ครูเอกชน เรียกร้องสภาช่วยดัน พ.ร.บ.ร.ร.เอกชน เข้าสู่การพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน ระบุ หากช้าจะกระทบครู บุคลากร 40,000 คน ได้รับความเดือดร้อน เผย มีโรงเรียนปิดกิจการไปแล้ว 13 แห่ง คาดปีหน้าปิดอีก 100 แห่ง
ดร.วีรวัฒน์ วรรณศิริ อุปนายกฝ่ายบริหารสมาคม สภาการศึกษาเอกชน นางอุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย และ นายสมศักดิ์ อัมพรวิศิษย์โสภา ประธานชมรมผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชน กล่าวว่า กลุ่มครู ผู้บริหาร และผู้ได้รับผลกระทบจากพระราชบัญญัติโรงเรียน พ.ศ.2550 กว่า 1,500 คน ซึ่งได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเร่งรัดให้ที่ประชุมสภานำกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาอย่างเร่งด่วน หากผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะจะหมดสมัยการประชุมในวันที่ 28 พ.ย.นี้ และไม่แน่ใจในเสถียรภาพของรัฐบาล พวกเราอยากให้สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วที่สุด
นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปรัฐบาล ตัวแทนจากวิปฝ่ายค้าน และคณะทำงานของ นายศรีเมือง เจริญศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ.ได้มารับหนังสือดังกล่าว สำหรับมาตราที่สมาคมโรงเรียนเอกชน เรียกร้องให้มีการแก้ไข ได้แก่ มาตรา 86 เรื่องการประกันสังคม ที่ให้การประกันตนของบุคลากรโรงเรียนเอกชนกว่า 40,000 คน ของโรงเรียนในระบบไม่สามารถประกันตนเองได้เช่นเดิม และมาตรา 159 ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต ต้องโอนที่ดินและทรัพย์สิน หรือส่งมอบการครอบครองในที่ดินให้กับโรงเรียนซึ่งเป็นนิติบุคคล ทำให้โรงเรียนเกิดความลำบากในการดำเนินกิจการ เนื่องจากโรงเรียนส่วนหนึ่งไม่พร้อมที่จะโอนที่ดินและส่งมอบการโอนที่ดินให้กับโรงเรียน
ดร.วีรวัฒน์ กล่าวว่า สมาคม ร.ร.เอกชนพยายามให้การแก้ไข พ.ร.บ.ร.ร.เอกชน เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว และได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ตั้งแต่สมัย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนมาถึง นายศรีเมือง เจริญศิริ รมว.ศธ.คนปัจจุบัน ก็พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพราะหากไม่ทันอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของ ร.ร.เอกชน ผู้ประกอบการ
“มีโรงเรียนเอกชนที่ได้รับความเสียหายจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้กว่า 4,000 โรง ผู้ประกอบการมีความรู้สึกไม่มั่นคงขอปิดกิจการไปแล้ว 13 โรง และมีจะขอปิดตัวในปีการศึกษาหน้าอีก 100 กว่าโรง เพราะไม่มั่นใจใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ หากไม่มีการแก้ไขอาจส่งผลให้คนตกงานเพิ่มขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว
อนึ่งคาดว่า พ.ร.บ.ร.ร.เอกชน พ.ศ.2550 ฉบับแก้ไข จะสามารถเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ภายในเดือน ธ.ค.2551-ม.ค.2552 นี้
นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สช.ได้มีการปรับแก้พ.ร.บ.เกี่ยวกับโอนทรัพย์สินของโรงเรียน โดยโรงเรียนที่ก่อตั้งเก่า ไม่ต้องโอนทรัพย์สินมาอยู่ในส่วนของนิติบุคคล สำหรับโรงเรียนตั้งใหม่จะต้องนำทรัพย์สินทั้งหมดจดเป็นนิติบุคคล ส่วนเรื่องบุคลากรของเอกชนเข้าสู่ระบบประกันสังคมนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับสำนักงานประกันสังคม
นายบัณฑิตย์ กล่าวด้วยว่า ยังไม่มีโรงเรียนเอกชนแห่งใดได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.เอกชน ถึงขั้นปิดกิจการ น่าจะเป็นการขู่มากกว่าว่าจะมีการปิดถึง 100 แห่ง อย่างไรก็ดี ตนจะพยายามเรียกร้องสิทธิประโยชน์ให้แก่คน สช.ให้มากที่สุด และเร่งแก้ปัญหาให้อยู่