สธ.จัดทำแผนความร่วมมือคุมเมลามีน พร้อมเตรียมเสนอ ก.พาณิชย์แก้ให้นมเป็นสินค้าต้องที่ต้องแจ้งแหล่งกำเนิด ควบคุมให้ใช้เมลามีนในอุตสาหกรรมที่จำเป็น จี้กรมศุลกากร-ก.เกษตรฯ ตรวจสอบการนำเข้า เหตุพบผู้ประกอบการสำแดงเท็จแจ้งเป็นอาหารสัตว์ ขณะที่ อย.เผยพบทาวน์เฮาส์ย่านมีนบุรี นำนมผงแบ่งใส่ถุงขายเข้าข่ายต้องสงสัยผสมเมลามีน ส่วนผลตรวจครีมเทียมเบิดวิงซ์ เนยชนิดเค็มตราออร์คิดและคุกกี้เอสแอนด์พี ไม่พบสารเมลามีนปนเปื้อน
วันนี้ (20 ต.ค.) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนความร่วมมือ (ROADMAP) ระหว่างหน่วยงานทั่วประเทศในการกำกับดูแลกรณีของปัญหาสารปนเปื้อนเมลามีน เพื่อสร้างความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค โดยให้มีการควบคุมตั้งแต่ต้นทางก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะถึงมือผู้บริโภค สำหรับการนำเข้านั้น กรมศุลกากรต้องตรวจสอบสินค้ากลุ่มเสี่ยงทั้งหมด โดยเพิ่มความละเอียดในการตรวจสอบมากขึ้น
ทั้งนี้ การนำเข้านมผงถือเป็นอาหารควบคุมพิเศษ บริษัทที่ต้องการนำเข้าต้องขึ้นทะเบียนกับทาง อย. แล้วต้องนำหลักฐานมาขออนุญาตอีกครั้ง เพื่อนำหลักฐานไปออกสินค้าจากกรมศุลกากร แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายมีการสำแดงเท็จโดยการแจ้งเป็นอาหารสัตว์ เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจ ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานกับกรมศุลกากรในการตรวจสอบที่เข้มงวดกว่าเดิม
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการต้องเฝ้าระวังอาหารในโรงเรียนให้อาหารกลุ่มเสี่ยงปราศจากการปนเปื้อน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอกระทรวงพานิชย์ ให้พิจารณากำหนดเมลามีนต้องขออนุญาตนำเข้า ให้นมเป็นสินค้าที่ต้องแจ้งแหล่งกำเนิดสินค้า และให้กระทรวงอุตสาหกรรม ควบคุมให้เมลามีนที่นำเข้ามีการใช้ในอุตสาหกรรมที่จำเป็น เช่น ภาชนะ หมึกพิมพ์ กาว
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือกับเครือข่ายงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขทั้ง 75 จังหวัด จัดทำแผนเก็บตัวอย่างอาหารกลุ่มเสี่ยงทุกชนิด และผู้ผลิตนม และผลืตภัณฑ์อาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบทุกรายต้องมีส่วนรับผิดชอบในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของตนเอง ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบวัตถุดิบ ที่ต้องปราศจากการปนเปื้อนสารเมลามีนทั้งหมด หากจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบในการผลิต ต้องมีการตรวจสอบวัตถุดิบเอง หากสั่งซื้อผ่านผู้นำเข้ารายอื่น ควรตรวจสอบว่ามีหลักฐานการตรวจสอบว่าไม่มีการปนเปื้อนจึงจะเข้าสู่กระบวนการผลิตได้
“ผู้ประกอบการต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบคุณภาพ โดยในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ จะมีการเรียกประชุมผู้ประกอบการ เพื่อขอความร่วมมือโดยอาจมีการตั้งเป็นกองทุนในการตรวจสอบโรงงานหรือสถานประกอบการที่ยังกระทำผิดอยู่ ให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาซึ่งจะเกิดประโยชน์ในการตรวจสอบมากขึ้น”
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากนี้ไปทางอย.จะทำการสุ่มตรวจนมและอาหารอื่นๆ ที่มีนมเป็นส่วนประกอบที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และให้ประชาชนที่พบเบาะแสการกระทำผิด หรือสิ่งผิดปกติ สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่เบอร์ 1556 และ 1669 ซึ่งล่าสุด มีการแจ้งเข้ามาว่า ทาวน์เฮาย่านมีนบุรี มีการเก็บนมผงไว้เพื่อแบ่งใส่ถุงขาย ซึ่งอาจเข้าข่ายต้องสงสัยว่ามีนมผงมีสารปนเปื้อนหรือไม่ ซึ่งทาง อย.กำลังเข้าไปดำเนินการตรวจสอบคาดว่าผลสรุปจะทราบในเร็วๆ นี้ โดยหากพบว่าผู้ประกอบการรายใดมีการผลิตอาหารที่มีสารปนเปื้อนสารเมลามีน ก็จะดำเนินการทางกฎหมายทันที โดยมีโทษจำคุก 6 เดือน - 2 ปี และปรับ 5,000-20,000 บาทรวมทั้ง อย.จะสั่งงดการผลิตในสายการผลิตที่มีปัญหา หรือหากพบว่ามีขนาดของการปนเปื้อนสูง โดยความเห็นชอบของ อย.จะสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือปิดโรงงานจนอาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต
นพ.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่เกิดปัญหาสารเมลามีนปนเปื้อนในอาหาร ได้มีการจัดเก็บตัวอย่างวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ส่งวิเคราะห์หาสารเมลามีนแล้ว 857 รายการ ได้รับผลยืนยันจากห้องปฏิบัติการแล้ว 640 รายการ ซึ่งพบวัตถุดิบที่ปนเปื้อนเพียง 2 รายการ คือ นมผงนำเข้าจากจีน 120 ตัน ซึ่งยังไม่ได้เข่าสู่ขั้นตอนการผลิต และพบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพียง 1 รายการเท่านั้น คือ นมข้นแปลงไขมันไม่หวาน ตรา มะลิ รุ่นหมดอายุ 16-01-09 ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของบริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ผลตรวจ 2 รายการได้แก่ ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมัน ตรา เบิดวิงซ์ เนยชนิดเค็ม ตรา ออร์คิด ผลปรากฎว่าไม่พบสารเมลามีนปนเปื้อน สำหรับผลิตภัณฑ์คุ้กกี้ของบริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเขท จำกัด (มหาชน) ผลวิเคราะห์ปรากฏว่าไม่พบสารปนเปื้อนเมลามีนเช่นกัน