xs
xsm
sm
md
lg

“คุณหญิงกษมา” ฉุนราชบัณฑิตเแพร่ผลวิจัยครูภาษาไทยอ่อน ชี้ทำหมดกำลังใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา
“คุณหญิงกษมา” ฉุน “สำนักราชบัณฑิต” จัดทดสอบภาษาไทยครูผู้สอนวิชาภาษาไทย สพฐ.แล้วนำผลวิจัยออกประจานครูภาษาไทยอ่อน ชี้ ทำให้ครูหมดกำลังใจ หากต้องการช่วยพัฒนาก็ไม่ควรนำเอาผลวิจัยไปเปิดเผย สั่งเช็กข้อมูลการทดสอบเพื่อปรับปรุง

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่ราชบัณฑิตยสถาน จัดทดสอบความรู้ด้านภาษาของครูและนักเรียนในวิชาภาษาไทย ปรากฏว่า ได้คะแนนผ่านเกณฑ์มาตรฐานในระดับคาบเส้น ว่า ตนได้มอบหมายให้ นางปราณี ปราบริปู หัวหน้ากลุ่มสถาบันภาษาไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ติดตามผลการทดสอบดังกล่าว ว่ามีการดำเนินการอย่างไร และมีการทดสอบกับครู นักเรียนในกลุ่มใดบ้าง เพราะหากเป็นครูสอนภาษาไทยในระดับประถมศึกษา ก็ต้องยอมรับว่า ครูที่สอนในระดับนี้ไม่ใช่ครูที่จบเอกด้านภาษาไทย แต่จะเป็นครูที่จบเอกด้านปฐมวัย หรือทั่วไปๆ มากกว่า ดังนั้น เวลาทดสอบความรู้ในวิชาเฉพาะก็จะทำให้เกิดความเสียเปรียบได้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการดำเนินการด้วยความปรารถนาดีต้องการที่จะช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพของครูให้ประสบความสำเร็จก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่น่าจะตามมาด้วยความร่วมมือในการพัฒนาช่วยเหลือ สพฐ.อีกทางหนึ่ง
 
คุณหญิงกษมา กล่าวว่า การริเริ่มของราชบัณฑิตเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ไม่ควรนำสิ่งเหล่านี้ออกมาเผยแพร่ เพราะอาจทำให้ครูที่ทำงานหนักอยู่แล้วเสียกำลังใจได้ โดยในอดีต สพฐ.เองก็ได้มีการทดสอบความรู้ด้านภาษาอังกฤษของครูในแต่ละระดับชั้น ซึ่งในช่วงแรกก็ถูกต่อต้านมาก แต่เมื่อทราบว่าไม่ได้มีการนำผลการทดสอบไปเผยแพร่ เพียงแต่นำข้อมูลกลับไปช่วยเหลือในการพัฒนาการของครูให้ดีขึ้น ก็ได้รับการยอมรับจากครู และพบว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาทำให้ครูสามารถปรับปรุงและพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดีขึ้นมาก

“การดำเนินการในลักษณะนี้จะต้องคำนึงว่า จะต้องไม่นำไปสู่การประจาน และทำให้ครูรู้สึกท้อ อีกทั้งสิ่งสำคัญ คือ จะต้องนำไปสู่แนวทางการช่วยเหลือครูอย่างต่อเนื่อง มีข้อมูลที่สามารถนำมาวินิจฉัยได้ว่าครูแต่ละคนมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร เพื่อออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสม โดยที่ผ่านมาตนได้เคยมอบนโยบายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไปจัดอบรมความรู้กลุ่มสาระต่างๆ เพิ่มเติมให้กับครู และย้ำว่า เมื่ออบรมแล้วก็ควรจะต้องมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ดำเนินการเพียงครั้งเดียวแล้วจบไป แต่จะต้องมีการพัฒนาและกลับมาติดตามผลพร้อมทั้งวิเคราะห์ด้วยว่า ยังมีจุดอ่อนในด้านใดบ้าง เพื่อติดตามช่วยเหลือต่อไป ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการอบรมแบบเหมา คือ เป็นหลักสูตรเดียวตายตัว ไม่ว่ามีจุดอ่อนด้านใดก็ต้องอบรมสูตรเดียวกันหมด”คุณหญิงกษมา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น