xs
xsm
sm
md
lg

“คุณหญิงกษมา” กำชับ ผอ.โรงเรียนดังรับเด็กปลอด “แปะเจี๊ยะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กษมา” เศรษฐกิจปีหน้าไม่ดี หากมีการขอรับบริจาคให้ทำอย่างโปร่งใส ติงห้องเรียนพิเศษ เก็บเงินจากผู้ปกครองแพงแต่ปฏิบัติทางวิชาการไม่คุ้มค่า สั่งให้สำรวจเด็กในพื้นที่ทำเป็นแผนระยะยาว เผยพบเด็กจบไม่พร้อมรุ่นสูงถึง 2 หมื่นคน สั่งให้หาแนวทางให้เด็กได้เรียนต่อหรือเรียนสายอาชีพ ยังพบเด็ก ม.3 อยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุงเพียบ
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
วันนี้(3 ธ.ค.) โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะประธานเปิดการประชุมสัมมนาส่งเสริมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมคือ ผู้อำนวยการโรงเรียนยอดนิยม 370 โรง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เข้าร่วมกว่า 1,000 คน พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การรับนักเรียน การกำหนดแผนชั้นเรียน" มีใจความสำคัญว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนในสังกัด ปีการศึกษา 2552 เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ที่เชิญทุกท่านมาเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน และขอความร่วมมือเพื่อช่วยกันในการที่จะแก้ปัญหา พัฒนาคุณภาพการศึกษา เพราะจากข้อมูลการรับนักเรียนปี การศึกษา 2551 พบว่า มีอัตราการแข่งขัน สูงกว่าปี 2550 ดังนั้น การรับนักเรียนในปีการศึกษา 2552 ขอโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง อาจจะมีทั้งสอบคัดเลือก 100% หรือโรงเรียนเป็นผู้กำหนดสัดส่วนตามความเหมาะสม ซึ่งทั้ง 2 ส่วนก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือ การสอบ 100% โรงเรียนจะได้เด็กดีมีคุณภาพ แต่ข้อเสียจะทำให้เด็กในพื้นที่บริการที่สอบไม่ติดไม่ได้เรียนใกล้บ้าน เมื่อต้องไปเรียนที่อื่นก็ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งตรงนี้ให้พิจารณารับเด็กในพื้นที่บริการตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้เด็กเดือดร้อน

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการเปิดห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ พบว่า บางโรงเก็บค่าเรียนแพงมาก แต่การปฏิบัติทางวิชาการไม่คุ้มค่ากับเงินที่ผู้ปกครองต้องเสียไป จึงขอให้โรงเรียนพัฒนาห้องเรียนพิเศษนี้ให้คุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่าย ส่วนการรับนักเรียนในระดับ ม.4 ขอให้โรงเรียนพิจารณา เด็กที่จบม.3 ในโรงเรียนของตนก่อน แต่หากโรงเรียนไม่รับเด็กตนเองได้ขอให้บอกเด็ก ผู้ปกครองล่วงหน้า พร้อมกันนี้ให้ดูความประพฤติของนักเรียนว่าตรงตามหลักเกณฑ์ที่จะรับเข้าศึกษาต่อหรือไม่ สำหรับการรับเด็กพิการ ฝากให้ทุกแห่งดูแลนักเรียนกลุ่มนี้ด้วย ถ้าโรงเรียนไม่มีความพร้อมหรือมีปัญหาอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนขอให้ติดต่อศูนย์การศึกษาพิเศษเพื่อขอรับการช่วยเหลือรับเด็กไปดูแลต่อ

คุณหญิงกษมา กล่าวว่า ปีหน้าเศรษฐกิจไม่ดี ผู้ปกครองอาจได้รับความเดือดร้อน ถ้าโรงเรียนจะรับบริจาคเงินขอให้ทำตามหลักเกณฑ์ที่ สพฐ.กำหนดไว้ ขอให้ทำอย่างโปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ ส่วนค่าสาธารณูปโภคนั้น สพฐ. ตรวจสอบพบโรงเรียนใน กทม. 1 โรงจากประมาณ 30 โรงที่มีค่าสาธารณูปโภคสูงเกินไปกว่า 1 ล้านบาทถือว่าสูงมาก จึงให้โรงเรียนไปคำนวณค่าสาธารณูปโภคของแต่ละโรงเรียนว่าต่อหัวจะอยู่ที่เท่าไหร่ หากโรงเรียนไม่มีเงินจ่าย สพฐ.จะแก้ปัญหาด้วยการเสนอขอให้รัฐบาลช่วย

“ขณะมีโรงเรียนไม่เก็บค่าใช้จ่ายบางแห่ง สพฐ.เห็นว่าหากเป็นไปได้อยากให้ทุกโรงประกาศเลยว่าเป็นโรงเรียนที่ไม่เก็บค่าใช้จ่าย หรือให้ทุก สพท. มีโรงเรียน 1 โรง ที่ประกาศชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ อยากให้ทำแบบแลกเป้าไปเลย กำหนดสัดส่วน 1:1 ชัดเจนว่าเขตนี้โรงเรียนนี้เรียนฟรี และหากประกาศไปแล้วระหว่างนั้นโรงเรียนมีจุดใดที่ต้องการการสนับสนุนก็ขอให้แจ้งมายัง สพฐ. เพื่อที่เราจะได้รวบรวมข้อมูลนำเสนอของบสนับสนุนจากสำนักงบประมาณได้”

จากนั้น คุณหญิงกษมา กล่าวถึงการวางแผนชั้นเรียนว่า ขอให้คณะกรรมการรับเด็กของ สพท. กำหนดเป็นแผนระยะยาว 4-5 ปี โดยตรวจสอบข้อมูลการลดและเพิ่มของเด็กพื้นที่ในแต่ละปีว่ามีเท่าไหร่ พร้อมทั้งดูโรงเรียนสังกัดอื่น ๆ ด้วยว่ามีการขยายเปิดรับนักเรียนในชั้นระดับใดบ้าง อย่างไรก็ตาม ภายใน 3 ปีนับจากนี้ สพฐ.จะต้องวางแผนลดการรับนักเรียนให้ลดลง นอกจากนี้อยากให้โรงเรียนเข้าไปดูเรื่องสัดส่วนนักเรียนที่ไม่จบพร้อมรุ่นด้วย เพราะจากข้อมูล พบว่า โรงเรียนที่มีนักเรียนจบไม่พร้อมรุ่นกว่า 20,000 คน จาก 100 โรง แบ่งเป็น ในจำนวนนี้ไม่จบพร้อมรุ่นเกินร้อยละ 20 มี 19 โรง เกินกว่าร้อยละ 10 มี 81 โรง ที่เหลือต่ำกว่าร้อยละ 10 เพราะฉะนั้นอยากให้โรงเรียนศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ โดยจัดการศึกษาทางเลือกและสอนสายอาชีพให้กับเด็ก

คุณหญิงกษมา กล่าวว่า ตนอยากให้ทุกโรงเรียนไปดูผลทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ในระดับม.3 ของแต่ละโรงเรียนด้วย เพราะตัวเลขที่ปรากฏ พบว่า แต่ละวิชายังมีโรงเรียนที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุงเกินร้อยละ 20 ดังนี้ วิชาภาษาไทย มี 3 โรง คณิตศาสตร์ 314 โรง วิทยาศาสตร์ 356 โรง สังคมศึกษา 266 โรง และภาษาอังกฤษ 369 โรง ซึ่งจุดนี้ขอให้โรงเรียนนำไปเป็นข้อมูลในการปรับปรุง รวมทั้งขอความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องการกดเกรด ปล่อยเกรด ของนักเรียนด้วย เพราะข้อมูลจากสำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. ระบุว่า มีโรงเรียนกดเกรดประมาณ 293 โรง ปล่อยเกรด 68 โรง ซึ่งอยากฝากให้โรงเรียนนั้นพิจารณาอย่างเหมาะสมอย่ากดจนเกินไปจนทำให้เด็กเกิดความอึดอัด

คุณหญิงกษมา ห่วงเด็กติดเกม ติดบุหรี่ พ่อแม่ไม่เข้าใจเด็ก จึงฝากให้มีระบบดูแลนักเรียนมากขึ้นพร้อมดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม เช่น จัดอบรมหลักสูตรผู้ปกครอง ซึ่งจัดทำโดยกรมสุขภาพจิต รวมถึงดูแลเด็กทั้งเรื่องความเดือนร้อนโดยเฉพาะช่วงระยะการส่งต่อระหว่างเด็กจากโรงเรียนไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เด็กต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น