xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวเด็กต่ำ 18 ตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยไม่ต้องขออนุญาตพ่อแม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาพิจารณ์ไฟเขียวให้เด็กต่ำกว่า 18 ตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ ไม่ต้องขออนุญาตพ่อ แม่ ผู้ปกครอง แต่ต้องมีทีมที่ปรึกษาทำความเข้าใจทั้งก่อนและหลังตรวจเลือด ขณะที่แพทยสภาเตรียมออกข้อบังคับแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับโรคเอดส์ เสร็จภายใน 1-2 เดือน ผอ.สำนักโรคเอดส์ สภากาชาด เสนอไอเดียเจาะเลือดตรวจหาเชื้อเอดส์ปูพรม ลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่

วันที่ 17 ธันวาคม นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ด้านกฎหมาย กล่าวในการประชุมเพื่อทำประชาพิจารณ์ เรื่อง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับโรคเอดส์ของแพทยสภา “การเจาะตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กและเยาวชน” โดยแพทยสภาร่วมกับองค์การแพท (PATH) และเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทย (Youth Net) มีข้อสรุปว่า ให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสไม่จำเป็นต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ปกครองก่อน แต่ต้องอยู่ภายใต้คำปรึกษาที่มีคุณภาพ ครอบคลุมทั้งการให้บริการก่อนการตรวจหาเชื้อเอชไอวีและภายหลังจากทราบผลเลือดแล้ว

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า จะมีการตั้งคณะทำงานกลางดังกล่าว จะมีองค์ประกอบจากนักวิชาการที่มีความรู้เฉพาะด้านเอดส์ ซึ่งจะจัดทำเป็นโครงการนำร่องกับสถานพยาบาลที่มีความพร้อม ทั้งนี้แพทยสภาจะร่างข้อบังคับให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน และสามารถนำมาบังคับใช้ได้ทันที โดยจะประกาศให้แพทย์ได้รับทราบโดยทั่วกัน

“ในการตัดสินใจว่าจะตรวจเลือดหรือไม่ เด็กจะต้องผ่านกระบวนการให้คำปรึกษา หากยังตัดสินใจไม่ได้ก็จะต้องกลับมานั่งทบทวนใหม่จนกว่าจะตัดสินใจได้แน่นอนแล้ว ส่วนภายหลังจากที่เด็กทราบว่าติดเชื้อเอชไอวีแล้ว จำเป็นต้องบอกพ่อแม่ผู้ปกครองหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเด็กเอง แต่คณะทำงานจะช่วยในการหาทางออกในการบอกความจริงกับผู้ปกครองว่าจะดำเนินการอย่างไร และอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า การที่พ่อแม่ผู้ปกครองทราบปัญหาจะเป็นผลดีในการดูแลรักษาในอนาคตด้วย แต่หากไม่สามารถบอกพ่อแม่ได้จริงๆ ก็ควรบอกกับผู้ที่เด็กให้ความไว้วางใจ เพื่อทราบถึงปัญหา ในทางตรงกันข้าม ในกรณีที่ทราบผลแล้วว่าไม่เป็นเอดส์ ก็ทำหน้าที่ในการให้ความรู้ในการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ และไม่ให้มีผลเลือดเป็นบวกในอนาคตด้วย”นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ด้าน นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สถานการณ์เอชไอวี หรือเอดส์ ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 17,000-20,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผู้ที่ติดเชื้ออีกประมาณ 400,000 คน ที่ไม่รู้ตัวและกำลังแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ขณะเดียวกัน หากคนกลุ่มนี้ได้รับบริการตรวจวินิจฉัยตรวจเลือดและดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มแรก จะช่วยลดผลกระทบด้านสุขภาพและภาระค่าใช้จ่ายการรักษา นอกจากนี้ พบว่า หากร้อยละ 60 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศมีการตรวจเลือดจะสามารถช่วยลงอัตราการเกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้

“ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า หากทุกประเทศในโลกตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี/เอดส์ โดยวิธีการตรวจเลือดในประชาชนทุกคนพร้อมกันกับการตรวจสุขภาพ เบาหวาน ความดันโลหิต เมื่อตรวจเจอแล้วให้ยาต้านไวรัสทันทีโดยไม่ต้องรอให้ภูมิคุ้มกันลดลง หรือค่าซีดีโฟร์ (CD4) ต่ำ จะช่วยป้องกันการเกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ 100% โดยใน 10 ปีแรกอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการตรวจเลือด แต่หลังจากนั้น จะเท่าทุนและได้กำไรในที่สุด เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งมีมูลค่าสูงกว่ามาก ซึ่งขณะนี้ศูนย์อนามัยของกรุงเทพมหานคร จำนวน 68 ศูนย์ ก็เริ่มให้บริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีสำหรับหญิงที่มาฝากครรภ์พร้อมคู่สมรสแล้ว” นพ.ประพันธ์ กล่าว

นพ.ประพันธ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีการให้บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีแก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยไม่ต้องได้รับการยินยอมจากพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น หากมีความรู้ความเข้าใจสภาวะการณ์ก็ควรให้บริการตรวจหาการติดเชื้ออยู่แล้ว การห้ามตรวจหาเชื้อเอชไอวีในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถือเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรับบริการซึ่งที่ผ่านมาคลินิคนิรนามให้บริการตรวจหาเชื้อเอชไอวี โดยไม่ถามชื่อ อายุ และเก็บข้อมูลของผู้ป่วยไว้เป็นความลับอยู่แล้ว โดยช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีเยาวชนจำนวนมากที่เข้ารับบริการจากร้อยละ 10 เพิ่มเป็นร้อยละ 14 จึงถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก อย่างไรก็ตามหลักการสำคัญในการตรวจหาเชื้อเอชไอวีคือต้องเป็นการรับการตรวจโดยสมัครใจ โดยผู้ที่รับบริการจะต้องรู้ข้อดีและข้อเสียจาการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวีในสถานการณ์ปัจจุบัน

“ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมักจะเข้ามารับบริการที่คลินิกนิรนาม ก่อนที่จะตรวจยืนยันผลอีกครั้งที่โรงพยาบาลเพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการสมัครงาน เพราะมีผู้ติดเชื้อหลายรายพอทราบผลจากโรงพยาบาลแล้ว ถูกไล่ออกจากงาน หรือทันตแพทย์ไม่กล้าถอนฟันให้ ดังนั้นจะต้องมีกระบวนที่ดีรองรับหลังจากที่ทราบผลการตรวจแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บรักษาความลับด้านสุขภาพของผู้ป่วย” นพ.ประพันธ์ กล่าว

นายกิตติพันธ์ กันจินะ เครือข่ายเยาวชนต้านเอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นเยาชนประเด็นเฉพาะการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อเอชไอวี ในเยาวชนจำนวน 1,998 คน จาก 20 จังหวัด ทั่วประเทศ เป็นเพศหญิงร้อยละ 56 เพศชายร้อยละ 34.4 และหลายหลายทางเพศ 9.6 ส่วนใหญ่อายุ 16-18 ปี ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พบว่า ร้อยละ 60.8 มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเอดส์ และเพศศึกษา ไม่รู้ร้อยละ 4.6 และไม่สนใจร้อยละ 3.6 ส่วนการตรวจเลือดเป็นวิธีการป้องกันใกล้ตัวและคิดที่จะไปตรวจเลือด ร้อยละ 86.3 แต่ไม่เห็นด้วยในการไปตรวจเลือดร้อยละ 13.7 สำหรับพ่อแม่ ญาติ พี่น้อง รับได้หากลูกหลานจะตรวจเลือดร้อยละ 89.8 และไม่เห็นด้วย ร้อยละ 10.2

“เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ร้อยละ 78% เห็นด้วย หากไปตรวจเลือดโดยสมัครใจและไม่จำเป็นต้องขอให้ผู้ปกครองยินยอม อย่างไรก็ตามกว่าร้อยละ 90 เห็นว่า การบริการจะต้องเป็นมิตรกับเยาวชน มีการให้คำปนึกษาได้มาตรฐาน ครบวงจร และจะต้องเก็บความลับของผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ ร้อยละ 89 เห็นด้วยที่จะมีการแจ้งให้ผู้ปครองทราบ โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กแต่ละรายสูงสุด หากเด็กบางรายไม่ต้องการให้บอกผู้ปกครองก็จะต้องมีการวางแผนมีการเตรียมการที่ดีรองรับด้วย”นายกิตติพันธ์ กล่าว

นางกีรติกา แพงลาด ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า เห็นด้วยในการให้บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กอายุต่ำว่า 18 ปี แต่จะะต้องคำนึงถึงกระบวนการให้คำปรึกษาทั้งก่อนและหลังจากการตรวจหาเชื้อเอชไอวีรองรับ ไม่ว่าจะตรวจพบเชื้อเอชไอวีหรือไม่ เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ร้อยละ 80 อาจไม่มีองค์ความรู้ที่เพียงพอเกี่ยวกับเรื่องเอดส์หรือแม้แต่เรื่องทางเพศ
กำลังโหลดความคิดเห็น