สพฐ.เตรียมงบ 300 ล้าน โดยให้ สพท.เสนอโครงการแลกเป้า เพื่อนำเงินไปพัฒนาโรงเรียนตามที่เขียนมา เตรียมชงของบรายหัวเพิ่ม เพื่อจัดการศึกษาฟรี 14 ปี สอดรับนโยบายรัฐบาล ยกตัวอย่าง ร.ร.สังกัด กทม.เรียนฟรี เพราะใส่เงินเพิ่มหัวละ 1 พันบาท
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ได้มีการพูดถึงการจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.) นั้น ไม่สามารถสรรให้เท่ากันได้ เพราะต้องจัดสรรตามขนาด สพท.โดยดูจากจำนวนโรงเรียน และตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนโรงเรียนไหนที่ได้งบประมาณน้อย สพฐ.จะมีเงินส่วนกลาง จำนวน 300 ล้านบาท เพื่อให้ สพท.เสนอโครงการเข้ามา ขอเรียกว่าโครงการแลกเป้า ถ้าหาก สพท.เสนอโครงการผ่านจะได้รับเงินไปบริหารโรงเรียนในเขตพื้นที่ตามที่เสนอโครงการเข้ามา อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่อติดตาม ประเมินว่าโครงการมีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ จะรอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นจะนำไปปรับสู่นโยบายอีกครั้งในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้
นายรังสรรค์ มณีเล็ก ด้านวิเคราะห์วิจัยการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อธิบายโครงการแลกเป้าว่า เป็นการเขียนโครงการเพื่อมาแลกงบประมาณโดยมี 2 ลักษณะ คือ 1.เป็นกิจกรรมบังคับที่จะต่อทำตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายของ สพฐ.2.เป็นงบที่กันไว้โดยให้เขตพื้นที่เขียนโครงการเข้ามาแลกเงิน โดยมีเกณฑ์การวัดในเรื่องของ คุณธรรม สิทธิโอกาส พัฒนาคุณภาพ ไอซีที การกระจายอำนาจ และ ภาคใต้ แต่จุดหลักของโครงการนี้คือเขตพื้นที่การศึกษาสามารถตอบคำถามได้หรือไม่ และแต่ละกลยุทธ์ช่วยให้บรรลุความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
จากนั้น คุณหญิงกษมา กล่าวถึงนโยบายเรียนฟรี 14 ปีของรัฐบาล ว่า ขณะนี้ได้มีการเตรียมตัวเลขเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ที่ผ่านมา เราให้เงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ซึ่งเป็นเกณฑ์เฉลี่ยรายหัวโรงเรียนขนาดกลาง ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มให้รายหัวละ 500 บาท สำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่กว่า 300 โรง ต้องมีการหารือเพราะโรงเรียนกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายสูงโดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภค ที่ผ่านมา โรงเรียนได้มีการขอเก็บเงินเพิ่มจากนักเรียน
“โรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ เขาไม่มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ปกครอง เพราะนอกจากเงินที่รัฐบาลอุดหนุนรายหัวนักเรียนแล้ว กทม.ยังจัดสรรเงินให้เพิ่มหัวละ 1 พันบาท โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องเดือดร้อน ซึ่ง กทม.นำเงินไปจ้างครูพิเศษ พร้อมทั้งระบุรายการฟรี 20 รายการ ส่วนโรงเรียนของ สพฐ.ที่เจอปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่โรงเรียนต้องแบกค่าสาธารณูปโภค และพูดถึงเรื่องการให้เงินส่งเคราะห์เด็กที่ยากจน ค่าหนังสือเรียน อาหารกลางวัน ซึ่งค่าอาหารกลางวัน นม สพฐ.จัดได้แค่ ป.1-6 เท่านั้น แต่ ม.1-3 ไม่ได้รับค่าอาหารกลางวัน อย่างไรก็ดี จะนำตัวเลขค่าใช้จ่ายเหล่านี้นำเสนอรัฐบาลต่อไป” คุณหญิงกษมา กล่าว