รพ.ศิริราช เปิดตัวนวัตกรรมใหม่รถเข็นนั่งปรับยืนเพื่อผู้พิการท่อนล่างตัวแรกของไทย แพทย์ผู้คิดค้นเผยพัฒนากว่า 10 ปีคุณภาพงานเทียบเท่าต่างประเทศแต่ราคาถูกกว่าเกือบ 10 เท่า อีกทั้งช่วยลดแผลกดทับ การหดรั้งข้อสะโพกข้อเข่า และช่วยบริหารกล้ามเนื้อขา ฟื้นฟูผู้ป่วยอย่างได้ผล
วันนี้ (9 มิ.ย.) โรงพยาบาลศิริราชเปิดตัวนวัตกรรมรถเข็นนั่งปรับยืน สมบูรณ์ตัวแรกของไทยเพื่อผู้พิการท่อนล่าง โดยรศ.รอ.นพ.ชลเวช ชวศิริ หัวหน้าศูนย์ผู้บาดเจ็บทางกระดูกสันหลัง ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธดิคส์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ Siriraj stand up wheelchair เปิดเผยว่า การปรับปรุงรถเข็นปรับยืนเป็นโครงการนำร่องในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนล่าง ซึ่งจากการที่ดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังใน รพ.ศิริราช พบว่า มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถรักษาให้กลับเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติได้ ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บของไขสันหลังรุนแรงจนต้องกลายเป็นอัมพาต และปัญหาสำคัญของการรักษาผู้ป่วยอัมพาต ก็คือ ขาดแคลนอุปกรณ์ช่วยเหลือในการรักษาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
“แม้เทคโนโลยีการแพทย์ของไทยจะก้าวหน้าแต่เราก็ยังขาดแคลนอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการได้เต็มที่ หรือมีแต่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ และราคาแพง ดังนั้นเราจึงพัฒนารถเข็นเก้าอี้ปรับยืนซึ่งใช้เวลานานกว่า 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2539 และเสนอรายงานในการประชุมแพทย์นานาชาติปี 2541 เป็นครั้งแรก แต่ขณะนั้นก็ยังไม่สมบูรณ์จึงพัฒนาเพิ่มคุณสมบัติให้ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยต้องปรับให้ยืนได้ สะดวก และปลอดภัย”
รศ.รอ.นพ.ชลเวช กล่าวต่อไปว่า สำหรับรถเข็นปรับยืนนี้เหมาะสำหรับผู้พิการท่อนล่างตั้งแต่สะโพกลงไป โดยผู้ที่สามารถใช้งานได้ผลดีต้องมีกำลังแขนที่แข็งแรง ซึ่งในโครงการต่อไปจะมีการพัฒนาให้ผู้ป่วยที่มีกำลังแขนน้อยสามารถใช้ได้เช่นกัน
รศ.พญ.ศรีนวล ชวศิริ กล่าวว่า ในระหว่างที่พัฒนาระบบคันโยก สายรัด และสปริงนั้น ก็ทำการศึกษาเรื่องแผลกดทับด้วยว่า การใช้รถนั่งปรับยืนนั้นมีผลต่อแผลกดทับหรือไม่ โดยพบว่า รถเข็นนั่งปรับยืนช่วยลดแผลกดทับได้ นอกจากนี้ยังสามารถปรับให้ยืน นั่งได้สะดวกโดยผู้ป่วยเอง ลดการหดรั้งข้อสะโพกข้อเข่า และช่วยบริหารกล้ามเนื้อขา โดยคุณภาพและมาตรฐานของอุปกรณ์ดีไม่แพ้ของญี่ปุ่น มีความมั่นคงและปลอดภัย ทั้งนี้รถเข็นนั่งปรับยืนยังเพิ่มโอกาสการทำกิจวัตรประจำวันในท่ายืนได้ ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพจิตดีขึ้นเป็นลำดับ
“ในการทดลองเรื่องแผลกดทับโดยใช้ผลการทดสอบในผู้ป่วยนั่งในรถเข็นธรรมดา ขณะยืนใน tilt board ทำกายภาพบำบัด และรถเข็นนั่งปรับยืน พบว่าแผลกดทับที่เกิดจากรถเข็นนั่งปรับยืนนั้นมีน้อยที่สุด”รศ.พญ.ศรีนวล กล่าวและว่า สำหรับรถเข็นนั่งปรับยืนนี้หากเปรียบเทียบราคากับรถเข็นจากต่างประเทศซึ่งมีราคาประมาณ 2-3 แสนบาทจะมีราคาถูกกว่าเกือบ 10 เท่า ซึ่งเป็นราคาที่คนไทยสามารถซื้อได้ และพร้อมจะผลิตแล้ว ซึ่งคาดว่าภายใน 3-6 เดือนนี้จะสามารถผลิตได้ 100 ตัว
ด้าน พ.ต.ท.ทัศน์พล บู้หลง อดีตข้าราชการตำรวจ ในฐานะผู้ร่วมโครงการ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้กลับมายืนได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง แม้จะยืนผ่านรถเข็นก็ตาม เพราะก่อนหน้านี้เพียง 1 ปีตนกลายเป็นผู้พิการท่อนล่างเนื่องจากผู้ร้ายลอบยิงทำให้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สภาพจิตใจย่ำแย่ และไม่รู้จะเริ่มต้นกับชีวิตอย่างไร ซึ่งวิถีชีวิตนอกจากนั่งบนรถเข็น และนอนแล้วก็ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา แม้จะทราบว่ามีอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยจากต่างประเทศแต่ก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ เนื่องจากมีราคาแพง
“ยินดีมากที่ได้เป็นหนึ่งในผู้เข้าโครงการเหมือนเราได้กลับมายืนอีกครั้ง เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อผู้พิการเพราะเราจะได้ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นมาก หรือตลอดเวลาแล้ว และก็สามารถทำกิจวัตรประจำวันในบ้านได้อย่างสะดวก และราคาก็เหมาะสมกับคนไทย” พ.ต.ท.ทัศน์พล กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถเข็นนั่งปรับยืน หรือ Siriraj stand up wheelchair ได้ขอจดสิทธิบัตรแล้ว และศิริราชพยาบาลจะทำการผลิตออกจำหน่าย และทำการถ่ายทอดวิชาการให้กับสถานพยาบาลที่ต้องการ โดยในเบื้องต้นก่อนจะมีการผลิต หากผู้ป่วยหรือญาติสนใจติดต่อที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช โทร.0-2419-7646-50