สธ.สรุปผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในรอบ 13 วัน มีผู้ป่วย 152,761 ราย 1 ใน 3 เป็นโรคน้ำกัดเท้า และมีผู้เสียชีวิต 17 ราย วันนี้จัดส่งยารักษาโรคน้ำกัดเท้าและยาสามัญประจำบ้าน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม 55,000 ชุด ด้านจิตแพทย์แนะวิธีคลายเครียดประชาชนที่ประสบภัย ควรพูดคุยกับคนใกล้ชิด พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน และงดดื่มเหล้า เนื่องจากจะทำให้เครียด คิดฆ่าตัวตาย
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ออกให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ประสบภัยทุกวัน รวม 863 หน่วย ยอดผู้ป่วยสะสมในรอบ 13 วันมานี้ มีทั้งหมด 152,761 ราย เสียชีวิต 17 ราย ผู้ป่วยที่พบประมาณ 1 ใน 3 เป็นโรคน้ำกัดเท้า รองลงมาคือโรคไข้หวัด อาการไม่รุนแรง ไม่ถึงขั้นนอนรักษาในโรงพยาบาล และพบมีความเครียด นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ร้อยละ 5 ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ให้การดูแลอย่างเต็มที่
ในวันนี้ (24 ก.ย.) สธ.ได้จัดส่งยารักษาโรคน้ำกัดเท้าและยาสามัญประจำบ้าน รวม 55,000 ชุด ให้ 9 จังหวัดที่ประสบภัย ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา ลพบุรี อุดรธานี บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี นครสวรรค์ สุโขทัย และนนทบุรี
ด้านนายแพทย์อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวแนะนำการดูแลสุขภาพจิตใจ เพื่อลดความเครียดจากภาวะน้ำท่วมว่า อันดับแรกประชาชนที่ประสบภัยไม่ควรอยู่คนเดียว ควรพูดคุยกับคนใกล้ชิด เพื่อเป็นการผ่อนคลายระบายความเครียด ไม่คิดฟุ้งซ่าน ประการที่ 2 ควรพักผ่อนให้เพียงพอ คือนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ไม่ควรอดนอน เพราะยิ่งอดนอนมากเท่าใด ปัญหาความเครียดจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และประการสุดท้ายควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะเหล้าไม่ใช่วิธีแก้ไขความเครียดที่ถูกต้อง และมีอันตรายตามมา เนื่องจากสารสำคัญที่เกิดจากการเผาผลาญเหล้าคือ เตตราไฮโดรไอโสควิโนลินส์ (Tetrahydro isoquinolines) สารนี้จะไปทำลายสารบี-เอนโดรฟิน (B-endorphin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขสร้างจากสมอง ทำให้ผู้ดื่มสูญเสียความรู้สึกของการปกติสุข หรือจิตใจที่สงบไป ทำให้สภาพจิตใจและอารมณ์อ่อนไหวได้ง่าย ไม่สามารถอดทนต่อความกดดัน ภาวะเครียดของตนเองและผู้อื่น และอาจคิดฆ่าตัวตายได้