xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยวิกฤตไข้หวัดนกในคน ถอดรหัส H5N1 แพร่จากคนสู่คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เราต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องบังเอิญ” นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บอกถึงกรณีค้นพบการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกจากคนสู่คนกรณีแรกของประเทศไทย

แม้ตลอดช่วงการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2546 กระทั่งปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขจะวางระบบเฝ้าระวังโรคอย่างรัดกุมเพียงพอ แต่ด้วยความใหม่ของโรค การวินิจฉัยโรคจึงอาจทำให้บางกรณีจะสามารถเล็ดรอดการเฝ้าระวังได้ แต่ด้วยระบบที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทำให้กรณีการแพร่เชื้อจากคนสู่คน ไม่สามารถรอดพ้นสายตาของ ทีมแพทย์นักระบาดวิทยาที่เชี่ยวชาญโรคได้

“คุณหมอค่ะครอบครัวนี้น่าสงสารเสียชีวิตทั้งแม่และลูก” จุดเริ่มต้นประโยคสั้นๆ ของ พยาบาลขี้สงสารรายหนึ่ง กลายเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยเปิดเผยการซ่อนเร้นของเชื้อ H5N1

หากลองย้อนรอยเข้าไปตรวจสอบการเฝ้าระวังโรค จะพบว่า ระบบเฝ้าระวังไข้หวัดนกได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า หากเจอผู้ป่วยปอดบวมผิดปกติให้คิดสักนิดหนึ่งแล้วลงมือสอบสวนพร้อมรายงานให้ส่วนกลางทราบทันที ทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ป่วยที่กำแพงเพชร และ ผู้ป่วยที่นนทบุรี สามารถต่อเป็นเรื่องเดียวกันได้

“เย็นวันหนึ่งเราได้รับการรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร ว่า มีเด็กผู้ชายเสียชีวิตด้วยอาการปวดบวม” นพ.คำนวณ บอก วันรุ่งขึ้นสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วางแผนส่งทีมแพทย์ลงพื้นที่ตรวจสอบทันที

“ระหว่างกำลังวางแผนกันอยู่ ก็มีรายงานว่า ที่ จ.นนทบุรี มีผู้หญิงที่อายุประมาณ 30 กว่าปี ปอดบวมเสียชีวิต เราจึงรีบส่งทีมไปตรวจสอบกรณีนี้ก่อนทันที่
การตรวจสอบครั้งนั้น ทีมแพทย์ที่ลงพื้นที่จังหวัดนนทบุรีเพื่อสอบสวนโรคไม่ได้นึกว่า กรณีที่กำแพงเพชร และที่ จ.นนทบุรี จะนำมาสู่กรณีใหม่ที่ซับซ้อนกว่าเดิม ผู้ป่วยหญิงที่ จ.นนทบุรี เป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่งที่ เพิ่งคลอดลูกแล้วเสียชีวิตเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีประวัติอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรืองไข้หวัดนกเลย

ดูเหมือนเรื่องทุกอย่างจะดูเป็นปกติ จนกระทั่งเสียงพยาบาล ขี้สงสารรายนั้นซึ่งดูทีมของเราตรวจสอบรายละเอียดอยู่ ดังขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจนั่นเอง

“คุณหมอค่ะ ยังมีคุณแม่อีกคนที่เสียชีวิตก่อนหน้านี้ ครอบครัวเธอน่าสงสารเพราะเธอเพิ่งกลับจากไปเฝ้าลูกที่ป่วยที่กำแพงเพชรและลูกก็เพิ่งเสียชีวิตไป

“ไม่ธรรมดาแล้ว” นพ.คำนวณ อุทาน ด้วยประสบการณ์ในการทำงานด้านระบาดวิทยามานานทำให้รู้ได้ทันทีว่า กรณีแบบนี้ไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอน เพราะโอกาสที่แม่และลูกจะเสียชีวิตด้วยโรคบางอย่าง ในเวลาใกล้เคียงกันนั้นมีไม่มากนัก ดังนั้น เมื่อไหร่ที่เกิดการเสียชีวิตในครอบครัวเดียวกัน ด้วยโรคที่คล้ายคลึงกันในเวลาใกล้เคียงกัน ต้องคิดเอาไว้ก่อนว่า อาจจะเป็นโรคติดต่อ ที่แพร่จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง

หลังจากพบเบาะแสความผิดปกติ นพ.คำนวณ และคณะ เริ่มต้นการสอบสวนโรคใหม่อีกครั้ง โดยพบว่าหญิงรายที่สองที่เสียชีวิต อายุ 26 ปี ซึ่งป่วยหลังจากไปเยี่ยมลูกสาวที่ กำแพงเพชร และลูกได้เสียชีวิตลงในวันรุ่งขึ้น เมื่อดูฟิล์มเอกซเรย์ปอดของหญิงรายที่สองก็พบว่ามีปอดอักเสบอย่างรุนแรงทั้งสองข้างและเสียชีวิตจากระบบหายใจล้มเหลว

เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นเราจึงได้ประสานไปยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อถามถึงประวัติเด็กที่เสียชีวิตที่รายงานเข้ามาก่อนหน้านี้ ว่า เป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง ทางกำแพงเพชรแจ้งยืนยันว่าเด็กที่เสียชีวิตจากปอดอักเสบเป็นเด็กผู้ชายไม่ใช่เด็กผู้หญิง

โดยที่ขณะนั้น ทีมแพทย์ที่นนทบุรี รู้ชื่อนามสกุล ของคุณแม่และลูกสาวที่เสียชีวิต จึงขอให้ทางกำแพงเพชรตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งก็ได้รับการตอบมาทันที่ว่า มีเด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่งตรงตามชื่อนามสกุลที่ให้มาและเสียชีวิตจริง แต่เสียชีวิตด้วยไข้เลือดออกโดยส่งต่อมาจากโรงพยาบาลชุมชนเข้ามาที่จังหวัดได้เพียงไม่ถึงวัน

ตกลงว่า เรากำลังจะต้องสอบสวนเหตุการณ์ใหม่ของแม่และลูกสาวที่ไม่ได้มีการคาดดิคหรือรายงานมาก่อน "เราเริ่มสงสัยว่าถ้าเป็นไข้เลือดออก ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับแม่เขา” นพ.คำนวณ บอก

แต่แพทย์ทางระบาดวิทยา จะไม่ค่อยทิ้งความสงสัยให้จบลงง่ายๆ เท่านั้น ทีมแพทย์ได้สอบสวนโรคต่อไปเพื่อหาสาเหตุการตายที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร เนื่องจากเด็กมีอาการปอดอักเสบร่วมด้วย ซึ่งไข้เลือดออกอาจทำให้มีอาการน้ำท่วมปอดได้แต่จะแตกต่างจากการติดเชื้อที่ทำให้ปอดอักเสบ เมื่อปรึกษากุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญหลายท่านให้ทบทวนดู ก็พบว่า มีปอดอักเสบและน่าจะเสียชีวิตจากปอด อักเสบ ทีมแพทย์จากสำนักระบาดวิทยา จึงเริ่มแน่ใจมากขึ้นว่า อาการแบบนี้น่าจะมีอะไรผิดปกติ

“ตอนนั้นเด็กเสียชีวิตเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเข้าโรงพยาบาลจังหวัด จึงไม่ได้มีโอกาสเก็บตัวอย่างจากปอดมาตรวจ แต่จากอาการปอดบวม เราคิดว่าน่าจะมาจากการติดเชื้อจากสาเหตุอื่น และเมื่อตรวจสอบที่อยู่ร่วมกันสอบถามเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็ได้ข้อมูลว่ามีไก่ตายผิดปกติอย่างมากตลอดเดือนในหมู่บ้านที่เด็กอยู่ บ้านของเด็กเองที่เลี้ยงไก่ไว้ใต้ถุนบ้านหลายตัวก็ทยอยตายหมด เด็กมักจะลงมาเล่นหรือทำงานที่ใต้ถุนบ้านด้วย เด็กคนนี้จึงเข้านิยามว่าสงสัยติดเชื้อเชื้อไข้หวัดนก แต่ก็เป็นเพียงสมมุติฐานเพราะไม่มีตัวอย่างที่จะมาพิสูจน์” นพ.คำนวณ บอกอีกครั้ง

เมื่อสงสัยว่า เด็กหญิงรายนี้น่าจะติดเชื้อไข้หวัดนก เราก็ตั้งสมมติฐานต่อว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่คุณแม่ที่เสียชีวิตตามนั้นจะติดเชื้อไข้หวัดนกด้วย ทีมแพทย์จึงรีบไปยังวัดนนทบุรีเพื่อเก็บตัวอย่าง จากศพคุณแม่ซึ่งกำลังตั้งบำเพ็ญกุศล เนื่องจาก รพ.ไม่ได้เก็บตัวอย่างอะไรเอาไว้เลย

“ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเก็บตัวอย่างจากศพที่ กำลังทำพิธีสวดทางศาสนา เราขออนุญาตเปิดโลงศพเพื่อเก็บตัวอย่าง ซึ่งญาติให้ความร่วมมือดีมาก” นพ.คำนวณ เล่าอีกว่า ตอนนั้นเราเริ่มเชื่อมโยงเรื่องที่เกี่ยวข้องกันได้มากขึ้น และยิ่งเมื่อญาติผู้ตายบอกว่ามีป้าหรือพี่สาวของผู้ตาย ที่จะต้องมาร่วมงานศพ แต่เขาไม่สบาย เป็นไข้ ปวดหัว ลงมาไม่ได้ ทีมสอบสวนส่วนกลางจึงขอโทรศัพท์พูดคุยโดยตรงกับคุณป้าที่กำลังป่วย และแนะนำให้รีบไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลโดยด่วน พร้อมประสานทีมที่จังหวัดกำแพงเพชรให้อำนวยความสะดวก

“ตกลงว่าวันนั้นเรากำลังเชื่อมโยงคนไข้ 3 เหตุการณ์ ซึ่งที่เกิดเหตุอยู่คนละจังหวัดแต่มีความเชื่อมโยงกัน เริ่มจากเด็กหญิงที่เป็นลูกป่วยเป็นปอดอักเสบและเสียชีวิตก่อนที่กำแพงเพชร แม่อยู่ที่เมืองนนท์ไปเยี่ยมดูแลลูกสาวคนนี้และ ต่อมาป่วยเป็นปอดอักเสบและเสียชีวิตตามแต่มาเสียชีวิตที่เมืองนนท์ ส่วนคุณป้าที่ช่วยดูแลหลานที่เสียชีวิตตอนนี้ก็เริ่มป่วยและอยู่ที่กำแพงเพชร”

วันนั้นเราได้เก็บตัวอย่างศพจากที่วัด ทั้งหมอทั้งสัปเหร่อและญาติร่วมมือกันเป็นทีม

“ขณะเดียวกัน เราก็นำทีมแพทย์นั่งรถบึ่งไปที่กำแพงเพชร เพื่อตรวจดูอาการของป้าเด็ก ซึ่งก็ชัดเจนเลยว่ามีปอดอักเสบ และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในวันถัดมาออกมาเป็นเชื้อไข้หวัดนก”

เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าแม่เด็กติดไข้หวัดนกหรือไม่ แต่ตัวอย่างที่เราเก็บจากแม่ที่วัดในครั้งแรกไม่สมบูรณ์ ทีมแพทย์จึงขอผ่าศพ ซึ่งญาติเขายินดีให้ทำ แต่ขอสวดคืนสุดท้ายก่อน

“เรารับศพมาทำการชันสูตร โดยทีมแพทย์จากศิริราช และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอใช้ห้องผ่าศพที่ดัดแปลงชั่วคราว ที่ รพ.พระนั่งเกล้า ทำการชันสูตรตอนสี่ถึงห้าทุ่ม ได้ตัวอย่างมาจำนวนมาก มีการส่งตรวจพร้อมกันสามแห่งคือที่ศิริราช ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และที่ศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติที่สหรัฐอเมริกา ภายใน 48 ชั่วโมงต่อมา ผลเบื้องต้นออกมาตรงกันคือพบเชื้อไข้หวัดนก คณะสอบสวนจึงสามารถยืนยันได้ว่าแม่เด็กเสียชีวิตด้วยไข้หวัดนกแน่นอน และเมื่อนำเชื้อของแม่และป้าของเด็กมาถอดรหัสเทียบเคียงก็ปรากฏว่าเป็นเชื้อที่เหมือนกันจนเรียกได้ว่ามาจากแหล่งเดียวกัน นอกจากนี้ ยังไปใกล้เคียงกับสายพันธุไข้หวัดนกในไก่ที่ตรวจพบในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง จึงสันนิษฐานว่าทั้งสองคนติดเชื้อไข้หวัดนกจากแหล่งเดียวกัน”

คำถามคือ ครอบครัวนี้ติดมาได้อย่างไร.... นพ.คำนวณ ตั้งคำถามพร้อมกับบอกว่า แม่ของเด็กไม่เคยสัมผัสไก่เลย บ้านอยู่เมืองนนท์ ทำงานโรงงาน มีเพียงกรณีเดียวเท่านั้นคือไปเยี่ยมลูกตอนป่วย โดยเฝ้าไข้ลูกตลอด 18 ชั่วโมง อุ้มลูก ป้อนน้ำ เช็ดน้ำมูก นำลาย และโอบกอดลูก พร้อมร้องไห้ ด้วยความรักความห่วงใย ตลอดเวลา

“ขณะที่ลูกสาวมีอาการป่ายหนักมาก หายใจหอบ ไอ มีเสมหะ ดังนั้น จากประวัติที่แม่เด็กไม่เคยสัมผัสสัตว์ปีกเลย สัมผัสเฉพาะลูกเขาเท่านั้นเอง ผู้เชี่ยวชาญจึงวินิจฉัยว่า กรณีนี้ แม่เขาที่เป็นปวดอักเสบจากเชื้อไข้หวัดนกน่าจะติดจากลูก ส่วนคุณป้านั้นก็ช่วยดูแลหลานสาวเป็นเวลาเกือบ 10 ชั่วโมงเช่นกัน ก็อาจจะติดจากหลานที่ปวยหนักด้วย” นพ.คำนวณ สรุปในที่สุด

แม้ประเทศไทยจะพบ กรณีเชื้อไข้หวัดนกที่แพร่จากคนสู่คนได้ แต่การติดต่อแบบนี้เป็นไปได้ยากมาก โดย นพ.คำนวณ บอกว่า กรณีที่คนหนึ่งจะติดเชื้อไข้หวัดนกจากอีกคนหนึ่ง นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขที่สำคัญสามประการเงื่อนไขแรกผู้ป่วยที่แพร่เชื้อต้องอยู่ในระยะที่มีอาการหนักมาก เพราะตอนนั้นจะมีเชื้อมากและแพร่ได้ดี เงื่อนไขที่สองผู้รับเชื้อต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากและเกี่ยวข้องในระยะเวลายาวนานไม่ใช่เพียงสองสามนาทีเท่านั้น แต่ต้องหลายๆ ชั่วโมงเช่นกรณีนี้เป็นสิบชั่วโมง เงื่อนไขที่สามต้องมีเรื่องกรรมพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้อง คือเป็นเครือญาติสายตรง เช่น แม่ติดไปยังลูก หรือ พ่อติดจากลูก เครือญาติทางอ้อมเช่น สามี ภรรยา ยังไม่เคยปรากฏ

“ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้น ยังมีกรณีที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีการติดเชื้อจากคนสู่คนในเครือญาติสายตรงในอีกหลายประเทศ เช่น ในอินโดนีเซีย จีน และเวียดนาม เป็นต้น ณ. ปัจจุบันซึ่งเชื้อยังมีการกลายพันธุ์ไม่มาก จึงไม่น่ากังวลเกินไปนักเพราะความรู้ค่อนชัดเจนว่ามีเงื่อนไขที่ทำให้ไม่ติดกันง่ายๆ”

แม้ว่าการแพร่ระหว่างคนสู่คนจะยังเป็นเรื่องที่ยากแต่การกลายพันธุ์ในอนาคตเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต้องร่วมมือกันจับตามองในขณะนี้การตรวจสอบพันธุกรรมของ เชื้อ H5N1ยังไม่พบการกลายพันธุ์จนสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายแต่ในอนาคตอาจมีโอกาสเกิด ดังนั้น นพ.คำนวณ เห็นว่า ระบบเฝ้าระวังโรค แม้จะวางระบบเอาไว้ดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังอาจจะมีจุดอ่อนที่จะต้องปรับปรุงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ให้เกิดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย มีการสนับสนุนด้านกำลังคนและงบประมาณให้เพียงพอเพื่อว่าการเฝ้าระวังโรคที่เชื่อมโยงกันเป็นตาข่ายทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกจังหวัด จะสามารถตรวจจับและสกัดการระบาดของโรคร้ายแรงทั้งโรคเก่าหรือโรคอุบัติใหม่ได้ตั้งแต่ต้นมือ

อนึ่ง มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะจัดเวทีวิชาการเรื่อง “ระบบการเฝ้าระวังโรคติดต่อเชื้ออุบัติใหม่ของประเทศไทย” วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม 2552 เวลา 09.00-16.00 น.ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ของประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น