xs
xsm
sm
md
lg

คราบน้ำตาของ “หญิงไทย” บนเส้นทางค้ามนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ในแต่ละปีในมูลนิธิฯ ได้ให้การช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำ และที่กลับจากต่างประเทศประมาณ 500-600 คน” “อุษา เลิศศรีสันทัด” ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิผู้หญิงที่บอกเล่าถึงสถานการณ์ของบรรดาหญิงไทยที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในต่างประเทศ

แน่นอนว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้คือสิ่งที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย และดูเหมือนว่าจะไม่ยุติลงง่ายๆ ซึ่งกว่าที่แต่ละคนจะรอดพ้นจากชะตากรรมอันเลวร้ายได้นั้น ต้องเผชิญกับเส้นทางชีวิตที่โหดร้ายและทารุณอย่างยิ่ง

และเรื่องราวของผู้หญิง 2 คนต่อไปนี้ น่าจะสะท้อนภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ได้อย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงจะมาถึงในวันที่ 25 พ.ย.นี้

นางนี (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) ประธานกลุ่มหญิงสู้ชีวิต อดีตเหยื่อจากการค้ามนุษย์ที่ถูหลอกจากคนใกล้ชิดให้ไปขายตัวที่ญี่ปุ่น เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2543 มีคนมาชักชวนให้ไปทำงานร้านอาหารที่ญี่ปุ่น ซึ่งคนที่ชักชวนนั้นเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกันดีในหมู่บ้าน และประจวบเหมาะกับที่ช่วงนั้นมีปัญหาด้านครอบครัว มีภาระเลี้ยงดูลูกสองคนตามลำพัง ทำให้ตัดสินใจไปญี่ปุ่น โดยที่เอเยนต์บอกให้จ่ายเงินก่อน 40,000 บาท เพื่อเดินเรื่องเอกสารเดินทางและวีซ่า ทำให้ต้องไปกู้ยืมเงินมาพร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ5

ทว่า เมื่อไปถึงญี่ปุ่นก็พบว่าคำพูดหว่านล้อมว่างานที่จะทำมีรายได้ดี มีเงินส่งกลับมาให้ที่บ้านนั้น แท้จริงแล้ว เป็นเพียงคำล่อลวงให้หลงเชื่อยอมเดินทางไปติดกับสภาพการทำงานชดใช้หนี้สินเยี่ยงทาสจนหมด 1, 200,000 บาทในระยะเวลา 5 เดือน แต่ต้องถูกพาไปขายต่ออีกแห่งหนึ่ง เพื่อบังคับให้ใช้หนี้ใหม่อีก1, 200,000 บาท

ที่ทำงานนีได้เจอกับ “บัวลา” ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกันและถูกหลอกมาทำงานเช่นกัน ซึ่งทั้งนีและบัวลาได้ปรึกษาพูดคุยกันว่า“ทำไมเขาทำกับเราได้ขนาดนี้เป็นคนบ้านเดียวกัน ถ้าเราสองคนมีโอกาสรอดออกไปได้หรือคนใดคนหนึ่งออกไปได้จะต้องไปดำเนินคดีกับพวกนี้แน่นอน”

จนกระทั่งวันหนึ่งนีได้เจอกับชายไทยคนหนึ่งโดยบังเอิญที่ร้านอาหาร และทั้งสองคนก็แอบให้เบอร์โทรศัพท์และติดต่อนานกว่าสี่เดือนเพื่อหาทางช่วยเหลือ

“เขาก็โทร.มาบอกให้เตรียมตัวเดี๋ยวจะไปช่วย เราก็ไม่ได้คิดว่าเขาจะมาช่วยจริง ทีนี้เขาบอกว่าเพื่อนกี่คนอยู่ที่ไหน แล้วเขาก็ขอเบอร์โทร แล้วให้เพื่อนอีกคนไปช่วยพี่บัวลา คู่ของเรารอดมาได้อย่างปลอดภัย ส่วนคู่ของบัวลารอดออกมาไม่ได้ เพราะเอเยนต์ที่คุมรู้ตัวก่อน จึงทำให้เกิดการต่อสู้ เอเยนต์คนคุมเสียชีวิต บัวลาและผู้ชายคนที่ช่วยก็เลยถูกจับและดำเนินคดีอยู่ที่ญี่ปุ่น โดนศาลญี่ปุ่นจำคุกคนละ 7 ปี หลังจากถูกจำคุกได้ 5 ปีกว่า บัวลาป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย จึงขอกลับมาตายที่บ้าน กลับมาได้ 9 เดือน บัวลาก็เสียชีวิตลง”นีเล่าย้อนเหตุการณ์ให้ฟัง

เมื่อเดินทางกลับ นีก็พบว่าคนในชุมชนและเพื่อนบ้านไม่มีใครแสดงความเห็นอกเห็นใจ มิหนำซ้ำยังถูกดูถูกต่างๆ นานาอีกต่างหาก

“พอเราไม่ร่ำรวยกลับมาชาวบ้านดูถูกเราว่ามึงไปแล้วไม่ร่ำรวยกลับมา หนูก็บอกว่าพวกป้าไม่รู้หรอกว่าฉากหน้าจริงๆ เป็นยังไง พอกลับบ้านมีเงินพวกป้าก็ว่าดี แต่ที่เขาร่ำรวยมาเพราะขายคน แต่ชาวบ้านก็ไม่เชื่อเรา หนูก็บอกว่าเดี๋ยวก็คอยดูกันไป ชาวบ้านพูดอีกว่ามึงจะเอาอะไรไปสู้ หนูก็บอกว่าจะสู้ทั้งๆ ที่หนูไม่มีอะไรนี่แหละ หนูก็อยากรู้ว่าความยุติธรรมจะไม่มีให้คนจนเลยหรือ พอแจ้งความ เขาก็ถามว่าเอาเงินยัดสารวัตรที่รับแจ้งความหรือ”นีเล่า

แต่โชคยังเข้าข้างนีที่ได้รับความช่วยเหลือจากสารวัตรที่ให้ความเป็นธรรม ทว่า พอเรื่องส่งฟ้องศาล นีก็โดนข่มขู่ทั้งคุกคามสารพัด และใช้เวลา 3 ปีครึ่งศาลจึงพิพากษาให้เอเยนต์รับโทษจำคุก 13 ปี และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาในคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย

“สู้คดีมา 8 ปีแล้ว ถ้าคดีสำเร็จก็จะเป็นคดีตัวอย่างให้คนเดินทางกลับมาจะได้ไม่เสียเปรียบ ถ้าถามว่าชาตินี้จะลืมไหม ให้กระดูกโดนฝัง ดินกลบหน้าก็ไม่มีวันลืม พ่อแม่เลี้ยงมาก็ไม่เคยทำกับเราขนาดนี้ แต่เขาเป็นใครมาทำกับเราเหมือนเราไม่ใช่คน”นีแจกแจง

“คนใกล้ชิดที่เราไว้ใจ อาจจะเป็นอันตรายที่สุดสำหรับเรา”
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ “นางกอง” (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) หญิงจากภาคอีสานที่ถูกญาติหลอกไปค้ามนุษย์

กองเล่าให้ฟังว่า เอเยนต์ที่หลอกนั้นเป็นพี่สาวของสามี จึงเกิดความเชื่อใจไว้วางใจเป็นอย่างมาก

“เขาบอกว่าให้ไปทำงานบ้าน ก็เลยยอม ใครๆ ไป3 ปีก็ร่ำรวยกลับมา เขาบอกว่าไปถึงก็จะส่งเงินมาให้ทางบ้านก่อน ใช้หนี้เสร็จจึงจะหักค่าหนี้ หนี้ 5 แสนแต่พอไปถึงกลายเป็น 1 ล้าน แล้วเขาก็เก็บเอาไว้หมด”

“เมื่อไปถึง เราไม่ยอมทำงาน เอเยนต์จึงให้อดข้าวหลายวัน เขาบอกว่าอย่ามาพูดนะว่าเป็นญาติ อดประมาณ 1 อาทิตย์เราก็เลยจำใจทำ พอทำงานก็นั่งร้องไห้ทุกวัน เอเยนต์ก็ขู่ต่างๆนานา จนเมื่อทำงานหาเงินใช้หนี้หมดแล้ว เขาก็บอกว่าจะไปไหนก็ไป”

เมื่อกลับมาเมืองไทย กองได้แจ้งความดำเนินคดีพี่สาวของสามีทันที โดยเล่าความจริงที่ได้ประสบมาให้สามีฟัง สามีก็ยอมรับและเข้าใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปคดีความยืดเยื้อเป็นระยะเวลา 2 ปีกว่า สามีก็เปลี่ยนไป

“พอคดียืดเยื้อคดีความไม่เสร็จสิ้น เขาบอกว่าเธอใส่ร้ายพี่สาวเราหรือเปล่า เราก็บอกว่าเดี๋ยวก็รู้ว่าใครผิดใครถูก เขาก็พูดว่าพี่สาวเขายังเข้าออกประเทศได้อยู่ เราก็บอกเขาว่าพี่สาวเธอยังเป็นผู้ต้องสงสัยยังไม่เป็นนักโทษ ซึ่งไม่ว่าคดีจะตัดสินออกมายังไง แต่ขอทำตรงนี้ให้ดีที่สุด จะเคารพคำตัดสิน และภูมิใจที่เป็นสื่อกลางให้ผู้หญิงทุกคนที่คิดจะไปทำงานต่างประเทศได้เข้าใจ”กองระบายความในใจ

สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิผู้หญิงให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้หญิง ไม่ว่าจะถูกล่อลวงไปทำงานต่างประเทศ เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ถูกข่มขืนหรือถูกทุบตีจากสามี ก็คือการเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตำรวจซึ่งจำนวนไม่น้อยรับเงินจากฝ่ายตรงข้าม ทำให้การดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดไม่ใช่เรื่องง่าย

นอกจากนั้นยังมีปัญหาทางด้านจิตใจที่ถูกกระทบอย่างหนัก ทั้งขณะเกิดเหตุการณ์และขณะดำเนินคดีที่ใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน ซึ่งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น