xs
xsm
sm
md
lg

ทดลองวัคซีนหวัด 2009 เอื่อยปัญหารุม ชี้ สั่งซื้อ 2 ล้านโดส พอใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วิชัย โชควิวัฒน
“หมอวิชัย” เผย วัคซีนหวัด 2009 ที่สั่งซื้อถึงไทยสัปดาห์ที่ 3 เดือน ธ.ค.ล้านโดส และสัปดาห์ที่ 2 เดือน ม.ค.ปีหน้า อีก ล้านโดส ซึ่งน่าจะพอใช้ในประเทศ เล็งซื้อวัคซีนหวัด ผสมกับเชื้อตามฤดูกาลภายในเข็มเดียว เม.ย.ปีหน้า ระบุราคาไม่ถึง 250 บาทต่อเข็ม ขณะที่การทดลองวัคซีนเจอปัญหาเรื่องความเสถียร การปนเปื้อน ย้ำไม่ระบุทดลองในคนได้เมื่อไหร่ หวั่นปัญหาเกิดแบบไม่คาดฝัน ด้านตัวเลขผู้เสียชีวิตหวัดในรอบสัปดาห์ตายเพิ่มอีก 3 พร้อมปรับยอดตายเดือน ก.ย.อีก 3 รวม ตายหวัดแล้ว 176 ราย

วันที่ 21 ต.ค. นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ทราบมาว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเชื้อตาย ที่สั่งซื้อจากบริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ จะมาถึงไทยล็อตแรกในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค.ทางบริษัทมีกำหนดส่งวัคซีนมาให้จำนวน 1 ล้านโดส และในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ม.ค.จะส่งมาอีก 1 ล้านโดส ทั้งนี้ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ว่า วัคซีนหวัด 2009 ล็อตถัดไปในช่วงเดือน เม.ย.ที่จะเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างเดียวหรือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รวมกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลภายในเข็มเดียวกัน หรือไม่

“องค์การเภสัชกรรมมีบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ซาโนฟี่ ที่มีโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจำหน่ายในไทยอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากพิจารณาเลือกวัคซีนสูตรผสมหลายสายพันธุ์ทั้งสายพันธุ์ใหม่ 2009 และสายพันธุ์ตามฤดูกาลก็เชื่อว่าโรงงานดังกล่าวสามารถรองรับการผลิตในไทยได้” นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คาดว่า ราคาของวัคซีนสูตรผสมดังกล่าวจะต้องมีราคาถูกกว่าราคาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ชนิดเชื้อตายอย่างเดียว ที่จำหน่ายในช่วงแรกๆ ประมาณ 5 ยูโร หรือประมาณ 250 บาทต่อเข็ม ทั้งนี้ จะมีการติดตามสถานการณ์ความรุนแรงของเชื้อ และการกลายพันธุ์ของเชื้อดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะจะนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาสต็อกวัคซีนต่างๆ หากเชื้อมีการกลายพันธุ์ หรือมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อเดิมที่สต๊อกไว้ก็ไม่มีความหมายและถือว่าไม่คุ้มค่าด้วย

“จำนวนวัคซีนเชื้อตายที่ไทยสั่งซื้อจำนวน 2 ล้านโดส ก็ถือว่าเพียงพอเพราะแม้แต่จีนมีโรงงาน 10 แห่ง ที่สามารถผลิตวัคซีนได้ 65 ล้านโดส แต่มีประชากร 1.4 พันล้านคน หรือสำรองวัคซีนไว้ 6% หรือญี่ปุ่น มีโรงงาน 4 แห่ง สามารถผลิตได้ 30 ล้านโดส แต่มีประชากร 130 ล้านคน ซึ่งไทยมีประชากร 64 ล้านคน มีสำรอง 2 ล้านโดสก็ถือว่าพอเหมาะแล้ว”นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนความคืบหน้าในการทดลองวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์ลง ขณะนี้ในส่วนของ อภ.ได้ดำเนินการผลิตวัคซีนเป็นการคู่ขนานกับการทดลองซึ่งผลิตเป็นล็อตที่ 9 แล้ว นอกจากนี้ ได้ดำเนินการวิจัยวัคซีนไปพร้อมๆ กันด้วย โดยปัญหาที่พบคือความเสถียรของตัวเชื้อว่าจะทำอย่างไรให้วัคซีนมีคุณภาพอยู่ได้นาน ซึ่งได้ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตรวจการปนเปื้อนเชื้อโรคอื่นๆ ในวัคซีน ซึ่งผลจากตรวจสอบไม่พบการปนเปื้อน

นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า หลังจากขั้นตอนการตรวจความเสถียรของเชื้อและการตรวจการปนเปื้อนเชื้อของวัคซีน ในสัตว์ทดลองในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูการกระตุ้นภูมิต้านทาน ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ถึงจะนำไปทดลองในมนุษย์ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากกำหนดระยะเวลาในการนำวัคซีนมาทดลองในมนุษย์ว่าจะเป็นเมื่อใด เพราะต้องมีการทดลองเรื่องความคงตัว ความปลอดภัยต่างๆ ให้ดีที่สุดก่อนนำมาทดลองในมนุษย์ อีกทั้งในช่วงระยะเวลาที่ทดลองอาจเกิดปัญหาใดๆ ที่ไม่คาดคิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงไม่อยากกำหนดระยะเวลาเพื่อเป็นการเร่งรัดการดำเนินการวิจัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ผ่านเว็บไซต์ กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th ว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 11-17 ต.ค.มีผู้เสียชีวิตด้วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพิ่มอีก 3 ราย นอกจากนี้ มีการปรับเพิ่มยอดผู้เสียชีวิตในเดือน ก.ย.อีก 3 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 176 ราย

ขณะที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ว่า จากการติดตามทางระบาดวิทยา พบว่า โรคยังมีการกระจายตัวทุกภาค ไม่มีการระบาดของโรคเป็นกลุ่มก้อน โดยมี 7 จังหวัดที่มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่หนาแน่น ได้แก่ พะเยา แพร่ ร้อยเอ็ด ภูเก็ต สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และลพบุรี โดยในสัปดาห์หน้านี้ จะเรียกประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มิสเตอร์ไข้หวัดนก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเคยพบผู้ป่วยไข้หวัดนก เพื่อเน้นย้ำมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และไข้หวัดนก ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ให้สอดคล้องกับกรมปศุสัตว์ และเฝ้าระวังไม่ให้เชื้อทั้ง 2 ชนิดผสมข้ามสายพันธุ์

ด้านนพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 14-16 ตุลาคม 2552 องค์การอนามัยโลกได้จัดประชุมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ประมาณ 100 คน จากทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และโอเชียเนีย ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางคลินิก และการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยที่ประชุมยืนยันว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ส่วนใหญ่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน และหายจากอาการป่วยได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ถึงแม้จะไม่ได้รับการรักษา

นพ.ภาสกร กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ผู้เข้าประชุมได้แสดงความกังวล คือ เรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง และมีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีจำนวนไม่มาก โดยทั่วไปอาการจะเริ่มแย่ลง หลังจากเริ่มป่วย 3-5 วัน อาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยหลายรายจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลวภายใน 24 ชั่วโมง ต้องเข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยหนัก และต้องให้เครื่องช่วยหายใจทันที อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายไม่ตอบสนองต่อเครื่องช่วยหายใจ ทำให้การรักษาทำได้ยากโดยผู้ป่วยที่ปอดอักเสบรุนแรงนั้น พบเกิดจากเชื้อไวรัสได้บ่อยที่สุด และมักเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ซึ่งมีการนำเสนอในที่ประชุม ว่า ลักษณะอาการของการเกิดโรคที่รุนแรง กับข้อมูลสนับสนุนจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง ยืนยันว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบรุนแรงโดยตรง ส่วนการติดเชื้อแทรกซ้อนที่เกิดจากแบคทีเรีย ได้แก่ สเตร็ปโตคอคคัส นิวโมเนอี (Streptococcus pneumoniae) และ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) พบว่า เป็นสาเหตุการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาการช็อก ดังนั้น จึงขอแนะนำประชาชนที่ป่วย มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ ไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือไอ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ต้องรีบพบแพทย์ทันที

“นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการเสนอหลักฐานทางวิชาการ เรื่องผลการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ หรือ ซานามิเวียร์ อย่างทันท่วงที จะช่วยลดอาการป่วยรุนแรงและเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต ซึ่งสนับสนุนคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ให้การรักษาในระยะต้นด้วยยาเหล่านี้ในผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ โดยไม่ต้องรอผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ และที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่า กลุ่มเสี่ยง 3 กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดต่อการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้าย เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้ป่วยที่มีโรคปอดเรื้อรัง รวมถึงโรคหอบหืด ส่วนความผิดปกติทางระบบประสาท สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคในเด็กได้” นพ.ภาสกร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น