xs
xsm
sm
md
lg

ยอดผู้ป่วยน้ำท่วมทะลุ 1 แสน สธ.มอบยาเพิ่มอีก 1 หมื่นชุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.มอบยาเพิ่มอีก 10,000 ชุด ให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาที่เข้าไปฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำท่วม นำไปแจกประชาชน เผย ยอดผู้เจ็บป่วยรวมกว่า 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นน้ำกัดเท้า ไข้หวัดใหญ่ และมีสถานบริการสาธารณสุขเสียหาย 50 แห่ง จาก 12 จังหวัด แต่ไม่กระทบต่อการให้บริการ

วันนี้ (22 ต.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมส่วนใหญ่คลี่คลายลงแล้ว แต่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ ยังคงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง และการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เป็นแหล่งเชื้อโรค ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดในพื้นที่หลังน้ำลด

ทั้งนี้ ในการฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่หลังน้ำท่วม ซึ่งมีหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นกำลังหลักในการดำเนินงาน ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงให้การสนับสนุนยาจำนวน 10,000 ชุดให้กับ พลเอกเสถียร เพิ่มทองอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการ กองทัพไทย ซึ่งจะส่งกำลังพลเข้าไปพัฒนาพื้นที่หลังน้ำท่วม เพื่อนำไปมอบให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัย

สำหรับผลการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2551 - 21 ตุลาคม 2551 หน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ออกปฏิบัติการรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยทั้งหมด 1,203 ครั้ง มีผู้เจ็บป่วยรวม 100,117 ราย ทั้งหมดนี้เจ็บป่วยทั่วๆ ไป อาการไม่รุนแรง โรคที่พบมากที่สุดได้แก่ น้ำกัดเท้าจำนวน 31,817 ราย รองลงมา คือ ไข้หวัด 29,062 ราย ไม่มีรายงานโรคระบาดทุกพื้นที่ โดยมีผู้เสียชีวิตรวม 26 ราย

นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า การสนับสนุนช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุขได้ สนับสนุนยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพิ่มเติมให้จังหวัดต่างๆ รวมทั้งสิ้น 597,750 ชุด ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า 57,500 ตลับ ยาพ่นตระไคร้หอมกันยุง 4,000 ขวด รวมทั้งเวชภัณฑ์อื่นๆ เช่น คลอรีน สารส้ม เพื่อใช้ปรับสภาพน้ำและฆ่าเชื้อในบ่อน้ำที่ถูกน้ำท่วม โซดาไฟสำหรับล้างตลาดสด รองเท้าบู้ทใส่ป้องกันโรคฉี่หนู

ผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้สถานบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหายทั้งหมด 50 แห่ง ใน 12 จังหวัด ประกอบด้วย ลพบุรี 19 แห่ง ขอนแก่น 7 แห่ง พระนครศรีอยุธยา 6 แห่ง นครราชสีมา 5 แห่ง สระบุรี หนองบัวลำภู จังหวัดละ 3 แห่ง บุรีรัมย์ 2 แห่ง พิษณุโลก พิจิตร ปราจีนบุรี ชัยภูมิ และนครนายก จังหวัดละ 1 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถานีอนามัย อย่างไรก็ตาม ความเสียหายดังกล่าวไม่ส่งกระทบต่อการให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยแต่อย่างใด

กำลังโหลดความคิดเห็น