สกอ.ห่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำบัณฑิตตกงาน เร่งสำรวจจำนวน สาขาบัณฑิตที่ตกงาน เพื่อวางแผนรับมือ และแก้ไขปัญหา ด้าน “สุขุม” เตรียมเสนอ รมว.ศธ.ตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะผู้ดูแลการผลิตในแต่ละระดับการศึกษา และตัวแทนจากสถานประกอบการ ทำหน้าที่เตรียมความพร้อมของบัณฑิตก่อนออกสู่ตลาดแรงงาน แก้ปัญหาจบแล้วไม่มีงานทำ
จากกรณีที่สภาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ระบุว่า ในปี 2552 จะมีคนว่างงานกว่า 2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้จะรวมบัณฑิตที่จบการศึกษาในต้นปี 2552 ประมาณ 7 แสนคนด้วยนั้น
ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า สภาวะเศรษฐกิจขณะนี้เป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะที่คาดการณ์ว่าจะมีการปิดกิจการ และทำให้คนตกงานเป็นล้านคนย่อมต้องส่งผลกระทบต่อบัณฑิตที่จะจบใหม่แน่นอน โดยในแต่ละปีจะมีบัณฑิตจบจากสถาบันอุดมศึกษาประมาณ 3 แสนกว่าคน หากรวมผู้จบ ปวส.และ ปวช.ด้วย จะมีถึง 5-6 แสนคน ดังนั้น ตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือใน กกอ.เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
โดยต้องหาข้อมูลที่ชัดเจนว่า สถานการณ์จริงเป็นอย่างไร และจะส่งผลแค่ไหนอย่างไร เช่น คนที่จะตกงานนั้นเป็นแรงงานระดับไหน สาขาอะไร จำนวนเท่าใด เพื่อจะได้วางแผนในการแก้ปัญหาได้ถูกต้อง รวมทั้งต้องดูภาพรวมของบัณฑิตที่จบในปีการศึกษา 2550 ซึ่งกำลังหางานทำว่าเป็นอย่างไร
แต่จากข้อมูลของปีที่ผ่านมาเฉลี่ยแล้วบัณฑิตปริญญาตรีที่จบออกมาจะมีงานทำเฉลี่ย 70-80% หรือบางสาขา 90% ส่วนที่เหลืออาจจะไปศึกษาต่อที่ตกงานน้อยมาก อย่างไรก็ตามบัณฑิตที่จบในสาขาวิทยาศาสตร์ แพทย์ทัตแพทย์ พยาบาล หรือที่จบไปเป็นหัวหน้าไม่ค่อยน่าห่วงว่าจะตกงาน แต่บัณฑิตสายสังคมศาสตร์ยังน่าห่วงอยู่ แต่ถ้าเป็นกลุ่มบริการ งานโรงแรมก็น่าจะพอมีงานบ้าง ดร.สุเมธ กล่าวต่อไปว่า
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้องกลับมาดูมาตรการต่างๆ ที่ สกอ.สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยดำเนินการร่วมมือกับสถานประกอบการ เช่น โครงการสหกิจศึกษาที่ให้นิสิตนักศึกษาไปหาประสบการณ์จริงในสถานประกอบการนั้น มีผลทำให้บัณฑิตมีงานทำมากขึ้นหรือไม่ด้วย และเร็วๆ นี้ ตนจะไปหารือกับสถานประกอบการต่างๆ เพื่อกระตุ้นความร่วมมือและขอข้อมูลจากสถานประกอบการว่าต้องการกำลังคนอย่างไร
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยต้องบอกคุณสมบัติของบัณฑิตที่จะจบมาได้ว่าสามารถทำอะไรเป็นบ้าง เพื่อจะได้มาร่วมกันวางแผนการผลิตกำลังคนได้ถูกทิศทาง รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดีฝ่ายศูนย์การศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) ฐานะที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัญหาการว่างงานเป็นเรื่องสำคัญมาก
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คงต้องเตรียมหามาตรการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ตนจะนำเสนอในที่ประชุมที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ประกอบด้วย ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะผู้ดูแลการผลิตในแต่ละระดับการศึกษา และตัวแทนจากสถานประกอบการ ทำหน้าที่เตรียมความพร้อมของบัณฑิตที่จะจบการศึกษาในแต่ละปีว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง รวมถึงทำอย่างไรที่จะเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิตให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานให้มากขึ้น
โดยเบื้องต้นเห็นว่า สามารถแบ่งกลุ่มบัณฑิตได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่จบแล้วตลาดแรงงานต้องการตัวทันที กลุ่มที่ได้งานทำไม่ตรงสาขาที่เรียนจบ กลุ่มที่สร้างงานเอง เช่น เปิดร้านขายของต่างๆ และกล่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่ตกงานแน่ๆ ซึ่งกลุ่มนี้น่าห่วงมากที่สุดจำเป็นต้องหาวิธีการส่งเสริมให้สามารถใช้ชีวิตการว่างงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นให้เรียนต่อ หรือจัดฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้เป็นที่ต้องการของผู้ใช้แรงงานในอาคต
“กระทรวงศึกษาธิการคงทำหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องหันมาดูเรื่องการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้ที่กำลังเรียนอยู่ด้วย โดยการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนทุกระดับชั้นการศึกษา โดยเปิดโอกาสให้สถานประกอบการได้มีโอกาสเข้ามาคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถที่จะเข้าทำงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา หรือเข้ามาฝึกปฏิบัติจริงเพื่อเตรียมเข้าทำงาน ไม่ใช่รอให้จบก่อน หากทำได้ก็จะช่วยลดปัญหาการว่างงานของบัณฑิตได้ในระดับหนึ่ง” รศ.ดร.สุขุม กล่าว
รองอธิการบดีฝ่ายศูนย์การศึกษา มสด.กล่าว่าไปว่า ในส่วนของ มสด.ไม่ค่อยเป็นห่วงเรื่องปัญหาการว่างงานของบัณฑิตมากนัก เพราะสาขาวิชาที่เปิดสอนส่วนใหญ่เป็นสาขาที่ตลาดแรงงานยังมีความต้องการอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นด้านปฐมวัย หรือด้านงานบริการ แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในแต่ละปีก็ยังมีบัณฑิตส่วนหนึ่ง แม้จะไม่มากตกงานไม่มีงานทำอยู่ดี ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท และเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจในปีหน้า ตนจะนำเสนอในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเช่นกันเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาทุกชั้นปี ไม่เฉพาะผู้ที่จะจบการศึกษาในปีหน้าเท่านั้น
ซึ่งการเตรียมความพร้อมดังกล่าวถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น จำเป็นต้องเตรียมวางแผนเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย โดยอาจต้องมีการทบทวนแผนการรับนักศึกษาในปีต่อๆ ไป โดยเปิดรับนักศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนหามาตรการหรือเตรียมโครงการสนับสนุนให้บัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงานให้มากขึ้น โดยประสานงานกับสถานประกอบการที่เป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ สำหรับปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อการเรียนของนักศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ นั้น ตนเห็นว่า คงต้องหามาตรการช่วยเหลือให้นักศึกษาได้เรียนต่อจนจบการศึกษา เช่นการผ่อนผันการชำระค่าหน่วยกิต หรือให้สามารถผ่อนชำระเป็นงวดๆ ได้ เป็นต้น เรื่องนี้คงต้องหารือในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่ออนุมัติเป็นมาตรการที่ชัดเจนต่อไป
ด้าน นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ประธานกรรมาธิการการศึกษา กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยนี้ ปัญหาเด็กนักเรียน นักศึกษาลาออกจากสถานศึกษากลางคัน เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ ศธ.จะต้องหามาตรการป้องกันและแก้ไข เพราะจากผลวิจัยพบว่า ในจำนวนเด็กที่ออกกลางคันนั้น ร้อยละ 50 มีสาเหตุมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานพบว่ามีอัตราการลาออกจากสถานศึกษากลางคันสูงสุด และส่วนใหญ่อยู่ในระดับชั้น ม.1 และ ม.2 ซึ่ง ศธ.จะต้องเตรียมรับมือในเรื่องดังกล่าวไว้ด้วย