xs
xsm
sm
md
lg

“ชวรัตน์” เสนอเคลียร์คลัง อภ.ไม่ต้องส่งกำไรคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชวัรตน์ ชาญวีรกูล
“ชวรัตน์” เสนอตัวหารือ ก.คลัง เปิดช่องให้ อภ.ไม่ต้องส่งกำไรคืนคลัง 5 ปี กันไว้เป็นงบการวิจัยและพัฒนาแข่งสู้บริษัทยาทั้งในและนอกประเทศ พร้อมตั้งเป้าให้ อภ.มียอดขาย 2 หมื่นล้าน จากปัจจุบันมีเพียง 6 พันล้าน ลั่นหั่นราคายา 10-50% สวนเศรษฐกิจ

วานนี้(30 ต.ค.) นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีในฐานะดูแลกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการเดินทางมาตรวจเยี่ยมองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า อภ.เป็นองค์กรที่ไม่เน้นเรื่องการแสวงหาผลกำไร แต่ขณะเดียวกัน อภ.ก็ต้องส่งกำไร 35% ของกำไรทั้งหมด คืนให้กระทรวงการคลัง ซึ่งแต่ละปีส่งเป็นกำไรประมาณ 350 ล้านบาท คืนให้คลัง ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาองค์กร อภ.จำเป็นต้องเน้นเรื่องการวิจัยและพัฒนาตัวยาใหม่ เพราะหากยาที่หมดสิทธิบัตร อภ.สามารถผลิตให้เป็นยาสามัญได้ทันทีเพื่อแข่งขันกับตลาดทั้งในและนอกประเทศ ดังนั้น จะไปหารือกับกระทรวงการคลังให้ยกเว้นการเก็บกำไร 35%เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อนำกำไรส่วนดังกล่าวกลับมาเป็นงบประมาณสำหรับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา

“อภ.มีกำไรเหลือไม่มากนัก แต่กระทรวงการคลัง กับมีนโยบายให้ อภ.ต้องคืนกำไรให้ ซึ่งถือว่ามันเป็นเรื่องขัดแย้งกัน ซึ่งให้ อภ.เสนอเรื่องมาและผมจะไปล็อบบี้กระทรวงการคลังให้เอง ขณะเดียวกัน ทาง อภ.ก็ควรมีการตั้งงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาให้มีสัดส่วนที่ชัดเจนทุกปีว่าจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมดอาจจะประมาณ 5% เพื่อให้เกิดการลงทุนด้านนี้อย่างชัดเจน” นายชวรัตน์ กล่าว

นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากการเน้นการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันจำเป็นต้องคิดค้นผลิตสินค้าระดับสูงเพื่อสนองตอบกับลูกค้าระดับสูงด้วย เพื่อให้ อภ.มีรายได้มาชดเชยกับการผลิตยากำพร้า หรือการสำรองยาตามภารกิจของ อภ.ทั้งนี้ ยังเสนอแนะให้อภ.ตั้งเป้าหมายยอดขายเป็น 2 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่กระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้ให้แล้ว 1 หมื่นล้านบาท แต่ยอดขายจริงมีประมาณ 6 พันกว่าล้านบาทเท่านั้น ก็เพื่อให้มีเป้าหมาย และพาองค์กรมุ่งหน้าไปอย่างรวดเร็ว

“ส่วน พ.ร.ก.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ....ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่ง พ.ร.ก.ดังกล่าวจะมีผลต่อการดำเนินการของ อภ.เนื่องจากว่าจะเป็นการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการที่จะต้องซื้อยาและเวชภัณฑ์จาก อภ.ซึ่งจะไปดูในรายละเอียดของกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ อาจจะหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ชะลอ พ.ร.ก.ดังกล่าวไปอีก 5 ปี เพื่อให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้พร้อมกับการแข่งขันต่อไปในอนาคตหาก พ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้” นายชวรัตน์ กล่าว

ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ.กล่าวว่า การดำเนินงานที่สำคัญขององค์การเภสัชกรรมในปีที่ผ่านมาว่า องค์การได้มีการผลิตยา กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด จำนวน 17 รายการ ประกอบด้วย กลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์ กลุ่มยารักษาโรคทั่วไป กลุ่มชุดทดสอบ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ Test Kit & Natural Product รวมทั้งได้มีการบริหารจัดการทางด้านวัตถุดิบ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานจัดการภายในองค์กร ทำให้สามารถลดราคาผลิตภัณฑ์ยาต้านไวรัสเอดส์ ยาเบาหวาน ยาโรคหัวใจ และหลอดเลือดยากลุ่มเพนนิซิลิน ลงได้ทั้งหมดเฉลี่ย 10-20% และตั้งเป้าในปี 2552 จะปรับลดราคายาลงอีกประมาณ 10-50% ในกลุ่มยารักษาโรค ประมาณ 20 รายการ

นพ.วิทิต กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ จะทำหนังสือผ่าน รมว.สาธารณสุขเพื่อส่งถึง นายชวรัตน์ ในการเจรจากับกระทรวงการคลังในเรื่องการงดส่งกำไรคืนกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเป็นเวลา 5 ปี เพื่อนำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา ขณะเดียวกันการตั้งเป้าองค์กรให้มียอดขาย 2 หมื่นล้านบาท ด้วยกำลังคนเท่าเดิมนั้น ก็ต้องอาศัยแรงจูงใจ ให้พนักงานได้ค่าแรงที่เหมาะสม แต่อาจไม่เท่ากับภาคเอกชนก็ตาม แต่เชื่อว่า พนักงานของ อภ.ก็รับได้ ซึ่งเท่าที่เคยดำเนินการในบางหน่วยของ อภ.ก็ได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น