xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละอุบัติโหดปีใหม่ ปั๊มแหกคอกขายเหล้า เมาแล้วขับเฉียดหมื่นห้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน” ชำแหละ อุบัติโหดปีใหม่ เพราะกฎหมายเข้มไม่พอ ปั๊มแหกคอกขายเหล้า เมาแล้วขับเฉียดหมื่นห้า ยัน ไทยต้องใช้ “ยาแรง” เสนอ 4 มาตรการ จับจริง-แก้ กม.-หนุนอุปกรณ์-เน้นจุดตรวจกลางคืน

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 คือ 367 ราย แม้ลดลงจากปี 2551 ที่มีผู้เสียชีวิต 401 ราย แต่เมื่อเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นกับมาตรการที่ทุกฝ่ายลงแรงไป แม้ยอดรวมการเสียชีวิตลดลง แต่ก็เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ว่ามาตรการที่ดำเนินการอยู่ไม่เพียงพอ และหลายๆ อย่างควรได้รับการยกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวเลข 41% ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการ “เมาแล้วขับ” ในปีนี้ และตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ยืนยันว่าประเทศไทยต้องการ “ยาแรง” ในการแก้ปัญหานี้

“แม้มีข้อมูลความเข้มงวดและเรียกตรวจถึง 4,992,859 คัน มียอดผู้ถูกดำเนินคดีสูงถึง 374,690 คน แต่ในจำนวนนี้เป็นคดีเมาแล้วขับขี่ถึง 14,050 คน และบางจังหวัด เช่น นครราชสีมายังมีการจับกุมเพิ่มมากว่าเท่าตัว โดยตำรวจได้จับกุมผู้กระทำผิดตามมาตรการ 3 ม. 2 ข. 1 ร. ได้ถึง 35,085 ราย ตัวเลขการกระทำผิดของจุดขายสุราในที่ห้ามขายก็สูงมาก การสำรวจของกรมควบคุมโรคใน 28 จังหวัด รวม 1,178 แห่ง พบว่า 12.5% ของปั๊มน้ำมันยังคงขายสุรา โดยจังหวัดในเส้นทางหลักอย่างนครสรรค์มีปั๊มน้ำมันที่มีการจำหน่ายสุรามากถึง 39.1% ขอนแก่น 28.3% และบุรีรัมย์ 27.3%”นพ.ธนะพงศ์ กล่าว


นพ.ธนะพงศ์ กล่าวอีกว่า ยานพาหนะที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดยังเป็นรถมอเตอร์ไซค์ ถึง 84.2% เช่นเดียวกับช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมเสี่ยงที่นำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตยังสัมพันธ์กับเมาแล้วขับ ขับเร็ว และตัดหน้ากระชั้นชิด ที่สำคัญกลุ่มเยาวชน 15-24 ปี ยังเป็นผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 1 ใน 3 มาตรการที่มีอยู่เพียงแค่ชะลอไม่ให้ปัญหาเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่อาจลดหรือหยุดยั้งความสูญเสียของอุบัติเหตุบนท้องถนนในเทศกาลได้

ทางออกต้องทบทวนเครื่องมือหลัก คือ บังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ 1.พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ประกาศช่วงเวลาหรือวันที่ห้ามขายสุราในช่วงเทศกาล 2.ผลักดันให้มีแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก ที่ไม่ให้ผู้ขับขี่ปฏิเสธการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ 3.เร่งสนับสนุนอุปกรณ์การตรวจวัดให้เพียงพอกับตำรวจในทุกพื้นที่ 4.ปรับวิธีการตั้งจุดตรวจให้สามารถหมุนเวียนและกระจายไปตามจุดที่มีนักดื่มใช้เป็นเส้นทางสัญจร โดยเน้นหนักการตรวจในช่วงเวลากลางคืนอย่างจริงจังมากขึ้น

“ที่สำคัญเมื่อมีการจับกุม ต้องกำกับให้ดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายเด็ดขาด ก่อนจะนำมาตรการคุมประพฤติมาใช้ ยิ่งกว่านั้นน่าจะมีการติดตามตัวเลข 14,050 ของคดีเมาแล้วขับว่ามีผลเป็นอย่างไร มีการลงโทษอะไรบ้าง และที่สำคัญมีการบันทึกประวัติของผู้ที่มักจะกระทำผิดซ้ำๆ เพื่อช่วยให้การพิจารณาตัดสินคดีเป็นไปอย่างสอดคล้องและเหมาะสมมากขึ้น” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น