คณะอนุกรรมการศึกษาความเสี่ยง ผลิตภัณฑ์ที่มีกาเฟอีน และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน วางแนวทางศึกษาทบทวนตั้งค่าความปลอดภัยปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มทุกชนิด รวมถึงอาหารขนมที่มีส่วนผสมกาเฟอีน คุกกี้ ถั่วลิสงเคลือบกาแฟ ใช้มาตรการกำหนดฉลากคำเตือน
วันที่ (26 พ.ย.) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอาหารว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเสี่ยงในผลิตภัณฑ์ที่มีกาเฟอีน และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน จำนวน 18 คน โดยมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการควบคุมโรค เป็นประธาน ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นักวิชาการ ตัวแทนผู้บริโภค และกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อความปลอดภัยและประเมินความเสี่ยงในผลิตภัณฑ์ที่มีกาเฟอีน และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีนทุกชนิด ทั้งเครื่องดื่มอัดลม ชา กาแฟ โกโก้ รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เช่น คุกกี้กาแฟ ถั่วลิสงอบกรอบเคลือบรสกาแฟ เป็นต้น
“เบื้องต้นในการประชุมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการได้ร่วมกันวางแนวทางในการศึกษาด้านความปลอดภัย และประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งในกรณีปริมาณกาเฟอีนที่ไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก ยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน รวมทั้งการกำหนดปริมาณที่เหมาะสมในเครื่องดื่มและอาหารแต่ละชนิด ซึ่งจะต้องมีความปลอดภัยต่อคนส่วนใหญ่ หรือมีมาตรการอื่นเสริมเช่นกำหนดให้มีฉลากคำเตือน อย่างไรก็ตามจะใช้วิธีการศึกษาแบบเปิด ไม่มีการกำหนดระยะเวลา แต่จะนัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้า คาดว่าจะมีการประชุมอีกครั้งภายใน 1-2 เดือนนี้”นพ.พิพัฒน์ กล่าว
นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า เมื่อปี 2542 อย.ได้มีการ ศึกษาวิจัยปริมาณกาเฟอีนในเครื่องดื่มบางชนิด แต่เนื่องจากในระยะหลังมีเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนและอาหารหลายชนิดเพิ่มขึ้นในท้องตลาด ทั้งในรูปแบบธรรมชาติหรือเป็นสารสังเคราะห์ จึงถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการศึกษาทบทวนความเสี่ยงและความปลอดภัยในการบริโภคอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ จะศึกษาการสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นในการบริโภคที่เกินความจำเป็น
โดยเฉพาะเมื่อกาเฟอีนเป็นส่วนผสมของขนมและอาหารเด็กหลายชนิด ทั้งช็อกโกแลต โกโก้ คุกกี้ รวมถึงชาสำเร็จรูปที่นักวิชาการประมาณการณ์ว่าใน 100 ซีซี จะมีกาเฟอีนประมาณ 20-30 มิลลิกรัมและหากพิจารณาจากชาสำเร็จรูปที่วางขายในท้องตลาดซึ่งมีปริมาณ 500 ซีซี จะมีปริมาณกาเฟอีนมากถึง 100 มิลลิกรัม