นับจากปลายหนาวเข้าหน้าแดด ล่วงเลยสู่ฝนหลาก และกำลังจะวนเข้าต้นหนาวอีกครั้ง หลายเดือนผ่านมาคณะทีมผู้ทำงานเบื้องหลังงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เร่งลงมือทำงานในหน้าที่อย่างเงียบๆ ไม่หวั่นร้อน ไม่กลัวฝนแม้แต่น้อย ทั้งนี้เพื่อที่จะถวายความจงรักภักดีด้วยการถ่ายทอดความงดงามของเครื่องประกอบงานพระราชพิธีออกมาให้ไร้ที่ตินั่นเอง
ใครจะรู้ว่าหน้าที่อันไร้ป้ายชื่อผลงานของคนเล็กๆ เหล่านี้มีความหมายต่อจิตใจของพวกเขามากเพียงใด บางคนเคยผ่านงานเล็กยิ่งกว่าเล็กในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ 12 ปีต่อมาพวกเขาได้ถวายงานที่รับผิดชอบมากขึ้น แต่ความรู้สึกหาได้แตกต่างกันไม่ พวกเขาหวังเพียงให้งานที่บรรจงทำไร้ที่ติ และยิ้มอย่างเงียบๆ เมื่อมีคนเอ่ยชม พวกเขาคือผู้ที่ทำให้ความงดงามของพระยานมาศ ราชรถที่จะใช้ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยังคงอยู่ด้วยฝีมือช่าง ประกอบกับอนุรักษ์ของเก่ามิให้สูญสลายตามกาลเวลา
“ผมมาทำงานตรงนี้ก็ไม่ได้อยากประกาศให้ใครรู้ ไม่ใช่อาย แต่เก็บไว้ภูมิใจเงียบๆ ดีกว่า”
เสน่ห์ มหาผล ในบัตรคล้องคอเขามีตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ 6ว. สังกัดสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
กรมศิลปากร และตำแหน่งนอกบัตรเขาคือ พี่หนึ่ง ของน้องๆ ทีมงานจากกลุ่มวิทยาศาสตร์ เพื่อการอนุรักษ์กว่า 20 คนที่เข้ามาทำงานในโรงราชรถนับตั้งแต่หลังการบวงสรวง หน้าที่ของพวกเขาคือ ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สำรวจความเสียหายของราชรถ ราชยานและเครื่องประกอบอื่นๆ ที่จะใช้ในงานพระราชพิธี ประเมินว่าควรซ่อมแซมส่วนใดบ้าง และส่วนใดที่จะต้องเก็บของเดิมไว้เพื่อทำการอนุรักษ์ จากนั้นก็จะเริ่มลงมือทำความสะอาดและซ่อมแซมในส่วนที่เป็นหน้าที่โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ประยุกต์เข้ากับงานเชิงช่าง
“หน้าที่เราจะแตกต่างจากงานช่างที่เป็นการทำใหม่ ยกตัวอย่างเช่น องค์ราชรถน้อยที่กำลังมีการซ่อมแซมก็จะยกของเดิมออกขัดใหม่ตกแต่งใหม่ ทั้งนี้เพราะองค์เดิมชำรุดมากและไม่เคยผ่านการบูรณะมาก่อน แต่ส่วนของเราก็คือหากประเมินแล้วเสียหายน้อยก็จะรักษาของเดิมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทองบางส่วนที่เป็นของเดิมมีความหมายของกาลเวลาถ้าไม่ชำรุดมากก็เก็บของเดิมไว้ เพราะว่าทองเดิมก็ใช้ได้ เพียงแต่ใช้สารเคมี น้ำยาทำความสะอาด ไม่ต้องปิดใหม่ทั้งองค์ กระจกบางส่วนมีความแวว และบางที่หาไม่ได้แล้วก็ไม่เอาออก เพราะงานนี้ไม่ใช่การอนุรักษ์อย่างเดียว เป็นงานเชิงช่างด้วย” พี่หนึ่งอธิบายหน้าที่การทำงาน
หากไม่เจอพิษเศรษฐกิจในปี 2542 กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ อาจจะไม่มีเจ้าหน้าที่ชื่อ เสน่ห์ เป็นแน่ เพราะเขาจะยังคงเป็นพนักงานบริษัทเอกชนต่อไป ชายหนุ่มจากเพชรบุรีผู้นี้ ตัดสินใจหันหลังให้ห้องทดลองเอกชน เข้าสู่วงราชการอย่างเต็มตัว หลังจากที่ทำงานในองค์กรเพียง 2 ปี เขาเริ่มทำความรู้จักและเรียนรู้งานอีกแขนงหนึ่งที่ไม่ใช่แค่เรื่องสารเคมี แต่ได้ซึมซับศิลปะ และงานช่างเข้าไปในตัวทีละเล็กทีละน้อย จนแม้วันนี้จะเข้าสู่ 10 ปีของการทำหน้าที่ไม่ได้ใหญ่โต แต่เขาบอกว่ามีความสุขกับงานที่ทำเต็มที่แล้ว
“รู้สึกสนุกกับงานก็เลยทำ ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เปลี่ยนลักษณะงานไปเลยจากห้องทดลองมาทำงานเชิงช่างด้วย แม้ทางนี้จะมีงานวิจัยบ้างแต่ก็ถือว่าได้ความรู้เพิ่มเติม เกือบ 10 ปีที่มาอยู่ที่นี่ ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาบางทีก็ใช้ได้ แต่ตามหลักอนุรักษ์แล้วไม่ได้ก็ต้องละเอียดอ่อนมากขึ้น เพราะงานอนุรักษ์มีหลักการของเขาเราก็ต้องใส่ใจ บวกงานอนุรักษ์กับวิทยาศาสตร์ให้เข้ากัน” เสน่ห์ เล่าให้ฟังขณะที่มือและสายตาทั้งสองข้างทำงานประสานกันอย่างดีกับชิ้นงานเบื้องหน้าที่เรียกว่า “เสลี่ยงกลีบบัว” ที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ในวันพระราชพิธี
หลายเดือนที่ผ่านมากับการใช้เวลาเกือบจะทุกกลางวันในโรงราชรถ ส่วนงานที่เรียกว่าสำเร็จไปแล้วหนึ่ง คือ การบูรณะองค์มหาพิชัยราชรถ ที่ทำความสะอาดปิดทองและทำการเติมส่วนที่หายไป โดยช่วงนี้พี่ใหญ่ของทีมบอกว่า งานค่อนข้างจะเร่งดังนั้นทุกคนจึงยืดเวลากลับบ้านให้ดึกออกไปอีก เรียกได้ว่าตอนนี้ทำทุกวันไม่มีวันหยุด ร้อนได้ เหนื่อยได้ แต่หยุดไม่ได้ และแม้งานส่วนที่จะทำการซ่อมแซมคาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ก็ตาม แต่ในระหว่างการซ้อมขบวนกลุ่มงานวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ก็ต้องมาคอยเช็คสภาพอีกครั้งเพื่อสำรวจว่ามีส่วนใดที่ชำรุดและต้องซ่อมแซมเพิ่มเติม
“โดยส่วนตัวรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะเราคิดว่าคงไม่มีใครมากมายที่จะได้เข้ามาสัมผัสในจุดนี้ เราได้เข้ามารับใช้ถือว่าเป็นสิ่งที่ได้รับเกียรติมาก จริงๆ แล้วไม่หวังว่าใครจะมาเห็นว่าได้ทำแบบนี้ เราถือว่างานของเราคือเบื้องหลัง และภูมิใจเมื่อเห็นผลงานสำเร็จ ดีใจที่ทำให้ดีที่สุด เราทำอะไรเราก็รู้อยู่แก่ใจอยู่แล้ว ไม่ต้องไปบอกใคร” เสน่ห์ บอกพร้อมสายตาที่มุ่งมั่นทำงานต่อไป
“เหนื่อยก็เหนื่อยนะ แต่ก็ภูมิใจที่ได้มาทำตรงนี้ เห็นผลงานออกมาแล้ว ไอ้ที่เหนื่อยก็หายไป”
อีกหนึ่งคนที่บอกเล่าความรู้สึกของคนทำงานคนเล็กๆ ในสำนักงานช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เธอแทนตัวเองว่า “พี่เจี๋ยม” ตำแหน่งโดยทางการคือ ยุนีย์ ธีรนันท์ นายช่างศิลปกรรม6 ถ้ามองจากภายนอกจะดูไม่รู้เลยว่า ผู้หญิงผิวขาว ผมยาวคนนี้มีอายุงานกว่า 17 ปีแล้ว และศิลปกรรม เพาะช่างคือจุดเริ่มต้นของการเป็นช่างกระจกของเธอ
“ย้ายจากเมืองเลยมาเรียนที่เพาะช่าง จบแล้วก็สอบบรรจุในสำนักช่างสิบหมู่รับราชการเมื่อปี 2534 ตลอดเวลาที่ผ่านมาผลงานที่ภูมิใจมีงานพระราชพิธีของสมเด็จย่าฯ ตอนนั้นทำงานได้แค่ 5 ปีรับหน้าที่ปิดทองและประดับเลื่อมเทวดาเป็นส่วนเล็กๆ แต่เราก็ภูมิใจที่ได้มารับผิดชอบในส่วนนี้ ตั้งแต่มาทำงานก็รับผิดชอบงานปิดทองกับติดกระจกมาตลอด” ยุนีย์เท้าความ
ในการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นของพระยานมาศ ราชรถที่จะใช้ในพระราชพิธีนั้นพบว่า ราชรถน้อย 9783 มีความชำรุดมากที่สุด เนื่องจากไม่ได้รับการบูรณะมาก่อน ดังนั้นหน้าที่ของช่างกระจกคือ ต้องมาถ่ายภาพเก็บรายละเอียดของเดิมไว้ จากนั้นช่างแกะจะทำการแกะกะเทาะพื้นเดิมออก ก่อนทำการปิดทองโดยช่างทอง แล้วก็ส่งต่อมาที่ช่างกระจก จากนั้นก็จะทาสีแดงในส่วนที่ไม่ปิดทอง โดยในกาลนี้การติดประดับกระจกจะใช้ลายเดิมแต่อาจจะเปลี่ยนแปลงหรืออาจจะลดขนาดตามความเหมาะสม โดยเก็บกระจกเก่าไว้ที่สำนักช่างสิบหมู่เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาอ้างอิงต่อไป
“เราเริ่มส่วนประกอบของราชรถน้อยทำจากที่สำนักช่างสิบหมู่ตั้งแต่เดือนพ.ค.เรื่อยมา ส่วนงานในโรงราชรถเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. ในการบูรณะราชรถน้อยองค์ 9783 เราจะให้กรมสรรพาวุธทำงานไปก่อน จากนั้นส่วนของช่างปิดทองจะมา พี่รับผิดชอบช่างกระจกและดูแลช่างปิดทองอีกด้วย เราปิดทองเสร็จ ประดับเสร็จ ช่างแกะก็จะเทียบเกรินที่ลักษณะคล้ายบันไดเลื่อนให้องศาพอดีกันส่วนประกอบของราชรถก็จะสมบูรณ์” พี่เจี๋ยม อธิบายในนามช่างศิลปกรรม6
หากถามคนทำงานเหล่านี้ว่ารู้สึกอย่างไรกับการจะต้องทำงานทุกวันในช่วงเวลานี้ คำตอบที่ได้รับจากพวกเขาคือรอยยิ้มที่เต็มใจ เช่นเดียวกันกับพี่เจี๋ยมที่บอกว่าเพื่อให้งานสำเร็จเสร็จทันเวลาและไม่ให้มีที่ติเธอพร้อมจะตัดทุกอย่างออกไปก่อนเพื่อที่จะทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จตามเวลา
“ช่วงนี้ทำงานทุกวัน ไม่ได้คิดอะไรเลย ตัดทุกอย่าง ทุกคนก็ทุ่มเท ตั้งใจทำงานกันเต็มที่ ที่ทำงานในโรงราชรถเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ทำงานในสำนักช่างสิบหมู่อีก ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยนะ แต่ภูมิใจที่ได้มาทำงานตรงนี้ คือเราเห็นผลงานออกมาแล้ว ไอ้ที่เราเหนื่อยก็จะหายไป”
ท้ายที่สุดของการสนทนาได้ข้อสรุปว่า การได้สนองงานให้พระบรมวงศานุวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นแม้ว่าจะผ่านมาสักกี่นานความปีติยินดีในฐานะคนเล็กๆ นั้นมิเคยเหือดหายไปเลย ในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี 2539 ช่างประดับเลื่อมกระจกเทวดาอายุงานแค่ 5 ปีรู้สึกอย่างไร ช่างประดับกระจกที่มีอายุงาน 17 ปีในพ.ศ. 2551 ที่ได้ถวายงานในพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ก็รู้สึกปีติไม่ต่างกัน