สธ.ประกาศดันผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ เตรียมทุ่มกว่า 9 พันล้าน ลงทุนเมกะโปรเจกต์ 8 โครงการใหญ่ ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศผู้สูงอายุ ตั้งคลินิก ศูนย์การแพทย์ครบวงจร ปรับฐานข้อมูลผู้สูงอายุ เสนอปรับแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ จาก 60 เป็น 65 ปี
วันที่ 3 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการงานผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 1 /2551 กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.ได้ร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ ฉบับที่ 2 ต่อเนื่อง 20 ปี (พ.ศ.2552-2555) และแผนยุทธศาสตร์บูรณาการการจัดบริการผู้สูงอายุ ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน จนถึงระดับเฉพาะทาง พ.ศ.2552-2555 โดนสธ.จะเสนอให้รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เรื่องผู้สูงอายุในปี 2552 นี้
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะเสนอโครงการลงทุนภาครัฐด้านสาธารณสุข หรือเมกะโปรเจกต์ (Mega Project) สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 9,199 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด 40,000 กว่าล้านบาท ประกอบด้วย 8 โครงการ คือ 1.จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ 2.ตั้งศูนย์แพทย์ด้านผู้สูงอายุครบวงจรระดับภูมิภาค ในโรงพยาบาลศูนย์ 25 แห่ง 3.ตั้งคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทั่วไป 69 แห่ง 4.ตั้งสถานบริบาลผู้สูงอายุระยะยาว 5.พัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิรองรับการดูแลรักษา และฟื้นฟูโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาในระดับชุมชน
6.พัฒนาบุคลากรผู้ให้บริการและพัฒนาหลักสูตร 7.พัฒนาการช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุ กรณีฉุกเฉิน และกรณีปกติ และ8.จัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุ ในแต่ละจังหวัด ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านให้เป็นปัจจุบัน โดยจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งจะจะประชุมในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ หากคณะกรรมการมีมติเห็นชอบ จะผลักดันวาระแห่งชาติเข้า ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป
นายวิชาญ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวที่แนวคิดที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ โดยจะมีการเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ โดยให้คำนิยามผู้สูงอายุใหม่ จากเดิมที่กำหนดอายุ 60 ปี จะขยับขึ้นเป็น 65 ปี และอาจขยับให้เป็น 70 ปีในอนาคต เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพที่ดี มีความสมรรถภาพการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สามารถที่จะทำงานต่อไปได้แม้จะมีอายุ 60 ปี โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีปัญกาหารขาดแคลนหากขยายอายุเป็น 65 ปี จะสามารถมีแพทย์เพิ่มถึง 3,000 อัตรา
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรไทย ทำให้ประชากรเด็กและวัยแรงงานเริ่มลดลง ขณะเดียวกัน ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2554 โดยจะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุร้อยละ 11.7 ของจำนวนประชาทั้งหมด ซึ่งตามสัดส่วนประชากรหากมีประชากรอายุ 65 ปี ขึ้นไป เกินร้อยละ 7 ถือเป็นสังคมผู้สูงอายุ และไทยจะขยับเป็นร้อยละ 14 ในปี 2573 ซึ่งไทยจะใช้เวลาเพียง 20 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว จึงเป็นช่วงระยะเวลาที่สั้นมากในการที่จะเตรียมตัวรองรับกับปัญหาที่จะตามมาในอนาคต
“ปัจจุบันไทยมีผู้สูงอายุ 7 ล้านคนเศษ อายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ชาย 70 ปี และผู้หญิง 76 ปี อย่างไรก็ตาม ประชากรที่อายุเกิน 65 ปี ส่วนใหญ่จะไม่ได้ทำงาน จึงกลายเป็นภาระพึ่งพิงมากขึ้น นอกจากนี้แนวโน้มผู้สูงอายุจะมีปัญหาด้านสุขภาพมากขึ้นด้วย โดยร้อยละ 80 เป็นโรคเรื้อรัง และ โรคประจำตัว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่ร้อยละ 25 อยู่ในภาวะทุพพลภาพ พิการ ต้องพึ่งพิงคนดูแล ขณะที่เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลทุกระดับ ร้อยละ 28 คือ ผู้สูงอายุ ซึ่งการดูแลและบริการในประเทศยังไม่เป็นระบบ ไม่มีกฎหมายใดรอรับชัดเจน สถานที่บริการดูแลผู้สูงอายุในภาคเอกชนมีราคาแพง ขณะที่ภาครัฐก็ไม่เพียงพอ อีกทั้งยังเกิดภาวะขาดแคลนผู้ดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักกายภาพบำบัด และนักจิตวิทยา” นพ.ศุภกิจ กล่าว