รมว.ยุติธรรม เดินสายตรวจเยี่ยมหน่วยงานในสังกัด กรมพินิจฯ แจงปัญหาอุปสรรคในการแก้ไขเยาวชนไม่ให้ทำผิดซ้ำ เผยสถิติเด็กก่อคดีลักทรัพย์มีมาก และคดียาเสพติด พบเด็กในวัยเรียนยุ่งเกี่ยวยามากที่สุด
วันนี้ (6 ต.ค.) ที่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย พร้อมทั้งแนวทางปฏิบัติราชการ การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน พร้อมรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับบทบาท ภารกิจ ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รักษาราชการแทนอธิบดีฯ ได้บรรยายสรุปถึงบทบาทและหน้าที่เกี่ยวกับคดีอาญาและคดีครอบครัวภายใต้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว การควบคุมตัวเด็กและเยาวชนระหว่างตรวจพิสูจน์สารเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่า ในรอบปี 2550 มีเด็กและเยาวชนกระทำความผิดทั่วประเทศ จำนวน 51,218 ราย จำแนกเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ร้อยละ 26.93% ยาเสพติด 24.2% และยังพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 33.74% อยู่ในวัยเรียน สาเหตุที่สำคัญเกิดจากการถูกเพื่อนชักชวนหรือคบเพื่อนถึงร้อยละ 38.3% และในจำนวนทั้งหมดมี ครอบครัวแตกแยกร้อยละ 50.72%
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ฝึกและอบรมกระจายอยู่ตามศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 17 แห่ง ซึ่งมีจำนวนไม่เพียงพอแก่การรองรับกับจำนวนเด็กและเยาวชนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเด็กและเยาวชนเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน ไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมหรือร่วมกิจกรรมตามที่ศูนย์ฝึกฯ กำหนดได้ เพราะการเดินทางมาเยี่ยมแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายและบางรายก็ทำให้เกิดการก่อหนี้ยืมสินเพิ่มมากขึ้น กรมพินิจฯ จึงได้จัดโครงการเยี่ยมทางไกลทางผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์โดยสามารถเยี่ยมบุตรหลานตามศูนย์ฝึกและอบรมฯ ต่างๆ ได้ทั่วประเทศทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายบิดามารดาและผู้ปกครองได้มากขึ้น ปัจจุบันกรมพินิจฯ มีเครื่องมือที่สำคัญทำให้เด็กและเยาวชนกลับตนเป็นพลเมืองดี ไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก อาทิ ระบบครูที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำเด็กและเยาวชนทุกคน ใช้ระบบให้คะแนนเพื่อจูงใจให้เด็กประพฤติตัวดี พร้อมทั้งยังจัดการศึกษาทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ ให้เด็กและเยาวชนได้มีความรู้ติดตัว และการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย พร้อมมุ่งเน้นการนำครอบครัว สังคมและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ
อย่างไรก็ตาม ยังคงพบปัญหาที่สำคัญที่จำเป็นต้องแก้ไข เช่น ศูนย์ฝึกไม่เพียงพอแก่การรองรับการฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนตามคำพิพากษา การขาดแคลนงบประมาณโดยเฉพาะค่าอาหาร อีกทั้งกฎหมายกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีการอนุวัตรให้เป็นไปตามเจตนารมณ์หลังแยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรม