xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอย...นักคิดตัวน้อย Asimo Super Idea Contest ตะลุย JAPAN

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กๆ ถ่ายรูปร่วมกับอาซิโม
หลังจากผ่านการคัดเลือกด้วยการฝ่าด่านผู้เข้าร่วมแข่งขัน 54,460 คน ในที่สุดโครงการ “ฮอนด้า อาซิโม ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์ ปีที่ 4” ที่จัดขึ้นภายใต้โจทย์ “พลังฝันสู่สิ่งประดิษฐ์ในอนาคต” ก็ตัดสินให้เด็กๆ ผู้มีไอเดียแจ่มแจ๋วได้รับรางวัลจำนวน 6 คนด้วยกัน

สำหรับในระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-ป.3) ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ ด.ช.รัชตะ ชาตบุตร หรือ “น้องภีม” จาก ร.ร.ดรุณสิกขาลัย ด้วยผลงานเรือดำน้ำขนส่งมวลชน รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ด.ญ.ศิศิรา อินชัย หรือ “น้องเอินเอิน” จาก ร.ร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ด้วยผลงานเตียงสมองกล (เตียงตรวจคนไข้เด็ก) และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ด.ช.พนธกร อ่อนเอื้อน หรือ “น้องโอม” จากร.ร.ประสานมิตร ด้วยผลงาน Simoจราจร
ส่วนระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-ป.6) ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ ด.ช.จิรัฏฐ์ บุญจูง หรือ “น้องเจมส์” จาก ร.ร.ประสานมิตร กับผลงานบ้าน UFO ป้องกันภัยธรรมชาติ รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ด.ญ.ภัทราพร ทองเปล่งศรี หรือ “น้องเจนนี่” จาก ร.ร.ครุณสิกขาลัย กับลผลงานกระเป๋ากบกระโดดได้ และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ด.ช.ปริตต์ วงศ์ตระกูลหรือ “น้องบู๊บู” จาก ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กับผลงานแมลงตรวจแอลกอฮอล์

และหนึ่งในรางวัลที่บรรดานักคิดตัวน้อยเหล่านี้ได้รับ ก็คือ การเดินทางไปทัศนศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น บ้านเกิดของ ASIMO ดินแดนแห่งเทคโนโลยี

**เผยโฉมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ในญี่ปุ่น
ตลอด 6 วันแห่งการเดินทางในประเทศญี่ปุ่น เด็กไทยมีโอกาสได้เยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย เช่น พระราชวังอิมพีเรียล ที่ประทับของพระจักรพรรดิและพระราชวงศ์ของญี่ปุ่น วัดอาซากุสะ ซึ่งเป็นวัดที่เหล่าโชกุนและซามูไรให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก น้ำตกเคงอนที่เมืองนิกโกะ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ศาลเจ้าโทโชกุที่สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1636 โดยโชกุนโตกุกาว่า อิเอะมัตสึ ที่มีความสวยงามจนได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกในปี ค.ศ.1999

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้สัมผัสกับเมืองหลวงของฮอนด้าที่เมืองโมเตกิ ซึ่งมีความน่าสนใจหลายจุดด้วยกัน เช่น สนามแข่งทวินริง โมเตกิ ฮอนด้า คอลเลกชั่นฮอลที่เก็บสะสมรถยนต์ รถจักรยานยนต์และเครื่องยนต์ที่ฮอนด้าประดิษฐ์ขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นต้น
ขณะเดียวกันก็ได้ไปสัมผัสกับสัญลักษณ์ของโตเกียว ที่โตเกียวทาวเวอร์ โตเกียวดิสนีย์ซีย์ที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คน ได้สัมผัสกับระบบขนสาธารณะทั้งรถไฟฟฟ้าใต้ดินและบนดินอันเลื่องชื่อของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

หลังเดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในดินแดงแห่งเทคโนโลยีครบตามกำหนดเวลาที่วางไว้ เด็กๆ ทั้ง 6 คนก็ได้ทำ “เซอร์ไพรส์” ขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่ขึ้นมากันคนละ 1 ชิ้น ซึ่งก็ต้องบอกว่า เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจเลยทีเดียว

เริ่มต้นจาก “น้องเจนนี่” ที่เกิดปิ๊งไอเดียกับสิ่งประดิษฐ์ที่มีชื่อว่า “หมึกน้อยแปลงภาษา”

น้องเจนนี่ เล่าว่า จากการปัญหาเรื่องการติดต่อสื่อสารกับคนญี่ปุ่นที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก ทำให้ต้องพึ่งพามัคคุเทศก์ในการสอบถามข้อมูลต่างๆ รวมทั้งเกิดความยุ่งยากเมื่อต้องการซื้อสินค้า ทำให้เกิดแนวคิดที่จะประดิษฐ์หมึกน้อยแปลงภาษาขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของมัคคุเทศก์และอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว
“เครื่องนี้มีลักษณะเป็นหมวก เวลาใช้ก็จะสวมใส่เหมือนกับหมวกธรรมดาทั่วไป เวลาที่เราจะพูดคุยกับคนญี่ปุ่น เครื่องก็จะช่วยแปลงภาษาญี่ปุ่นให้เป็นภาษาไทยโดยอัตโนมัติ หรือถ้าอยากอ่านภาษาญี่ปุ่น ก็จะมีแว่นตาที่ช่วยแปลเป็นภาษาที่เราสามารถเข้าใจได้ค่ะ นอกจากนี้ หนวดของปลาหมึกยังสามารถใช้เป็นผ้าพันคอช่วยให้ความอบอุ่นแก่เราได้ด้วยค่ะ”

ถัดมาเป็นแนวคิดของสาวน้อยคนที่ 2 “เอินเอิน” ที่สนใจสร้างหุ่นยนต์สารพัดประโยชน์ที่มีชื่อว่า “Asimo Dog” ซึ่งน้องเอินเอินให้เหตุผลว่า ต้องการทำขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อช่วยปรับอุณหภูมิที่หนาวเย็นเป็นอุณหภูมิที่อุ่นสบายสำคัญเจ้าของ หรือสรุปง่ายๆ คือเป็นหุ่นแก้หนาวนั่นเอง

ทั้งนี้ หุ่น Asimo Dog จะใช้ระบบโซล่าร์เซลล์ในเป็นพลังงานสำคัญในการขับเคลื่อน โดยจะเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ในตอนกลางวันและสามารถใช้ต่อเนื่องได้ในตอนกลางคืน

ทีนี้ ก็มาถึงแนวคิดของอีก 4 หนุ่มน้อยกันบ้างว่าพวกเขาจะมีไอเดียเด็ดกันอย่างไรบ้าง

หนุ่มน้อยคนแรก คือ “เจมส์” ซึ่งมีแนวคิดที่ใกล้เคียงกับเอินเอิน นั่นก็คือคิดที่จะสร้าง “หนูปรับอุณหภูมิ” ขึ้นมา
“ที่ญี่ปุ่นอากาศหนาวมาก ผมเองก็หนาวมากๆ ทำให้ต้องใส่เสื้อกันหนาวหลายๆ ชั้น ซึ่งก็ทำให้ไม่สะดวกในการหยิบจับหรือทำอะไรต่างๆ ก็เลยอยากสร้างหนูปรับอุณหภูมิขึ้นมา โดยหุ่นตัวนี้ผู้ใช้จะสามารถเลือกปรับอุณหภูมิที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ขณะเดียวกันก็จะมีความสามารถพิเศษในการจดจำเจ้าของได้จากทั้งดวงตาและจมูก ซึ่งสมมติว่าเราเกิดทำมันหายไป มันก็จะติดตามกลับมาหาเราได้ด้วย”

ส่วน “บู๊บู” นั้น เมื่อมีโอกาสได้เห็นรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดินของญี่ปุ่น ก็เกิดแนวคิดที่จะสร้างสถานีรถไฟใต้ดินขึ้นในประเทศไทยบ้าง เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในประเทศไทย โดยจะทำเป็นสถานีรถไฟฟ้าอัจฉริยะอีกด้วย

สำหรับ “โอม” นั้น ผลพวงจากการที่ทางฮอนด้าพาไปเที่ยวโบราณสถานที่สำคัญของญี่ปุ่นหลายแห่ง เช่น วัดอาซากุสะ หรือศาลเจ้าโทโชกุ ทำให้น้องโอมอยากสร้าง “หุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อช่วยเฝ้าโบราณสถาน” เหล่านิ้
“ผมอยากช่วยตำรวจทำงานครับ คือหุ่นยนต์พวกนี้จะทำหน้าที่คอยตรวจตราผู้ที่คิดจะมาลักขโมยทรัพย์สินต่างๆ โดยถ้าหากตรวจพบว่า มีการลักขโมยขึ้นก็จะใช้ปืนชอร์ตเพื่อให้สลบและควบคุมตัวเอาไว้”

และปิดท้ายกันที่ “น้องภีม” กับไอเดียเด็ดกับเจ้าหุ่นยนต์ “แฮมโรบอท” ที่ต้องการสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นช่วยในการถ่ายรูป

“คือ ผมประสบปัญหาในการถ่ายรูปมาก ก็เลยอยากจะสร้างหุ่นยนต์เพื่อทำหน้าที่ถ่ายรูปให้ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการถ่ายเอง ขณะเดียวกันหุ่นตัวนี้ยังสามารถช่วยถือของ เป็นตู้เซฟเก็บเงินให้เด็กๆ และสามารถนอนเป็นเพื่อนเราได้อีกด้วย” น้องภีม ขยายความ

**อนาคตของฮอนด้ากับการทำCSR
ทีนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญที่ทางผู้ใหญ่ฮอนด้าจะต้องตอบกันบ้าง นั่นก็คือ ฮอนด้าจะสนับสนุนกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชนต่อไปมากน้อยขนาดไหน เนื่องจากขณะนี้เป็นที่รับรู้กันว่า ผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้าใส่ทั่วโลกนั้น ธุรกิจยานยนต์คือหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไม่น้อย

“มร.โทชิยะ โคบายาชิ” ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บ.ฮอนด้า มอเตอร์ประเทศญี่ปุ่น บอกว่า แม้ขณะนี้ทั่วโลกกำลังประสบกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ทางฮอนด้าเองก็ยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับสังคมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือกิจกรรมเพื่อเด็กๆ ซึ่งจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต แต่บางโครงการอาจจะต้องมีการควบคุมค่าใช้จ่ายลงบ้าง หรืออาจปรับเพื่อให้เกิดความเหมาะสมบ้าง เช่น ในปีหน้าฮอนด้าจะยกเลิกการแข่งขันรถยนต์สูตร 1 ซึ่งใช้เงินเยอะและปรับไปใช้ทำอย่างอื่น เป็นต้น

ส่วนความเห็นเกี่ยวกับผลงานและสิ่งประดิษฐ์ของเด็กไทยนั้น มร.โคบายาชิกล่าวว่า เด็กไทยเป็นเด็กที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ดีมากๆ โดยจุดที่โดดเด่นที่สุด ก็คือ การที่สามารถสื่อความคิดของตนเองออกมาให้คนอื่นรับรู้ได้ดีมาก และคิดว่าน่าจะดีกว่าเด็กญี่ปุ่นเสียด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ การที่เด็กๆ สามารถอธิบายความคิดของตนเองออกมาและสื่อสารให้คนอื่นได้รู้เรื่องด้วยนั้น แสดงให้เห็นถึงความมีสภาวะผู้นำที่มีอยู่ในตัวเอง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่สามารถคาดการณ์ได้ว่า เด็กๆ เหล่านี้คือความหวังของชาติ และในอนาคตประเทศไทยจะพัฒนาและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแน่นอน

ด้าน “อดิศักดิ์ โรหิตตะศุน” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด หรือ “ลุงจ้อย” ของเด็กๆ เสริมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาฮอนด้าไทยได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากมาย เช่น โครงการโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมดีเด่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและโรงเรียน รวมถึงท้องถิ่นร่วมกันในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนของตัวเอง โครงการฮอนด้า อาซิโม ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์ ที่ต้องการทำให้เด็กไทยหันมาสนใจเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น โครงการ สพฐ.-ฮอนด้าวิ่ง 3 ขาสามัคคี เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ฮอนด้าจัดงบสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมในทุกประเทศด้วยนโยบายที่เหมือนกันคือ 1%ของกำไรก่อนหักภาษี ซึ่งสำหรับในประเทศไทย เอเชียนฮอนด้าใช้งบอยู่ที่ราว 100 ล้านบาทต่อปีโดยประมาณ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจแต่ทางฮอนด้าก็จะยังคงทำกิจกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและจะพยายามไม่ลดตัวเลขงบประมาณลง

“กล่าวสำหรับโครงการซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์นั้น ต้องถือว่าประสบความสำเร็จมากขึ้นเป็นลำดับ โดยในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 4 มีเด็กนักเรียนจากทั่วประเทศสมัครเข้ามาร่วมแข่งขันถึงกว่า 5 หมื่นคนเศษจากปีแรกที่มีผู้สมัครราว 1 หมื่นคนเศษๆ ขณะนี้จำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมก็มากขึ้น เนื่องจากเราได้จัดอบรมครูทั้งในกทม.และต่างจังหวัดประมาณ 100 คน ให้ได้รับรู้ถึงกิจกรรมว่าเป็นเช่นไร หรือพูดง่ายๆ ว่า ทั้งเด็ก ทั้งโรงเรียนและผู้ปกครองมีความตื่นตัวกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเราคงขยายฐานออกไปในต่างจังหวัดมากขึ้น”

สุดท้าย “อดิศักดิ์” ฝากแง่คิดในนามส่วนตัวว่า ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือ อยากกินดีอยู่ดี แต่ขาดความพยายามในการทำมาหากินและหวังพึ่งโชคชะตาเป็นหลัก ขณะที่คนที่เข้ามาบริหารประเทศเองก็ขาดภาวะผู้นำ ขาดความรับผิดชอบ ขาดความมีจริยธรรม นอกจากนี้ คนไทยจะต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ต้องช่วยกันทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะถ้าหากยังคงฝากความหวังเอาไว้กับคนไม่กี่คน จะทำให้ประเทศเจริญและพัฒนาขึ้นลำบาก ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ต้องเร่งฟื้นฟูด้วยการปฏิรูปการศึกษา

“สังคมดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องสร้างเอง”นั่นคือบทสรุปที่ “ลุงจ้อย” ของเด็กๆ ฝากเอาไว้
รถจักรยานยนต์ของฮอนด้าที่จัดแสดงในฮอนด้า คอลเลกชั่น ฮอลล์
พัฒนาการของฮาซิโมรุ่นต่างๆ ก่อนที่จะมีหน้าตาเช่นในปัจจุบัน
ลีลาของเด็กๆ ที่ป่าเฮลโล วูดส์ที่อยู่ในบริเวณสนามทวินริง โมเตกิ
อดิศักดิ์ โรหิตะศุนกำลังคุยกับเด็กๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น