xs
xsm
sm
md
lg

รพ.ขอนแก่นติวเข้มสร้างเครือข่ายดูแลผู้ป่วย “ฮีโมฟีเลีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - รพ.ขอนแก่นติวเข้มพัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพและสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคเลือดออกง่าย “ฮีโมฟีเลีย” 11 ส.ค.นี้ เผยเป็นโรคเกิดทางกรรมพันธุ์ อัตราการพบในไทย 1 : 13.000 ถึง 1 : 20,000 ดูแลไม่ถูกสุขลักษณะเอาจทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน-พิการ และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตในที่สุด

นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวถึงการจัดโครงการ “พัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพและสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย โรงพยาบาลขอนแก่น ปี 2551” ว่ามีกำหนดจัดขึ้นที่ห้องประชุมประมุข จันทวิมล ชั้น 4 อาคารสิรินธร โรงพยาบาลขอนแก่นในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 นี้ โดยมีบุคลากรสุขภาพ หน่วยบริการสุขภาพใกล้บ้าน และหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะโรคฮีโมโฟเลีย จำนวน 100 คนเข้าร่วมสัมมนา

นพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า โรคเลือดออกง่าย หรือโรคฮีโมฟีเลีย เป็นโรคที่เกิดทางพันธุกรรม เกิดจากร่างกายขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือด ในประชากรไทยพบอุบัติการณ์เท่ากับ 1 : 13.000 ถึง 1 : 20,000 ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกง่ายหยุดยาก เป็นๆ หายๆ ตลอดชีวิตตั้งแต่แรกเกิด มีลักษณะเฉพาะ คือ มักมีเลือดออกในข้อ และกล้ามเนื้อ บางครั้งอาจมีเลือดออกในอวัยวะที่สำคัญ ทำให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมาน มีความพิการ และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตในที่สุด

ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียที่ถูกต้อง เหมาะสม และ รวดเร็ว รวมถึงการส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะโรคฮีโมฟีเลีย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยต้องมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพ และสร้างเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลได้รับคำ แนะนำ และฝึกทักษะอย่างต่อเนื่องในเรื่องต่างๆ

ได้แก่ การป้องกันไม่ให้เลือดออก, การให้แฟกเตอร์เข้มข้นเมื่อเริ่มมีอาการเลือดออกทันที, การดูแลสุขภาพช่องปาก และการทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อ และลดความตึงแข็งของข้อ

ทั้งนี้ โครงการ “พัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพและสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคเลือดออกง่าย ฮีโมฟีเลีย โรงพยาบาลขอนแก่น ปี 2551” มีเป้าหมายให้ บุคลากรสุขภาพจากชุมชน หน่วยบริการ สุขภาพใกล้บ้าน หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะโรคฮีโมฟีเลีย มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลรักษาเบื้องต้น รวมถึงการฉีดแฟกเตอร์เข้มข้น และการส่งต่อผู้ป่วยมารับบริการที่หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะโรคฮีโมฟีเลีย

พร้อมสร้างเครือข่ายและส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างบุคลากรสุขภาพและสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในการดูแล ผู้ป่วยโรคเลือดออกง่าย ฮีโมฟีเลีย และครอบครัว เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับการดูแลที่ถูกต้อง รวดเร็ว ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น