xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.จับมือ ก.คลังหาจ็อบเสริมรายได้ "ครู" ยุคข้าวยากหมากแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สมชาย” เตรียมหาทางสร้างรายได้เสริมให้แม่พิมพ์ โดยจะทำบันทึกความร่วมมือกับ “หมอเลี้ยบ” กระทรวงการคลัง ให้ครูไปจัดการสอนให้กับประชาชน หวั่นหากให้ไปขับแท็กซี่ หรือทำสวนจะไม่เหมาะสม

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ กระทรวงการคลัง นำโดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.คลัง จะประชุมร่วมกับตนและผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหารือว่าในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังฝืดเคืองจะมีการหารายได้เสริมให้กับครูได้อย่างไรบ้าง โดยอาจจะเป็นการสนับสนุนการสอนนอกเวลาให้กับครู อาทิ หลังเลิกเรียน หรือวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งอาจเป็นการสอนวิชาชีพให้กับประชาชน หรือสอนวิชาสามัญให้กับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวัยเรียน
 
โดยจากการหารือในเบื้องต้นทางกระทรวงการคลังพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณ เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้กับครู ซึ่งจะเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งให้กับครู ทั้งนี้ จะมีการหารือในรายละเอียดของโครงการ จากนั้นจะมีการทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกันอีกครั้ง เนื่องจากในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีเชื่อว่าครูคงได้รับผลกระทบ ถ้าหากจะปล่อยให้ครูไปหารายได้เสริมหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการสอน ด้วยการไปขับรถแท็กซี่หรือทำไร่ ทำสวน ก็คงไม่เหมาะ แต่หากจะจัดให้ครูได้ใช้วิชาชีพที่ตัวเองมีอยู่ ไปสอนให้กับประชาชนก็น่าจะช่วยผ่อนคลายปัญหาในภาวะที่เศรษฐกิจตึงเครียด และเป็นการส่งเสริมการศึกษาไปในตัว

ด้าน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่มีแนวโน้มค่าอาหารในโรงเรียนปรับสูงขึ้น และหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะทำให้นักเรียนได้รับผลกระทบนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้ประชุมผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ เพื่อให้โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในการทำเกษตรกรรมภายในโรงเรียน เพราะโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์มีผลิตผลทางการเกษตรของตนเองทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาแพงมากนัก อาทิ โรงสีข้าวที่ทำให้โรงเรียนสามารถลดค่าข้าวได้ประมาณร้อยละ 10 และยังสามารถผลิตข้าวกล้องทำกินภายในโรงเรียนอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีโรงเรียนที่ทำกิจกรรมด้านการเกษตรและขอการสนับสนุนมายังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประมาณ 5,000 โรง แต่ สพฐ.สามารถสนับสนุนได้เพียง 2,000 โรง และพยายามที่จะสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ สพฐ.จะส่งเสริมและรณรงค์ให้โรงเรียนทำเกษตรกรรมในทุกเขตพื้นที่การศึกษา พร้อมทั้งกระตุ้นให้โรงเรียนหันมาเรียนรู้ เพื่อสร้างผลิตผลทางเกษตรกรรมใช้สอยภายในโรงเรียนให้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องขอเพิ่มงบประมาณค่าอาหารกลางวันเพียงอย่างเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น