xs
xsm
sm
md
lg

“บุญลือ” สั่ง สกอ.ร่อนหนังสือเวียน ม.ทั่วประเทศ ติง นศ.ชุมนุมเสี่ยงเสียอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บุญลือ” ไม่ห้ามนิสิต นักศึกษา หยุดเรียนร่วมพันธมิตรฯ แต่ขอให้ตรวจสอบเวลาเข้าเรียนให้เป็นไปตามที่หลักสูตรกำหนด เผยสั่งการให้ สกอ.ส่งหนังสือเวียนถึง ม.ทั่วประเทศ ติง นศ.เคลื่อนไหวทางการเมือง อาจขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เสี่ยงเสียอนาคต ขณะที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ระบุ การลาหยุดของนักศึกษาถือเป็นสิทธิที่กระทำได้

นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มเครือข่ายนิสิตนักศึกษาเยาวชนกู้ชาติ ออกแถลงการณ์เชิญชวนนิสิตนักศึกษาและอาจารย์ทั่วประเทศใช้มาตรการอารยะขัดขืนด้วยการหยุดการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย.เป็นเวลา 3 วัน เพื่อมาร่วมชุมนุนกับพันธมิตรฯขับไล่รัฐบาล ว่า ในฐานะที่ตนกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงมีความเป็นห่วงในความปลอดภัยของนิสิต นักศึกษา เนื่องจากขณะนี้พื้นที่ในกรุงเทพมหานครอยู่ภายใต้การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงได้สั่งการให้ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ทำหนังสือเวียนถึงสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งเตือนให้นิสิต นักศึกษาใช้ความระมัดระวังในการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งอาจจะหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมาย และเสียอนาคตทางการศึกษาได้

“ผมไม่ห้ามที่นิสิต นักศึกษา หรือเยาวชน จะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นกังวลว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาอาจสุ่มเสี่ยง หรือเข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะหากพิจารณาประวัติศาสตร์ เมื่อครั้ง 14 ตุลา 16 หรือ พฤษภา 2535 ก็มีนิสิต นักศึกษา ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และทำผิดกฎหมายทำให้ต้องเสียอนาคตไป ซึ่งผมได้เน้นย้ำเป็นพิเศษสำหรับนิสิต นักศึกษาในพื้นที่ กทม.และเขตปริมณฑล เพราะหากเข้ามาเคลื่อนไหวใน กทม.แล้ว ก็ต้องรู้ว่าขณะนี้กฎหมายสูงสุดที่บังคับใช้ใน กทม.ขณะนี้ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการพูดจากันมาตลอดว่าจะใช้แนวทางสันติ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ผู้รับผิดชอบจะใช้มาตรการสลายการชุมนุม ผมจึงเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของนิสิต นักศึกษา”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

นายบุญลือ กล่าวอีกว่า ส่วนการนัดหยุดเรียนของนิสิต นักศึกษา นั้น นิสิต นักศึกษาก็ต้องดูแลเรื่องเวลาเรียนของตนเอง เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีอธิการบดีที่กำกับดูแลแต่ละสถาบันอยู่แล้ว ซึ่งหลักสูตรแต่ละหลักสูตรจะกำหนดเวลาในการเข้าเรียนไว้ชัดเจน ดังนั้น หากนิสิต นักศึกษาจะหยุดเรียน ก็เป็นสิทธิของแต่ละคน เพียงแต่ขอให้ตรวจสอบเวลาเข้าเรียนให้เป็นไปตามที่หลักสูตรแต่ละแห่งกำหนด หากเวลาเข้าเรียนครบก็คงไม่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารแต่ละมหาวิทยาลัยก็ต้องดูแลเรื่องนี้ด้วย
นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศึกษาธิการ
ด้าน ดร.สุเมธ กล่าวว่า การหยุดการเรียนการสอนนั้นแต่ละมหาวิทยาลัยมีกฎระเบียบกำหนดถึงระยะเวลาว่าจะสามารถหยุดได้มากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ สกอ.ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวหรือแสดงออกของกลุ่มนิสิตนักศึกษา เป็นสิทธิที่จะกระทำได้ แต่ก็ต้องดูเหตุผลและความจำเป็น รวมถึงผลกระทบรอบด้านที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ส่งหนังสือถึงผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดทุกแห่งยืนยันถึงสิทธิในการแสดงออกที่พึงกระทำได้ โดย สกอ.ไม่เข้าไปขัดขวาง เพียงแต่เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย รวมถึงการใช้เวลาของนิสิตนักศึกษาที่อยากให้คำนึงถึงตนเองและผลกระทบด้วย

ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะผู้บริหารจุฬาฯ ทุกคนต่างรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รู้สึกห่วงใยในสวัสดิภาพของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ และพื้นที่ใกล้เคียง ก่อนเกิดเหตุการณ์รุนแรง คณะผู้บริหารได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด และรู้สึกสลดใจยิ่งต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกๆ ครั้ง ทั้งไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งบานปลาย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการจลาจลนองเลือดเหมือนเช่นเคยเกิดขึ้นในอดีต จุฬาฯขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างมีสติ หลีกเลี่ยงความรุนแรง ใช้สันติวิธีภายใต้ระบบนิติรัฐและหลักนิติธรรม การแตกต่างทางความคิดไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง หรือใช้กำลังเข้าห้ำหั่นประหัตประหารกัน ที่ประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันใช้ความพยายามในการคลี่คลายสถานการณ์ให้กัลป์สู่ภาวะปกติ โดยเร็วที่สุด

สำหรับกรณีที่นิสิตจุฬาฯ ได้แสดงความคิดเห็นในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันในรูปแบบต่างนั้น ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการเรียนรู้ที่จะร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิด และนิสิตทุกคนมีเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกในด้านต่างๆ ต่อสังคมเสมอในแนวทางสันติวิธี

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ไม่ได้ประกาศหยุดการเรียนการสอน และการแสดงออกของนักศึกษาถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่พึงกระทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานของกฎหมาย โดยไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น มธ.เป็นมหาวิทยาลัยการเมือง การเคลื่อนไหวใดๆ ภายใต้ขอบเขตสามารถกระทำได้ และระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยก็ค่อนข้างอิสระ เพราะถือว่านักศึกษาเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถรับผิดชอบตนเองได้

ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิทย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวว่า โดยระเบียบมหาวิทยาลัย นักศึกษาสามารถลาป่วย ลากิจ ได้ตามสิทธิไม่เกิน 20% ของเวลาเรียน หรือประมาณ 2 สัปดาห์ต่อภาคการศึกษา และการแสดงออกทางการเมืองก็เป็นสิทธิที่นักศึกษาจะกระทำได้ แต่ก็ขอให้อยู่ในขอบเขต อย่าใช้ความรุนแรง และต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง โดยคำนึงถึงการเรียนด้วย ซึ่งจากการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ 40 แห่ง ก็ยังมีความเห็นที่แตกเป็น 3 ฝ่ายคือ เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ เห็นด้วยกับรัฐบาล และขอเป็นกลาง ดังนั้น จุดยืนของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ คงขอเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่าย อย่าใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา และขอให้ทั้งสองฝ่ายถอยกันคนละก้าว เพื่อให้มีการเจรจา เพราะการยืนกระต่ายขาเดียวของแต่ละฝ่ายย่อมไม่เกิดผลดี
กำลังโหลดความคิดเห็น