็นกลุ่มเสี่ยงที่แพร่เชื้อได้มากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า ซึ่งแพทย์ต้องทำการรักษาทั้งที่จดทะเบียนถูกต้อง โดยในจังหวัดเชียงใหม่ มีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง 50,000 คน และที่ไม่จดทะเบียนอีกเท่าตัว ขณะที่การรักษาแรงงานต่างด้าวที่ป่วยเป็นวัณโรคยังเผชิญกับปัญหาด้านงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม เพี่อเป็นการป้องกันและควบคุมวัณโรค ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้อบรมพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ด้วยการให้ความรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับวัณโรค เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อแรงงานต่างด้าวคนอื่นๆ ที่ยังหลบซ่อนอยู่ ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ขณะนี้มีพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) ประมาณ 60-70 คน แต่ละคนมีค่าตอบแทนให้ทุกเดือน โดยองค์กรชิลด์ ให้การสนับสนุนงบประมาณ ส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) จะไม่มีค่าตอบแทนให้ เพราะจะทำงานด้วยจิตอาสา ช่วยเหลือสังคม
“เชียงใหม่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดใน 8 จังหวัดของภาคเหนือตอนบน และพบผู้ป่วยวัณโรคสูงขึ้นทุกปีเกี่ยวเนื่องกับ โรคเอดส์ วัณโรคในเรือนจำ และแรงงานต่างด้าวที่พบเชื้อมากที่สุด”
สอดรับกับ “ณัฐนันท์ ธนะสาร” หรือ “พี่เอ๋” ผู้จัดการโครงการสาธารณสุขต่างด้าว (โครงการ SHILD) บอกว่า หน้าที่ของเราจะดูแลด้านสุขภาพ และการศึกษาของกลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นหลัก โดยมีพื้นที่การทำงานอยู่ทั้งหมดใน 4 จังหวัดในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และ ตาก ซึ่งทางโครงการได้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อลงทำงานในพื้นที่ที่มีกลุ่มแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก
“เราคาดหวังให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่ถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมายเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุข และการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ เช่น การเข้าถึงช่องทางการรักษาวัณโรคของแรงงานต่างด้าว ที่ยังคงเป็นปัญหาของชุมชนอยู่มาก เพราะแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เมื่อเจ็บป่วยมักไม่กล้าไปรักษา เพราะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารหรือกลัวถูกจับ เราจึงต้องสร้างความไว้ใจ ด้วยการหากลุ่มอาสาสมัครต่างด้าวมาทำหน้าที่สื่อสาร และดึงเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป” ผจก.โครงการสาธารณสุขต่างด้าว บอก
ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่มาพร้อมกับแรงงานต่างด้าว คือ การนำโรคติดต่อเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ทำให้หลายโรคที่เคยควบคุมได้ กลายเป็นปัญหาใหม่อีกครั้ง เช่น วัณโรค มาลาเรีย เอดส์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เมื่อเจ็บป่วยมักไม่กล้าไปรักษา เพราะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารและกลัวถูกจับ
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพต่อคนไทยทั้งประเทศ การดูแลสุขภาพคนกลุ่มนี้จึงต้องทำในเชิงรุก โดยพัฒนาแรงงานต่างด้าวในชุมชน หรือสถานประกอบการ ให้เป็น อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) และพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งพบว่าช่วยลดช่องว่าง เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน ควบคุมโรค และการให้บริการสุขภาพแก่แรงงานต่างด้าวได้เป็นอย่างดี
“สิงห์ทอง ศรีวงศ์” หรือ “พี่สิงห์” อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) สถานีอนามัยแม่เมืองน้อย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ส่วนตัวเป็นคนพม่า อยู่ไทยมาเกือบ 20 ปี และขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ด้วยการที่เป็นคนต่างด้าว จึงรับรู้ถึงปัญหาชีวิตที่ต้องหลบหลีก และหลบหนีตำรวจอยู่ตลอดเวลา ครั้นเมื่อคราวเจ็บป่วย ก็ไม่กล้าเดินทางไปรักษา เพราะกลัวถูกจับกุม ทำให้บางโรคที่มีเชื้อติดต่อกันเกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและประชาชนในเขตพื้นที่ใกล้เคียง
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้น ให้ตัวเองหันมาทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือเพื่อนต่างด้าว มีหน้าที่หลักเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพ และดึงเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค เช่น มาลาเรีย วัณโรค หรือเอดส์ โดยใช้ภาษาไทยใหญ่ เป็นภาษาแม่ในการสื่อสาร
“เวลาว่างหลังจากทำสวนกระเทียม ผมจะเดินสายให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน และรักษาสุขภาพในกลุ่มแรงงานต่างด้าวตามเขตพื้นที่ต่างๆ เพราะจากสถิติ คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มการแพร่ระบาดโรคติดต่อได้สูงมาก โดยเฉพาะวัณโรค เพราะเป็นชุมชนแออัด รวมถึงกลัวถูกตำรวจจับ ทำให้ไม่กล้าเปิดเผยตัวรักษา ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดไปสู่คนทั่วไป และนักท่องเที่ยว เนื่องจากเราไม่รู้เลยว่า ใครเป็นโรคติดต่อบ้าง ดังนั้นชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจ และดึงเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างต่อเนื่องให้ได้” พี่สิงห์เล่า
นอกจากนี้ พี่สิงห์ ยังบอกด้วยว่า อยากให้ผู้บริหารทุกจังหวัด ตำบล อำเภอ และชุมชนทั่วประเทศ ต้องตั้งกลุ่มแนวร่วมรวมพลัง สร้างความเข้าใจกับคนต่างด้าวให้มากขึ้น ด้วยการชักจูงให้ลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย รวมถึงช่วยเหลือ และดึงเข้าสู่ระบบการรักษาโรคอย่างทันท่วงที และต่อเนื่อง ก่อนจะเกิดการแพร่ระบาด จนยากที่จะแก้ไข
“ตื่นเช้าผมจะถามตัวเองอยู่เสมอว่า วันนี้จะทำอะไรให้สังคมดี ไม่ใช่หวังแต่อยากได้ แต่ไม่รู้จักการให้ การเป็นอาสาสมัคร มีจิตอาสา ไม่เพียงแต่ช่วยให้เพื่อนมนุษย์เกิดสุข และรอยยิ้ม แต่มันจะช่วยให้โลกทั้งใบ ยิ้มอย่างมีความสุข และมีความหวังต่อไป ถ้าเราไม่ช่วยกันใครหน้าไหนจะมาช่วยล่ะครับ หรือจะรอให้เกิดปัญหาขึ้นมาก่อน แล้วค่อยมาช่วยกัน ผมว่าถึงจุดนั้น มันคงไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้วล่ะ” พี่สิงห์ ฝากทิ้งท้าย
ด้าน นพ.วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขเชียงใหม่ เปิดเผยว่า แรงงานต่างด้าวที่ป่วยเป็นโรควัณโรค เป็นกลุ่มเสี่ยงที่แพร่เชื้อได้มากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า ซึ่งแพทย์ต้องทำการรักษาทั้งที่จดทะเบียนถูกต้อง โดยในจังหวัดเชียงใหม่ มีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง 50,000 คน และที่ไม่จดทะเบียนอีกเท่าตัว ขณะที่การรักษาแรงงานต่างด้าวที่ป่วยเป็นวัณโรคยังเผชิญกับปัญหาด้านงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม เพี่อเป็นการป้องกันและควบคุมวัณโรค ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้อบรมพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ด้วยการให้ความรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับวัณโรค เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อแรงงานต่างด้าวคนอื่นๆ ที่ยังหลบซ่อนอยู่ ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ขณะนี้มีพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) ประมาณ 60-70 คน แต่ละคนมีค่าตอบแทนให้ทุกเดือน โดยองค์กรชิลด์ ให้การสนับสนุนงบประมาณ ส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) จะไม่มีค่าตอบแทนให้ เพราะจะทำงานด้วยจิตอาสา ช่วยเหลือสังคม
“เชียงใหม่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดใน 8 จังหวัดของภาคเหนือตอนบน และพบผู้ป่วยวัณโรคสูงขึ้นทุกปีเกี่ยวเนื่องกับ โรคเอดส์ วัณโรคในเรือนจำ และแรงงานต่างด้าวที่พบเชื้อมากที่สุด”
สอดรับกับ “ณัฐนันท์ ธนะสาร” หรือ “พี่เอ๋” ผู้จัดการโครงการสาธารณสุขต่างด้าว (โครงการ SHILD) บอกว่า หน้าที่ของเราจะดูแลด้านสุขภาพ และการศึกษาของกลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นหลัก โดยมีพื้นที่การทำงานอยู่ทั้งหมดใน 4 จังหวัดในภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และ ตาก ซึ่งทางโครงการได้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อลงทำงานในพื้นที่ที่มีกลุ่มแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก
“เราคาดหวังให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่ถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมายเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุข และการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ เช่น การเข้าถึงช่องทางการรักษาวัณโรคของแรงงานต่างด้าว ที่ยังคงเป็นปัญหาของชุมชนอยู่มาก เพราะแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เมื่อเจ็บป่วยมักไม่กล้าไปรักษา เพราะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารหรือกลัวถูกจับ เราจึงต้องสร้างความไว้ใจ ด้วยการหากลุ่มอาสาสมัครต่างด้าวมาทำหน้าที่สื่อสาร และดึงเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป” ผจก.โครงการสาธารณสุขต่างด้าว บอก