xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยยอดผู้เจ็บป่วยน้ำท่วม รอบ 24 วัน พุ่ง 217,308 ราย เสียชีวิต 24 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 สธ. เผยผลการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในรอบ 24 วัน หน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ออกปฏิบัติการ 1,073 ครั้ง ตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยไปแล้ว 217,308 ราย พบโรคน้ำกัดเท้า ผื่นคัน มากที่สุด ไม่มีใครป่วยหนัก ไม่มีโรคระบาด มีผู้เสียชีวิตจากเหตุจมน้ำ 24 ราย ยันจะให้การดูแลประชาชนต่อเนื่อง และเฝ้าระวังป้องกันโรคในพื้นที่หลังน้ำลดแล้วต่อไปอีก 1 เดือน

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ขณะนี้ส่วนใหญ่จะคลี่คลายลงแล้ว แต่หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ยังคงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ และการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งรังโรคควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดในพื้นที่หลังน้ำลดที่สำคัญคือโรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก ซึ่งจะเฝ้าระวังต่อไปเป็นเวลา 1 เดือนทุกพื้นที่

นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินการในรอบ 24 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2551 - 4 ตุลาคม 2551 ได้จัดหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ออกปฏิบัติการรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยทั้งหมด 1,073 ครั้ง มีผู้เจ็บป่วยรวม 217,308 ราย ทั้งหมดนี้เจ็บป่วยทั่วๆไป อาการไม่รุนแรง โรคที่พบมากที่สุดได้แก่ น้ำกัดเท้าและผื่นคัน พบได้ 1ใน 5 ของผู้ป่วยทั้งหมด รองลงมาคือไข้หวัด ไม่มีรายงานโรคระบาดทุกพื้นที่ โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุจมน้ำรวม 24 ราย

“ในส่วนของการสนับสนุนช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือน้ำท่วมของสธ.ได้ สนับสนุนยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพิ่มเติมให้จังหวัดต่างๆ รวมทั้งสิ้น 490,250 ชุด ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า 57,500 ตลับ ยาพ่นตระไคร้หอมกันยุง 7,000 ขวด รวมทั้งเวชภัณฑ์อื่นๆเช่นคลอรีน สารส้ม เพื่อใช้ปรับสภาพน้ำและฆ่าเชื้อในบ่อน้ำที่ถูกน้ำท่วม โซดาไฟสำหรับล้างตลาดสด รองเท้าบูทใส่ป้องกันโรคฉี่หนู”  โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

นพ.สุพรรณ กล่าวต่ออีกว่า ผลจากน้ำท่วมครั้งนี้ สถานบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหายทั้งหมด 44 แห่ง ใน 11 จังหวัด ประกอบด้วยลพบุรี 19 แห่ง ขอนแก่น 7 แห่ง นครราชสีมา 5 แห่ง สระบุรี หนองบัวลำภู จังหวัดละ 3 แห่ง บุรีรัมย์ 2 แห่ง พิษณุโลก พิจิตร ปราจีนบุรี ชัยภูมิ และนครนายก จังหวัดละ 1 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถานีอนามัย ทั้งหมดนี้ไม่กระทบต่อการให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยแต่อย่างใด

กำลังโหลดความคิดเห็น