xs
xsm
sm
md
lg

สกศ.เผยสถิติการศึกษาไทย อาชีวะยังน่าห่วงเด็กออกกลางคันสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สกศ.รายงานสถิติการศึกษาไทยปี 2550 พบนักเรียนศึกษาต่อ ม.ต้น 83.7% ขณะที่อาชีวศึกษาน่าห่วงเด็กเรียนจบ 79% และอยู่ในระบบไม่ออกกลางคันแค่ 66.9% เผยกลุ่มเด็กด้อยโอกาสเป็นเด็กยากจนสูงสุด

รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดทำรายงานสถิติการศึกษาของประเทศไทยในปีการศึกษา 2550 ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลทางการศึกษาที่ได้ดำเนินการมาเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นข้อมูลกลางของประเทศ และเพื่อให้หน่วยงานทางการศึกษาได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยข้อมูลดังกล่าวรวบรวมจากหน่วยงานต่างๆ ที่จัดการศึกษา ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักนายกรัฐมนตรี และ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวอีกว่า อัตราการเรียนต่อของนักเรียนนักศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของไทย คิดเป็นร้อยละ 83.7 ของผู้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2549 ส่วนอัตราการเรียนต่อของนักเรียนนักศึกษาในระดับ มัธยมศึกษาตอนปลายอยู่ที่ร้อยละ 78.7 ในจำนวนนี้ศึกษาต่อในสายสามัญ ร้อยละ 50.6 และสายอาชีวศึกษา ร้อยละ 28.1 อัตราการเรียนต่อของนักเรียนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 17.5 ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 69.2

ทั้งนี้ อัตราการสำเร็จการศึกษาของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า สายสามัญสำเร็จการศึกษาร้อยละ 98.1 ส่วนสายอาชีวศึกษาสำเร็จการศึกษาร้อยละ 79 เมื่อพิจารณาถึงอัตราการคงอยู่ของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานชั้น ป.1 รุ่นปีการศึกษา 2539 พบว่านักเรียนในปีการศึกษาดังกล่าวคงอยู่ในระบบการศึกษาถึงระดับ ม.1 (ปีการศึกษา 2545) ร้อยละ 77.8 และคงอยู่ในระบบการศึกษาถึงระดับ ม.4/ปวช.1 (ปีการศึกษา 2548) ร้อยละ 62.5 โดยจำแนกเป็นระดับ ม.4 ร้อยละ 34.5 และระดับ ปวช.1 ร้อยละ 28.1 อย่างไรก็ตาม พบว่าการคงอยู่ของนักเรียน นักศึกษาในระบบการศึกษา หากพิจารณาตามระดับการศึกษา พบว่าระดับประถมศึกษา(ป.1-6) คงอยู่ ร้อยละ 91.7 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3) คงอยู่ ร้อยละ 94 ส่วนระดับมัธยมตอนปลาย จำแนกเป็นประเภทสามัญศึกษา (ม.4-6) คงอยู่ร้อยละ 88.7 และประเภทอาชีวศึกษา (ปวช.1-3) คงอยู่น้อยกว่าระดับการศึกษาอื่นๆ ร้อยละ 66.9 เท่านั้น

“จากสถิติยังพบว่า ครู อาจารย์ที่สอนในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีร้อยละ 72.6 รองลงมา ได้แก่ ระดับปริญญาโท ร้อยละ 13.2 ส่วนระดับต่ำกว่าปริญญาตรีมีเพียงร้อยละ 5.8 เท่านั้น โดยอัตราส่วนของนักเรียนต่อครูในสังกัด ศธ.อยู่ที่ 20.9 ต่อครู 1 คน ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอัตราส่วนนักเรียนต่อครูอยู่ที่ 19.7 สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนอัตราส่วนนักเรียนต่อครูอยู่ที่ 25.5 คน สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีอัตราส่วนอยู่ที่ 17.4 คน ขณะที่สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีอัตราส่วนนักเรียนต่อครูอยู่ที่ 34.1 คน”

สำหรับกลุ่มเด็กด้อยโอกาสปีการศึกษา 2550 มีทั้งสิ้น 1,906,528 คน ในจำนวนนี้อยู่ในระดับประถมศึกษามากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน รองลงมา ได้แก่ เด็กถูกทอดทิ้ง ชนกลุ่มน้อย ผลกระทบจากโรคเอดส์ ส่วนจำนวนเด็กพิการและกลุ่มเด็กพิเศษด้านต่างๆ อยู่ในระดับประถมศึกษามากที่สุดเช่นกัน โดยส่วนใหญ่มีปัญหาทางการเรียนรู้ รองลงมา มีความบกพร่องทางสติปัญญา บกพร่องทางการมองเห็น บกพร่องทางการได้ยิน และบกพร่องทางร่างกาย/สุขภาพ ตามลำดับ

เลขาธิการ สกศ.กล่าวสรุปว่า จากรายงานดังกล่าวจะช่วยเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้วางแผนและกำหนดนโยบายทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาประเทศต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น