xs
xsm
sm
md
lg

“ประวัติศาสตร์ไทย” วิชาที่หายไปจากตารางเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรื่องราวของประวัติศาสตร์ชาติไทย กลายเป็นเรื่อง “ใกล้ตัว” ที่เด็ก เยาวชน และคนไทยจำนวนไม่น้อย มีความเข้าใจและ “รู้น้อย” กว่าเรื่องไกลตัวอื่นๆ หลายเรื่อง

จากการเปิดเผยของ “ดร.สุเมธ แย้มนุ่น” เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ที่ออกมาบอกว่า จำนวนนักศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และ เอก ที่เรียนสาขาประวัติศาสตร์โดยตรงของไทยนั้น มีอยู่เพียง 2,400 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาทุกระดับที่มีอยู่ทั้งหมดนับล้านคน ถือว่านักศึกษาสาขาประวัติศาสตร์มีเพียง “หยิบมือ” เท่านั้น

ที่สำคัญเหนืออื่นใด พบว่า นักศึกษาในระดับปริญญาตรี มีพฤติกรรมความสนใจที่จะเรียนรู้ หรือศึกษาประวัติศาสตร์น้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ความรู้ ความเข้าใจ และความสนใจในประวัติศาสตร์นั้น จำต้องปลูกฝังกันตั้งแต่ตอนยังเยาว์วัย ดังนั้น การศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน (ป.1-ม.6) จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เด็กจะเรียนรู้ และเกิดความชอบ ความสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์

**เรียนประวัติศาสตร์จากสังคมศึกษา

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ และมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า วิชาประวัติศาสตร์จะอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ซึ่งในสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาก็จะแบ่งออกเป็นรายวิชาย่อยๆ ประกอบด้วย วิชาสังคมศึกษา พุทธศาสนา หน้าที่พลเรือน ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์

“การเรียนของเด็กระดับขั้นพื้นฐานจะไม่ได้แยกวิชาเหล่านั้น ออกมาเป็นรายวิชา ซึ่งวิชาประวัติศาสตร์เราก็ไม่ได้แยกออกมาสอนโดยเฉพาะ แต่จะเรียนแบบบูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งเด็กจะได้เรียนวิชาสังคมศึกษาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง”

ดร.เบญจลักษณ์ กล่าวอีกว่า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะมี 3 มาตรฐานใหญ่ๆ คือ 1.ความเข้าใจความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อย่างเป็นระบบ 2.ความเข้าใจเรื่องพัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตถึงปัจจุบัน เข้าใจความสัมพันธ์ และการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ และ 3.ความเป็นมาของชาติไทย รักและภาคภูมิใจในความเป็นไทย และวัฒนธรรมไทย ซึ่งมาตรฐานใหญ่ทั้ง 3 ประเด็นนี้จะแตกออกเป็นเรื่องต่างๆ ในแต่ละช่วงชั้น
แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในอดีต
“สำหรับเด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งเป็นเด็กประถม เขาจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อให้สามารถและเข้าใจ และตระหนักความสำคัญ และวิธีการทางประวัติศาสตร์ เป็นการศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์อย่างง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง เข้าใจเรื่องสภาพสังคม เศรษฐกิจ ความเป็นมาของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน เด็กจะต้องสามารถอธิบายเรื่องราวพัฒนาการของไทยในสมัยต่างๆ ได้โดยสังเขปแต่จะไม่ลงลึกในรายละเอียดมากนัก ในระดับช่วงชั้น หลักสูตรขั้นพื้นฐานจะเน้นไปที่เรื่องราวในปัจจุบันเป็นหลัก เช่น เรื่องราวพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ราชวงศ์จักรี เพราะเรื่องราวเหล่านี้จะใกล้ตัวเด็ก ซึ่งจะทำให้เขาสนใจและเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ง่าย”

ดร.เบญจลักษณ์ ให้รายละเอียดต่อไปว่า เมื่อเด็กศึกษาถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เด็กวัยนี้พัฒนาการทางสมองจะสามารถจดจำและเข้าใจรายละเอียดได้มากขึ้น หลักสูตรจะพาเด็กย้อนกลับไปศึกษาเรื่องราวของยุคสมัยต่างๆ ในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างละเอียด ตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย จนพัฒนามาเป็นสมัยอยุธยา กรุงธนบุรี มาเรื่อยๆ ที่สำคัญ เด็กจะได้เรียนรู้ถึงอิทธิพลของต่างชาติ ที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศไทยอย่างไรบ้าง

“เมื่อเด็กโตขึ้นมาถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 การพัฒนาการทางสมองก็เติบโตมากขึ้น และเด็กมีความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์มากขึ้นแล้ว ในช่วงวัยนี้หลักสูตรจะเน้นให้เด็กได้คิดวิเคราะห์เป็นหลัก การเรียนการสอนจะเป็นเชิงวิเคราะห์ทั้งหมด ในประเด็นประวัติศาสตร์ชาติไทย ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการพัฒนาความเป็นชาติ แนวคิดความเป็นมาของชาติไทย ปัจจัยที่มีผลต่อการสถาปนาอาณาจักรต่างๆ และจะมีการหยิบยกเอาประวัติบุคคลสำคัญในประวัติสาสตร์ชาติไทยมาเรียนรู้ เพื่อให้เด็กได้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ และสถาบันสำคัญของไทย รวมถึงเข้าใจความเชื่อมโยงของสภาพสังคม เศรษฐกิจ และอิทธิพลจากปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อประเทศเราด้วย” ผอ.สำนักวิชาการ และมาตรฐานการศึกษากล่าว

**หนุนเพิ่มชั่วโมงเรียนเรื่องชาติไทย

ดร.เบญจลักษณ์ บอกอีกว่า การยกร่างและกำหนดหลักสูตรประวัติศาสตร์ของ สพฐ.นั้น จะทำในรูปคณะกรรมการยกร่าง โดยมีคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ร่วมในการพัฒนาหลักสูตรด้วย และหลังจากที่ประกาศใช้หลักสูตรไปแล้ว สพฐ.จะมีการประเมินผลการใช้หลักสูตร และปรับปรุงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเกิดความชัดเจนและทันสมัยอยู่เสมอทุกๆ ปี ซึ่งเมื่อหลักสูตรถูกใช้ไปประมาณ 6-10 ปี ก็จะต้องปรับปรุงครั้งใหญ่สักครั้งหนึ่ง เป็นการปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับปัจจุบัน และรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

“ขณะนี้ สพฐ.ส่งเสริมให้สถานศึกษาเพิ่มชั่วโมงเรียนเกี่ยวกับประเทศชาติเข้าไปให้มากขึ้นอีกอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพราะในยุคโลกาภิวัตน์ เด็กเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ได้จากสภาพแวดล้อมและสื่อโดยทั่วไป แต่เรื่องของชาติไทยนั้นโรงเรียนควรเสริมให้กับเขา เพื่อให้เกิดความรัก ภาคภูมิใจ และหวงแหนความเป็นไทยตั้งแต่วัยเยาว์

ผอ.สำนักวิชาการฯ กล่าวอีกว่า หลังจากที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ทรงห่วงใยเกี่ยวกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย สพฐ.ก็ได้ร่วมมือกับกองทัพบก และกรมศิลปากร ทำโครงการพัฒนาการสอนประวัติศาสตร์ 4 ภูมิภาค จัดทำหนังสือเสริมประสบการณ์ประวัติศาสตร์ไทยให้กับครูผู้สอน และสนับสนุนให้โรงเรียนจัดทำศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติสาสตร์ไทยในโรงเรียน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในสถานศึกษาให้กับเด็กด้วย

“พ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญ ที่จะช่วยให้เด็กสนใจเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ โดยการพาเด็กไปเที่ยวในแหล่งเรียนรู้ เช่น พิพิธภัณฑ์ต่างๆ หรือแหล่งโบราณสถาน จะเป็นการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ไทยให้เด็กได้รับรู้ทางหนึ่ง ซึ่งพ่อแม่จะเป็นครูที่ดีที่จะปลูกฝังประวัติศาสตร์ให้ลูกๆ ได้รู้ถึงความวิริยะอุตสาหะในการสร้างชาติ ซึ่งจะซึมซับอยู่จิตใจของเด็ก ทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทยได้อย่างดี”ดร.เบญจลักษณ์ กล่าวฝากไปยังพ่อแม่ทุกคน
กำลังโหลดความคิดเห็น