xs
xsm
sm
md
lg

เหล้าปั่น อสูรร้ายในคราบน้ำหวานหลากสี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหล้าปั่น ยาพิษหลากหลายสีสัน
“เหล้าปั่น” หลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของหัวเชื้อแอลกอฮอล์ แต่ความจริงแล้ว เหล้าปั่นคือ “ภัยเงียบ” ที่กำลังคุกคามและทำร้ายเยาวชนของชาติ และพร้อมที่จะสร้างนักดื่มหน้าใหม่ทุกเมื่อ ด้วยช่องทางทางการค้าที่อาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย และความเห็นแก่ได้ของผู้ประกอบการ จนลืมคิดถึงเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้า และทุกวันนี้ “เหล้าปั่น” ก็กลายเป็นกระแสที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นอย่างกว้างขวางไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาในปี 2550 ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างเยาวชนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับปวช. จำนวน 53,010 คน ใน 24 จังหวัด พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า กลุ่มตัวอย่างนักเรียนชายในระดับ ม.2 เคยมีประวัติเคยดื่มแอลกอฮอล์แล้วถึงร้อยละ 33.7 และหญิงร้อยละ 22.1 โดยเฉลี่ยอายุเมื่อเริ่มดื่มครั้งแรกเท่ากับ 11.9 ปี และ 12 ปี ตามลำดับ ซึ่งแน่นอนว่าจากสาเหตุเหล่านี้ย่อมนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเด็กวัยเรียนที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ในการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 4 ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “ยุติวิกฤตปัญหาสุรา...ด้วยกฎหมาย” โดยความร่วมมือของ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และเครือข่ายกว่า 20 องค์กร จึงได้มีการร่วมมือของทุกภาคส่วนในการรวบรวมผลวิจัยในการต่อต้านและรับมือกับอสูรร้ายให้หายไปจากสังคม โดยกลุ่มนักศึกษาปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันทำการวิจัยในหัวข้อ รูปแบบการสื่อสาร และปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มเหล้าปั่นของวัยรุ่น ด้วยการศึกษาและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
เหล้าปั่น ภัยร้ายที่กำลังคุกคามเยาวชน
ผู้นำกลุ่มอย่าง มิ้ว หรือ นางสาวทัศนาวดี แก้วสนิท นักศึกษาปริญญาโทปีที่ 2 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิจัยเรื่องราวของเหล้าปั่นในเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นที่ดื่มจริง จำนวน 9 คน จากการที่ได้ลงไปศึกษาเรื่องราวของเหล้าปั่นอย่างลึกซึ้งก็พบข้อมูลที่น่ากลัวว่ากลุ่มนักดื่มเหล้าปั่นส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 13-19 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมต้น จนถึงระดับอุดมศึกษา

ส่วนสาเหตุในการดื่มก็มีจะหลากหลายไม่ว่าจะเป็น ดื่มง่าย เพื่อนชักชวน รวมไปถึงกลยุทธ์ในการขาย ทั้งในเรื่องของรูปแบบภาชนะที่ใช้ในการใส่ที่โปร่งใสเพื่อให้เห็นถึงสีสันของเหล้าปั่นได้อย่างชัดเจน เรื่องของราคาที่ถูกทำให้เยาวชนสามารถซื้อหาได้ง่าย รวมไปถึงบรรยากาศในการตกแต่งร้านเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ที่มีหลากหลายแนวเพื่อเรียกให้กลุ่มวัยรุ่นสนใจ
อสูรร้ายในคราบน้ำหวานหลากสี
ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ ร้านเหล้าปั่นส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่ในละแวกเดียวกับสถานศึกษาแทบทั้งสิ้น ซึ่งจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้แน่นอนว่าทำให้เอื้อประโยชน์ต่อการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ทั้งในกลุ่มเด็กเยาวชนและสตรีได้ไม่ยาก อีกทั้งการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายแบบ ลด แลก แจก แถม ก็เป็นปัจจัยหนุนที่ช่วยเพิ่มปริมาณการดื่มได้เป็นอย่างดี

โดย นางสาวทัศนาวดี ได้แสดงความเห็นถึงแนวทางการแก้ปัญหานี้ ว่า“ทุกวันนี้วัยรุ่นหันมาดื่มเหล้าปั่นกันมาก ยิ่งดื่มตั้งแต่เด็กก็จะทำให้เลิกได้ช้ากว่า เพราะระยะเวลาในการดื่มก็จะยาวนานตามไปด้วย เพราะฉะนั้นทางแก้ก่อนอื่นก็จะต้องแก้ที่ตัวของผู้ดื่มเอง เพราะการเริ่มดื่มเหล้าปั่น ก็เหมือนเป็นการจุดชนวนนำไปสู่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่รุนแรงขึ้นและเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ”
มิ้ว หรือ นางสาวทัศนาวดี แก้วสนิท นักศึกษาปริญญาโทปีที่ 2 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นอกจากจะแก้ไขที่ตัวผู้ดื่มแล้ว สถานศึกษาเองก็ควรจะต้องสอดส่องดูแลนักเรียนนักศึกษาอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด รวมถึงการให้คำแนะนำถึงอันตรายจากสีสันจากเหล้าปั่นเหล่านี้ไม่ให้เยาวชนของชาติตกเป็นทาสของน้ำเมา เพราะร้านเหล้าปั่นส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้กับสถานศึกษา และมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ

“กฎหมายในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมไปถึงเหล้าปั่น จึงยังไม่สามารถทำอะไรกับร้านเหล่านี้ได้ นักศึกษาบางคนซื้อใส่ถุงดูดเข้าสถานศึกษาเลยก็มี เพราะถ้ามองภายนอกก็จะไม่รู้ว่าเป็นเหล้าปั่น ลักษณะจะเหมือนเป็นแค่น้ำผลไม้ปั่นธรรมดา ซึ่งอันตรายมากค่ะ” นางสาวทัศนาวดี กล่าว
กลุ่มวิจัย ในหัวข้อรูปแบบการสื่อสาร และปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มเหล้าปั่นของวัยรุ่น
ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ และก่อนที่กระแสของเหล้าปั่นจะมอมเมาเยาวชนไทย และบ่อนทำลายสังคมไปมากกว่านี้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกหน่วยงานจะต้องหันมาเอาจริงเอาจัง ให้ความสำคัญและร่วมมือกันแก้ปัญหา และตัดช่องทางอบายมุขที่คอยบ่อนทำลายเยาวชนของชาติไม่ให้กลายเป็นทาสน้ำเมากันอีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น