จากสถิติการเพิ่มขึ้นของปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ของคนไทยเฉลี่ยต่อคนต่อปีที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 33 เท่า ในระยะเวลา 43 ปี ทำให้คนไทยมีนักดื่มประจำเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 20 ในระยะเวลาเพียง 11 ปี โดยเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มสตรีและเยาวชน โดยปรากฏว่าในกลุ่มสตรีมีนักดื่มประจำเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 65 และกลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 19 ปี มีนักดื่มประจำเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 ซึ่งก็หมายถึงจำนวนของผู้ป่วยเป็นโรคจากการดื่มสุรา หรือผู้ติดสุราเรื้อรังย่อมมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยมากเช่นกัน ดังนั้นแนวทางที่จะแก้ไขในการบำบัดผู้ป่วยเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญถึงแม้จะเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุแล้วก็ตาม
พ.อ. นพ.พิชัย แสงชาญชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุราและยาเสพติด จาก กองจิตเวชและประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการบำบัดรักษาผู้ติดสุราเรื้อรังว่า ยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์คือ เครือข่ายภาคประชาชนที่เข้มแข็ง และการนำเอาองค์ความรู้สากลที่สำคัญในเรื่องนี้มาใช้เป็นหลักในการบำบัดคือ หลัก 12 ขั้นตอนและธรรมเนียมปฏิบัติ 12 ข้อ (The Twelve Steps and Twelve Traditions) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางหนึ่งในการบำบัดโรคสุราเรื้อรังได้อย่างได้ผลเนื่องจาก ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคสุรานั้นไม่ได้เป็นโรคที่ต้องบำบัดรักษาด้วยการใช้ยาหรือเครื่องมือทางการแพทย์ แต่เป็นการรักษาที่ต้องเริ่มต้นด้วยตัวเอง และรักษาด้วยตัวเอง
•หลัก 12 ขึ้นตอนคืออะไร?
แนวคิดและหลักการดังกล่าวถูกคิดค้นโดยกลุ่มสุราเรื้อรังนิรนามกลุ่มแรกที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1935 โดย Bill Wilson และ Dr. Bob Smith ซึ่งทั้งสองช่วยกันร่างขึ้นมาจากประสบการณ์ของตนในการเลิกสุราด้วยตนเอง เพื่อใช้เป็นหลักในการดำเนิน กลุ่มผู้ติดสุรานิรนาม (Alcoholics Anonymous หรือ AA) โดยปัจจุบันได้รับความแพร่หลายโดยมีกลุ่มสุรานิรนามทั่วโลกกว่า 100,000 กลุ่ม ใน 146 ประเทศ โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกด้วยเช่นกัน
โดย พ.อ. นพ.พิชัย กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการนำหลักดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทยว่า เกิดมาจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น อุปสรรคเรื่องภาษา ความเชื่อและหลักปฏิบัติทางศาสนา การขาดการรวมตัวกันของภาคประชาชน และวัฒนธรรมในการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกัน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับหลัก 12 ขั้นตอน เป็นต้น ดังนั้นจึงมีการนำหลัก 12 ขั้นตอนมาปรับใช้ให้เหมาะกับหลักคำสอนทางพุทธศาสนาเพื่อให้กลุ่มผู้ป่วยได้เข้าใจในหลักการกันมากขึ้น
• หลัก 12 ขั้นตอนแนวพุทธ ตอบโจทย์การบำบัดรักษาแบบไทยๆ
หลังจากพบปัญหาและอุปสรรค์ในด้านการทำความเข้าใจกับหลัก 12 ขั้นตอน พ.อ. นพ.พิชัย จึงได้นำหลักดังกล่าวมาประยุกต์โดยนำคำสอนตามหลักพุทธศาสนา เพราะเชื่อว่าเป็นศาสนาที่เน้นทั้งหลักศรัทธาและปัญญา พลังอำนาจที่อยู่เหนือตนของชาวพุทธก็คือ พระรัตนตรัย และที่สำคัญคือเป้าหมายที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาคือ การพัฒนาให้เกิดปัญญา และเมื่อเกิดปัญญา ผู้ปฎิบัติก็จะเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริงและสามารถปฏิบัติตนได้สอดคล้องกับธรรมชาติ ละวางจากสิ่งไม่ดี โดยหลัก 12 ขั้นตอนแนวพุทธ นั้นมีรายละเอียดดังนี้
1. ข้าพเจ้ายอมรับว่า เนื่องจากข้าพเจ้าติดแอลกอฮอล์และสารเสพติด ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้
2. ข้าพเจ้าศรัทธาและเชื่อมั่นว่า ปัญญา สามารถนำพาชีวิตข้าพเจ้าไปสู่หนทางที่ถูกต้องดีงามได้
3. ข้าพเจ้าขออาศัยมรรคมีองค์แปด ซึ่งเป็นหนทางในการเข้าถึงปัญญาเป็นที่พึ่ง
4. ข้าพเจ้าเพียรพยายามเพื่อเข้าใจมรรคมีองค์แปด ซึ่งมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
5. ข้าพเจ้าขอยอมรับต่อตนเองและบุคคลอื่นอันเป็นที่เคารพรักถึงการกระทำทางกาย วาจาและใจที่ไม่เหมาะสมของข้าพเจ้า
6. ข้าพเจ้าพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติตามแนวทางมรรคมีองค์แปด
7. ข้าพเจ้าปฏิบัติตามแนวทางมรรคมีองค์แปดอย่างสม่ำเสมอทุกๆวัน
8. ข้าพเจ้าทบทวนถึงบุคคลที่ข้าพเจ้าเคยล่วงเกินและบุคคลที่เคยล่วงเกินข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีความจริงใจที่จะขอและให้อโหสิกรรม
9. ด้วยปัญญาเป็นเครื่องชี้นำทาง ข้าพเจ้าขอและให้อโหสิกรรมแก่บุคคลนั้นๆทุกๆที่เมื่อมีโอกาส
10. ข้าพเจ้าปฏิบัติตามแนวทางมรรคมีองค์แปดอย่างต่อเนื่อง หากค้นพบว่าข้าพเจ้ามีการกระทำทางกาย วาจาและใจที่ไม่เหมาะสม ข้าพเจ้าก็พร้อมจะยอมรับและแก้ไขมัน
11. ข้าพเจ้าเพียรเจริญสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เพื่อเข้าถึงซึ่งปัญญา
12. เมื่อเข้าถึงซึ่งปัญญา เกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถเลิกแอลกอฮอล์และสารเสพติดได้ ข้าพเจ้าก็จะแบ่งปันความรู้ความเข้าใจและหนทางในการปฏิบัติแก่ผู้ติดแอลกอฮอล์และสารเสพติดอื่นๆต่อไป
จะเห็นว่าโดยภาพรวมแล้ว หลัก 12 ขั้นตอนแนวพุทธเป็นการพัฒนาตนเองอย่างเป็นลำดับขั้น ประกอบไปด้วย การยอมรับและพร้อมที่จะแก้ไขการกระทำที่ไม่เหมาะสมในช่วงที่ตนเองติดสุรา การน้อมนำมรรคมีองค์แปดมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่อุดมไปด้วยสติและปัญญา ความเพียรพยายามปฏิบัติตามแนวทางมรรคอย่างต่อเนื่องเป็นวิถีชีวิต เมื่อตนเองดีขึ้นจากการปฏิบัติตามหลักการ ก็ให้แบ่งปันประสบการณ์โดยการให้คำแนะนำและช่วยเหลือผู้ติดสุราอื่นๆ ต่อไปเป็นเครือข่ายของผู้กระทำการดี
ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์เองก็จะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้เกิดกลุ่มช่วยเหลือตนเอง ซึ่งเป็นการบำบัดภาคประชาชน โดยการเรียนรู้และทำความเข้าใจกลุ่ม AA และหลัก 12 ขั้นตอน ส่งเสริมให้ผู้ป่วยไปเข้าร่วมกลุ่ม AA ในชุมชนหรือในสถานพยาบาล บุคลากรนำเอาองค์ความรู้ของกลุ่ม AA มาใช้ หรือหลัก 12 ขั้นตอนแนวพุทธมาใช้ในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยฟื้นตัวจากโรคติดสุราอย่างยั่งยืนต่อไป
โดยในปัจจุบันหลังจากการร่วมกันส่งเสริมของหน่วยงานหลักอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอย่างจริงจัง ก็ทำให้เกิดเครือข่ายของกลุ่มผู้ติดสุราเรื้อรังนิรนาม (ภาคภาษาไทย) ในประเทศไทยขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันปรากฏว่ามีเครือข่ายอยู่ประมาณ 6 แห่งทั่วประเทศ โดยกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะร่วมกันเป็นกลุ่มเครือข่ายที่คอยให้คำแนะนำกับสมาชิกอื่นๆ ต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมของ กลุ่มผู้ติดสุราเรื้อรังนิรนาม (AA) ได้ที่ โทร.02-231-8300 หรือเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.aathailand.org
หลักคำสอนของทุกๆ ศาสนาก็ยังคงเป็นหลักสากลที่สามารถปรับใช้กับการบำบัดและชำระล้างสิ่งไม่ดีของมนุษย์ได้เสมอ หากเราได้มีการศึกษาอย่างถ่องแท้และลึกซึ้งแล้วก็จะสามารถนำไปปฏิบัติใช้และเยียวยาได้กับทุกๆ โรค ไม่เพียงเฉพาะการติดสุราเรื้อรังเท่านั้น เพราะสรรพสิ่งต่างๆ ล้วนมีสาเหตุมาจากตัวเราเองแทบทั้งสิ้น หากเราสามารถดับปัญหาด้วยตัวเองโดยใช้หลักคำธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาแล้ว ก็จะก่อให้เกิดปัญญาและแนวทางสว่างได้ไม่ยาก.