xs
xsm
sm
md
lg

“พระที่นั่งทรงธรรม” ความงามแห่งอาคารประกอบ “พระเมรุ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาบริเวณท้องสนามหลวง ณ เวลานี้คงจะเห็นองค์พระเมรุที่ตั้งสูงเด่นเป็นสง่า เพื่อใช้รองรับพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งในหมู่ของสิ่งก่อสร้างทั้งหมดนั้นยังมีหลายส่วนที่มีความสำคัญ หนึ่งในนั้นคือ “พระที่นั่งทรงธรรม”
‘ลายดอกดวงก้านแย่ง’ บริเวณหลังที่ประทับ
พระที่นั่งทรงธรรมในงานพระเมรุนั้น ใช้เป็นที่ประทับสำหรับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ ฟังพระพิธีธรรม ดังนั้น ในการเตรียมการเพื่อจัดสร้างพระที่นั่งฯ องค์นี้จึงมีความสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น โดยในส่วนงานประดับตกแต่งภายในของพระที่นั่งฯ นั้นอยู่ในความรับผิดชอบของ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ผศ.บัณฑิต อินทร์คง
** ตกแต่งภายในที่ประทับ งานสำคัญยากจะลืม
ผศ.บัณฑิต อินทร์คง
หัวหน้าสาขาวิชาศิลปะไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะของประธานดำเนินงาน และออกแบบลวดลายตกแต่งภายในพระที่นั่งทรงธรรม ให้ข้อมูลว่า การประดับตกแต่งภายในองค์พระที่นั่งทรงธรรมที่รับผิดชอบนั้นอยู่ในส่วนของที่ประทับ ซึ่งเมื่อได้รับงานมาก็ได้ทำการเสนอแบบ โดยมีการปรึกษากับ “น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น” ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำให้ออกแบบลวดลายแบบ ‘ไทยประเพณี’ ด้วยการตกแต่งโดยใช้สีที่ดูสบายตา เรียบง่าย

“น.อ.อาวุธ ได้เปิดโอกาสให้ออกแบบลวดลายตามแต่เห็นสมควร ซึ่งลวดลายที่นำมาใช้ตกแต่งภายในพระที่นั่งฯ ประกอบด้วย ลายดอกดวงก้านแย่ง ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ลายหน้าขบก้านแย่งหรือลายสิงห์ก้านแย่ง ลายกรวยเชิงประดับ และลายเทพนม โดยได้แนวคิดในการออกแบบตามลักษณะของการตกแต่งลวดลายภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง”
การตกแต่งบริเวณผนังด้านสกัด ด้วย ‘ลายหน้าสิงห์ก้านแย่ง’
ผู้ออกแบบลวดลายขยายความต่อว่า เมื่อขั้นตอนในการออกแบบเสร็จแล้ว ก็ได้มีการกำหนดพื้นที่ในส่วนรับผิดชอบ ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ส่วนสำคัญอันได้แก่ 1.พื้นที่หลังที่ประทับฟังพระพิธีธรรม มีเนื้อที่ประมาณ 18 ตารางเมตร ใช้ลายดอกดวงก้านแย่ง 2. พื้นที่หลังพระพิธีธรรม เนื้อที่ประมาณ 30 ตารางเมตร ใช้ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง 3.พื้นที่ผนังด้านสกัด (พื้นที่หน้าห้องที่ประทับ) เนื้อที่ประมาณ 40 ตารางเมตร ใช้ลายหน้าสิงห์ก้านแย่ง โดยในส่วนล่างใช้ลายกรวยเชิงประดับ ซึ่งพื้นที่ทั้ง 3 ส่วนนี้ได้มีการออกแบบลวดลายให้มีความแตกต่างกันแต่ดูกลมกลืนกันในภาพรวม เพราะอยู่ในพื้นหลังเดียวกัน และ 4.พื้นที่ผนังคอสอง หรือพื้นที่บริเวณคานพระที่นั่งฯ เนื้อที่ประมาณ 20 ตารางเมตร ใช้ลายเทพชุมนุม หรือ เทพนม (ท่านั่ง)

“ระยะเวลาในขั้นตอนการทำทั้งสิ้นประมาณ 2 เดือน เริ่มจากเมื่อได้เนื้อหาของลายแล้วก็จะทำการร่างแบบโดยการออกแบบใส่กระดาษไข จากนั้นทำการขยายแบบลายเท่าจริงพิมพ์ลงบนผ้าใบชนิดพิเศษที่เรียกว่าผ้าแคนวาส ในส่วนของการลงลาย ลงสีนั้นได้มีนักศึกษาในสาขาวิชามาช่วยกันทำงานนี้กว่า 30 คน ทำให้งานดำเนินผ่านไปได้ด้วยดี เสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ โดยส่วนตัวแล้วบอกได้คำเดียวว่าพึงพอใจกับงานชิ้นนี้มากที่สุด เพราะได้คลุกคลี ดูแลการทำงานตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น เมื่องานเสร็จแล้วนำมาติดตั้งปรากฏว่าเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย ทำให้ภูมิใจกับงานครั้งสำคัญนี้เป็นอย่างมาก”
บุญตรี ศรีกะชา
** ความภูมิใจ จาก 2 มือนศ.
ใช่ว่าความภาคภูมิใจครั้งสำคัญนี้จะตกอยู่ที่ผู้ควบคุมงานฝ่ายเดียว แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของเหล่าอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาก็เป็นส่วนเติมเต็มให้งานนี้ผ่านไปได้ด้วยดีเช่นกัน ซึ่งทั้ง “ลาน” บุญตรี ศรีกะชา และ “ทราย” ศิยารัตน์ แก้วคีรี 2 นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาศิลปะไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนอาสาสมัครทำงาน ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจกับงานเบื้องหลังของลวดลายอันวิจิตรงดงามนั้น

“ลาน” เล่าว่า เมื่อทราบจากอาจารย์ถึงภารกิจอันสำคัญที่ได้รับ รู้สึกตื่นเต้น และคาดไม่ถึงว่าจะได้มีส่วนร่วม แต่กับงานที่ตนเองและเพื่อนๆ ได้รับมอบหมายคือขั้นตอนการติดเส้นทอง สอดไส้ลาย และการเก็บรายละเอียดของชิ้นงาน ซึ่งก็เป็นงานที่คุ้นเคยและมีความถนัดทำให้การทำงานไม่มีอุปสรรคใดๆ แต่ที่เป็นกังวลอยู่บ้างก็คือกลัวว่างานจะไม่เสร็จตามที่กำหนด แต่ด้วยความทุ่มเทของทุกคนที่มีส่วนร่วมโดยใช้เวลาหลังเลิกเรียน วันหยุด ทำงานครั้งสำคัญนี้อย่างขยันขันแข็ง งานก็ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ

“เป็นเวลากว่าเดือนเต็มๆ ที่ทุกคนก้มหน้าก้มตาทำงาน ซึ่งเพื่อนๆ ที่มาร่วมกันเป็นอาสาสมัครก็ไม่มีใครบังคับและไม่มีผลต่อคะแนนทั้งสิ้น สิ่งที่เราได้รับนอกเหนือจากการได้ถวายงานรับใช้สถาบันเบื้องสูงแล้ว ยังถือเป็นการฝึกประสบการณ์ที่ดี ในการลงสี ลงเส้น ลงลาย ฝึกการใช้พู่กัน เพราะอนาคตเราก็ต้องอยู่กับงานเหล่านี้ และถึงแม้ว่าเราจะเป็นเพียงแค่เบื้องหลังของงานส่วนหนึ่งก็ตาม แต่เพียงเท่านี้ก็ภูมิใจอย่างที่สุดแล้ว” ลานเผยความรู้สึก
‘ลายเทพชุมนุม หรือเทพนม(ท่านั่ง)’ บนผนังคอสอง
เช่นเดียวกับ ‘ทราย’ ที่บอกเล่าถึงหน้าที่รับผิดชอบในงานครั้งนี้ว่า ได้รับผิดชอบในส่วนของการเก็บรายละเอียดของชิ้นงาน เช่นการลงสีในบางจุดจะมีเนื้อสีไม่เท่ากัน จึงต้องแก้ไขรายละเอียดโดยการไล่สีให้เท่ากัน ส่วนที่เป็นปัญหาในส่วนทำงานคงอยู่ที่การติดตั้ง เนื่องจากพื้นที่บางจุดนั้นเป็นที่สูง ต้องปีนขึ้นไปทำให้เป็นอุปสรรคของการทำงานบ้าง แต่ถึงอย่างไรด้วยความตั้งใจงานก็ผ่านไปได้ด้วยดี ส่วนตัวแล้วการเข้ามาทำงานตรงนี้เป็นความตั้งใจเพื่อฝึกประสบการณ์ในงานครั้งสำคัญ เพราะงานศิลปะนั้นต้องใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์ และการได้มาทำงานใหญ่อย่างนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ยากจะลืม
ศิยารัตน์  แก้วคีรี
สุดท้าย ทรายฝากความรู้สึกไว้ว่า ดีใจและภูมิใจในการเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานครั้งนี้เป็นอย่างมาก และเชื่อว่าเพื่อนๆ อาจารย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนก็คงคิดเหมือนกัน เพราะที่สุดแล้วการทำงานของเราถึงแม้จะเป็นส่วนที่เล็กน้อยก็ตาม แต่เราก็ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี ได้ถวายงานครั้งนี้ให้ออกมาเต็มความสามารถ และออกมาดีที่สุดในชีวิต

ความทุ่มเทสร้างสรรค์งานของเหล่าอาสาสมัคร
กำลังโหลดความคิดเห็น