สอศ.รุกต่อยอดความรู้ทักษะอาชีพให้แก่คนวัยแรงงานในพื้นที่ภาคใต้ตามโครงการทำดีมีอาชีพ หวังยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น รวมทั้งยังมีทุนการศึกษา 300 ทุน ให้เด็กใต้ที่สนใจเรียนอาชีพ เงื่อนไขต้องเรียนสาขาขาดแคลน
นายประเสริฐ แก้วเพ็ชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวถึงการดำเนินงานในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มอบหมายให้สถานศึกษาในพื้นที่ 18 แห่ง เข้าไปฝึกอาชีพระยะสั้นให้กับประชาชน โดยผ่านช่องทางศูนย์ซ่อม สร้าง (FIX IT CENTER) และร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น เพื่อยกระดับอาชีพและฝึกความชำนาญให้กับประชาชนจะได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพหรือไปสมัครงานในภาคอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ จะให้วิทยาลัยเข้าไปช่วยพัฒนาต่อยอดอาชีพของท้องถิ่นที่ทำอยู่แล้ว เช่น โรตีกรอบ ลูกหยี รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำบูดูให้เป็นชนิดผง เพื่อยืดอายุอาหารให้อยู่ได้นานและสามารถจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศได้ พร้อมกันนี้ยังมีแนวคิดให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี พัฒนาคุณภาพด้านการเกษตร เช่น ศึกษาเรื่องยางพารา การปลูกลองกอง ปาล์มน้ำมัน ตลอดจนการเลี้ยงแพะ เป็นต้น
นายประเสริฐ กล่าวว่า สอศ.จะร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) สภาอุตสาหกรรม จัดโครงการทำดีมีอาชีพ โดยนำเยาวชนและผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานมาฝึกอาชีพตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยให้สภาอุตสาหกรรมจัดหาตำแหน่งงานที่ว่างจากทั่วประเทศ และ กอ.รมน.ทำการคัดเลือกผู้ที่เข้ามาฝึกอบรม ส่วน สอศ.จะทำหน้าที่ฝึกอบรมอาชีพสาขาต่างๆ ให้ตรงกับความต้องของสถานประกอบการ ซึ่งโครงการดังกล่าว จะเริ่มต้นในเดือน พ.ย.นี้ นอกจากนี้ สอศ.จะต่อยอดหลักสูตรคู่ขนานระหว่าง สอศ.กับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้โรงเรียนเปิดสอนสายอาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนด้านศาสนา เมื่อเด็กเรียนจบจะได้รับวุฒิบัตรทั้งด้านศาสนาและด้านวิชาชีพ เด็กนำความรู้ที่ได้ไปศึกษาต่อ หรือจะไปทำงานยังต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์ เป็นต้น
“ปี 2552 สอศ.จะขอทุนการศึกษาจากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) จำนวน 300 ทุน ให้เด็กที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคใต้ และมีความสนใจจะเรียนสายอาชีพให้ได้รับทุนศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกสามารถเลือกเรียนได้ในสถานศึกษาสังกัด สอศ.ได้ทั่วประเทศ สำหรับวิธีการคัดเลือกเด็กนั้น สอศ.จะกำหนดสาขาที่ขาดแคลนให้เด็กได้เลือกเรียน เมื่อเรียนจบแล้วเด็กสามารถจะไปประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งทางภาคใต้นั้นมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย รองรับเด็ก”
นายประเสริฐ ยังกล่าวถึงการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษาที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ว่า อาจใช้วิธีการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา โดยวิธีพิเศษเช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ วัฒนธรรม ของท้องถิ่น และสามารถเข้ากับประชาชนในพื้นที่ได้