มีเดียมอนิเตอร์ ชำแหละฟรีทีวีรายงานข่าว “7 ตุลา” พบ “ตำรวจ-รัฐบาล” ได้พื้นที่ข่าวมากที่สุด ขณะที่ “แกนนำพันธมิตรฯ-ผู้ชุมนุม-ผู้ได้รับบาดเจ็บ” หายจากหน้าจอ ระบุ NBT เอียงหาฝ่ายรัฐบาลอย่างชัดเจน ตั้งคำถามชี้นำความคิดผู้ชม และส่งสัญญาณความรุนแรง ขณะที่ “ช่อง 5” ให้พื้นที่ข่าวฝ่ายรัฐบาลเกินกว่าครึ่ง แนะฟรีทีวีเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนและองค์กรทางสังคมมากขึ้น นำเสนอข่าวโดยปราศจากอคติ
จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่มีการใช้ความรุนแรงโดยมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น โครงการศึกษาและเฝ้าระวังเพื่อสุขภาวะของสังคม(Media Monitor) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ทำการสรุปผลการศึกษาการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในฟรีทีวี (วันที่ 7 ตุลาคม 2551) ข้อเท็จจริง-มุมมองข่าวการตั้งคำถาม และการรายงานข่าวในสถานการณ์ฉุกเฉิน/จลาจล ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ เพื่อฉายภาพสะท้อนกลับให้สื่อฟรีทีวีเห็นภาพ ว่า การรายงานข่าวของตนมีข้อเด่น ข้อด้อย และสิ่งที่ควรปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพเช่นไร
โดยผลการศึกษามี 4 ประเด็น ดังนี้ 1.แหล่งข้อมูล/ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในข่าว ผลการศึกษา พบว่า แหล่งข้อมูลหลักที่สื่อฟรีทีวีนำมาเสนอรายงาน คือ แหล่งข้อมูลที่มาจากตัวเหตุการณ์/สถานการณ์ที่เกิดขึ้น (event/situation source) โดยพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของข้อมูลที่รายงานในวันเกิดเหตุ สื่อใช้วิธีให้นักข่าวรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมโดยใช้ผู้สื่อข่าวรายงานจากจุดสำคัญต่างๆ ได้แก่ หน้ารัฐสภา ลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นต้น
ทั้งนี้ สื่อฟรีทีวีทุกช่อง เน้นรายงานในประเด็นการปิดล้อมรัฐสภาของกลุ่มผู้ชุมนุม, ตำรวจสลายการชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา กลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาล การใช้มาตรการควบคุมสถานการณ์ รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา เหตุการณ์การระเบิดที่หน้าพรรคชาติไทย เป็นต้น ซึ่งผู้สื่อข่าวที่อยู่ในสถานการณ์มักใช้วิธีการโทรศัพท์เข้ามารายงานสถานการณ์กลับมายังห้องส่ง มีการตั้งคำถามที่เน้นความคืบหน้าของสถานการณ์ เรื่องมิติของเวลา ชั่วโมง-นาที และตามจุดพื้นที่ต่างๆ สร้างความรู้สึกให้ผู้รับชมข่าวที่บ้านเหมือนได้เข้ามีส่วนร่วมในการชุมนุมและอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ ด้วยภาพข่าวที่ถูกฉายซ้ำไปซ้ำมาในมุมกล้องเดียว
แหล่งข้อมูลบุคคล (person source) พบว่า แหล่งข่าวฝ่ายบุคคลที่ถูกนำเสนอมากในข่าวการสลายการชุมนุมในแต่ละช่องคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ระดับผู้บังคับบัญชา) รองลงมา คือ แหล่งข่าวจากฝ่ายรัฐบาล และแหล่งข้อมูลจากโรงพยาบาล-แพทย์ ศูนย์แพทย์-หน่วยกู้ภัย
แหล่งข้อมูลบุคคลจากฝ่ายที่ 3 อาทิ นักวิชาการ องค์กรกลาง-อิสระนั้น ปรากฏมากในช่องทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ขณะที่ช่อง NBT นั้น เน้นแหล่งข่าวฝ่ายรัฐบาลอย่างชัดเจน และแหล่งข่าวบุคคลที่สำคัญที่ขาดหายอย่างมากจากสื่อฟรีทีวีคือแกนนำ-ผู้ชุมนุม-ผู้ได้รับบาดเจ็บจากกลุ่มพันธมิตรฯ สื่อฟรีทีวีช่อง 3-5-7-9 เน้นใช้ผู้สื่อข่าวของตนเป็นผู้สรุปเหตุการณ์ แม้จะมีแหล่งข้อมูลจากบุคคลอยู่บ้างแต่ก็ถือว่ามีน้อย
แหล่งข้อมูลสถิติ/ตัวเลข (number/statistic source) พบว่า สื่อเน้นรายงานจำนวนตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จำนวนผู้เข้าชุมนุม ซึ่งมีความไม่สอดคล้องตรงกันมาก ข้อดีของทุกสื่อที่ทำได้ดี คือการเน้นแหล่งข้อมูลถึงตัวบุคคลผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ แพทย์ และ ผอ.โรงพยาบาล และตัวเลขของกองกำลังตำรวจที่เข้าสลายการชุมนุม และจำนวนแก๊สน้ำตาที่ถูกยิงไปยังผู้ชุมนุม ซึ่งผู้สื่อข่าวแต่ละช่องจะเน้นรายงานว่ามีปริมาณน้อย
แหล่งข้อมูลเอกสาร (paper source) พบว่า สื่อฟรีทีวีแต่ละช่องไม่มีการสืบค้นข้อมูลเอกสารใดๆ มารายงานเลย ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ สื่อสามารถนำข้อมูลเอกสารหลายชุดมานำเสนอได้ เช่น มาตรการการสลายการชุมนุมตามมาตรฐานสากล-เปรียบเทียบของไทย, มาตรฐานและจรรยาบรรณของสื่อในการรายงานข่าวในสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อมูลการป้องกันตัว-ความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและหรือผู้ชมในการบริโภคข่าวสารเพื่อไม่สร้างความตื่นตระหนก
2.มุมมองของข่าวที่ถูกรายงาน
การพิจารณามุมมองของข่าวสามารถวิเคราะห์ได้จาก 2 องค์ประกอบคือ แหล่งข่าว ซึ่งมักเป็นฝ่ายตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ (ฝ่ายรัฐบาล) มากกว่าฝ่ายพันธมิตรฯ และ มุมกล้องพบว่าสื่อฟรีทีวีทุกช่องจะเน้นฉายภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ชุมนุม ผ่านภาพการยิงแก๊สน้ำตาไปยังผู้ชุมนุม
ช่อง 3 มีมุมกล้องจากด้านหลังของฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้สลายการชุมนุม และมุมกล้องจากมุมมองฝ่ายผู้ชุมนุมและมีการขอความเอื้อเฟื้อภาพข่าวจาก ASTV ด้วย
ช่อง 7 เป็นภาพถ่ายจากฝั่งตำรวจ และฝั่งพันธมิตรฯ โดยมีมุมกล้องเกาะติดการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกอบการบรรยายจากผู้สื่อข่าวภาคสนาม นอกจากนี้ ยังปรากฏภาพข่าวจากช่อง ASTV ดึงมาเสนอคู่กับภาพข่าวจากสถานีในช่วงเหตุการณ์เดียวกัน ทั้งนี้ ในขณะสัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ผู้สื่อข่าวภาพข่าวที่นำมาประกอบการบรรยายข่าวมักจะเป็นเหตุการณ์การปะทะ และวนซ้ำเหตุการณ์เดิมแต่ส่วนมากเป็นมุมกล้องจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ช่อง 5 ภาพข่าวที่ปรากฏมีความโน้มเอียงเข้าหาฝ่ายรัฐบาล โดยให้พื้นที่ของเนื้อหาข่าวเกินกว่าครึ่งเป็นเนื้อหาข่าวจากฝ่ายรัฐบาล มีข้อสังเกตคือมุมมองการรายงานข่าวด้านฝ่ายพันธมิตรก็ค่อนข้างเที่ยงตรง แต่ไม่ลงลึก ในขณะที่การรายงานข่าวด้านฝ่ายรัฐบาลจะลงลึกกว่ามาก
ช่อง 9 มีการนำเสนอภาพความรุนแรงเหตุการณ์ตำรวจสลายการชุมนุมภาพเดิมๆ วนซ้ำหลายรอบ และมุมมองภาพส่วนใหญ่ถูกถ่ายมาจากข้างหลังตำรวจ
ช่อง NBT โดยมากเป็นภาพเหตุการณ์การปะทะกันของทั้งสองฝ่าย โดยมีทั้งที่เป็นภาพข่าวจาก NBT เอง และเป็นภาพข่าวที่เอื้อเฟื้อภาพข่าวมาจาก สถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ส่วนมากเป็นภาพบรรยากาศรอบนอกอาคารรัฐสภา บรรยากาศที่กองบัญชาการทหารบก เป็นต้น
ช่องทีวีไทยทีวีสาธารณะ (TPBS) จะพบมุมกล้องหลากหลายมาก อาทิ กล้องมุมสูงเพื่อเห็นภาพเหตุการณ์โดยรวม กล้องที่โรงพยาบาล ภาพคนเจ็บ และภาพวนซ้ำประกอบการรายงานข่าวเรื่องนั้นๆ
3.การตั้งคำถามของนักข่าว
การตั้งคำถามของผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ โดยมากเป็นการตั้งคำถามที่เน้นความคืบหน้าของสถานการณ์ คำถามเกือบทั้งหมดมุ่งไปที่เรื่องรายละเอียดปลีกย่อยของเหตุการณ์
ช่อง 3 เน้นตั้งคำถามเพื่อสอบถามเนื้อหาข้อมูลสถานการณ์ ตั้งคำถามเพื่อหาทางออก การตั้งคำถามเพื่อชี้นำ เป็นต้น
ช่อง 5 เน้นตั้งคำถาม มักเป็นคำถามที่ใช้ถามสภาพเหตุการณ์ในขณะนั้นๆ และข้อเท็จจริงตามสภาพการณ์
ช่อง 7 เน้นคำถามเพื่อสืบค้นข้อมูล และหาทางออก ไม่พบคำถามที่ส่งสัญญาณรุนแรงหรือสร้างอคติ
ช่อง 9 ส่วนมากเป็นการตั้งคำถามเพื่อสืบค้นข้อมูล คำถามเพื่อหาทางออกมีพบบ้าง
ช่อง NBT ส่วนมากเป็นการใช้คำถามที่ถามเพื่อการสืบค้นข้อมูล สอบถามถึงสถานการณ์ปัจจุบัน, สอบถามถึงจำนวนผู้บาดเจ็บ และมีหลายคำถามที่เป็นการถามลักษณะชี้นำความคิดผู้ชม เช่น “ความต้องการของพันธมิตรฯ คือการขัดขวางไม่ให้มีการประชุมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้เหรอคะ”, “ข้อร้องเรียนต่างๆ ของพันธมิตรมีมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ทำไมถึงเคลื่อนการชุมนุมในวันนี้คะ เกี่ยวข้องกับการที่พลตรีจำลอง ที่ก่อนหน้านี้ก็มีการสังเกตว่าจงใจออกไปเลือกตั้งเพื่อให้ถูกจับ” คำถามที่ส่งสัญญาณความรุนแรง เช่น “ตอนนี้ไม่ทราบว่าสถานการณ์จะทำให้ตำรวจเข้ามาสมทบกำลังหรือไม่ เพราะว่าจากรายงานว่าจะมีนักรบศรีวิชัยของพันธมิตรฯ กำลังเคลื่อนพลมารัฐสภา” นอกจากนี้ยังพบว่ามีการแสดงความคิดเห็นด้วย เช่น สรุปความที่นายกฯ แถลงการณ์ว่า “ส่วนเหตุการณ์ที่รัฐสภานั้น เชื่อว่าจะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง”, “ท่านก็บอกว่าทำดีที่สุดแล้ว” ทั้งที่ในแถลงการณ์ นายกฯ ไม่ได้พูดเลย
ช่องทีวีไทยทีวีสาธารณะ (TPBS) เน้นตั้งคำถามเพื่อสอบถามสถานการณ์ทั่วไป คำถามเพื่อหาทางออก คำถามที่ส่งสัญญาณความรุนแรง คำถามที่อาจชี้นำความคิด
การรายงานข่าวตามมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน/จลาจล
ช่อง 3 มีการตั้งคำถามเพื่อคะเนเหตุการณ์ล่วงหน้าในแง่ร้าย การรายงานจำนวนตัวเลขของผู้ร่วมชุมนุม และเจ้าหน้าที่ ส่วนการให้ข้อมูลทางสถิติหลายครั้งไม่มีการอ้างอิงแหล่งข่าว แต่การรายงานข่างของช่อง 3 นั้นได้ทั้งจากมุมของฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ
ช่อง 5 เป็นการรายงานข้อเท็จจริงตามสภาพการณ์และเป็นไปตามสถานการณ์ ไม่พบว่าเป็นการรายงานแบบคาดคะเนสถานการณ์ก่อนล่วงหน้า แต่มักมีการบอกตัวเลขจำนวนผู้ชุมนุม จำนวนตำรวจ โดยการประมาณ จากทั้งทางผู้สื่อข่าวที่อยู่ในห้องส่งและผู้สื่อข่าวภาคสนาม นอกจากนี้ช่อง 5 ควรหาแหล่งข่าวที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐมาเป็นแหล่งข้อมูลบ้าง เช่นนักวิชาการอิสระ อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือบุคคลที่เป็นกลางทางการเมือง
ช่อง 9 การรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวและพิธีกรข่าวโดยภาพรวม พบว่า มีความระมัดระวังในการรายงานจำนวนผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิตโดยการอ้างอิงข้อมูลจากโรงพยาบาล, มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมที่ถูกต้องเป็นอย่างไร, มีการสัมภาษณ์ข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวอย่างระมัดระวังในเรื่องของคำถามในเชิงชี้นำ อคติและส่งสัญญาณความรุนแรง และไม่พบการตั้งคำถามเพื่อคาดคะเนเหตุการณ์ล่วงหน้าในแง่ร้าย
ช่อง NBT มักพบการรายงานแบบคาดคะเนสถานการณ์ในการตั้งคำถามของผู้ดำเนินรายการต่อผู้สื่อข่าวภาคสนาม การรายงานข่าวของช่อง NBT ควรหาข้อมูลอีกด้าน และพยายามให้กว้างที่สุด เพราะเน้นการรายงานจากหลายจุดเกิดเหตุเท่านั้น แต่ไม่มีความหลากหลายฝั่งของความคิดเห็น และควรมีนักวิชาการ นักวิเคราะห์มาให้ความเห็นมิใช่ให้นักข่าวเป็นผู้วิเคราะห์สถานการณ์เสียเอง
ช่องทีวีไทยทีวีสาธารณะ (TPBS) มีการรายงานข้อมูลตัวเลขที่ได้รับรายงานมาก่อน แล้วจึงรายงานที่ตรวจสอบแล้วในภายหลัง การรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวนอกสถานที่ มักเป็นการพากษ์สด มีอารมณ์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนเสียก่อน การตั้งคำถามเพื่อคาดคะเนเหตุการณ์ล่วงหน้าในแง่ร้าย แต่ TPBS มีการให้ข้อมูลถึงสาเหตุที่มาของเหตุการณ์ มีการทำสกู๊ป และยังมีการบอกวิธีป้องกันตัวจากแก๊สน้ำตาแก่ประชาชน ส่วนการรายงานจำนวนผู้ชุมนุมจะใช้การพูดบรรยายจำนวนความหนาแน่นของคนเปรียบเทียบกับถนน และใช้กล้องแพนภาพให้ดู
ข้อเสนอแนะต่อการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ควรให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวเหตุการณ์ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ควรลดการนำเสนอข่าวที่เน้นประเด็นความรุนแรงของเหตุการณ์ ควรนำเสนอข้อมูลอย่างรัดกุม ไม่ควรนำเสนอข้อมูลที่จะสร้างความตระหนกแก่สาธารณะชนแต่ควรสร้างความตระหนักในข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ นำเสนออย่างสร้างความเข้าใจ สร้างสรรค์ และสร้างสติให้กับสังคม
การตั้งคำถามของสื่อมวลชน ควรเป็นไปในลักษณะที่ไม่สร้างความแตกแยก เน้นคำถามที่หาทางออกของสถานการณ์ ไม่ถามคำถามที่แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของความรุนแรง ควรเน้นการรายงานข่าวเชิงตีความ-วิเคราะห์ ที่ให้ข้อมูลอธิบายสาระสำคัญของเหตุการณ์ที่เน้นการตอบคำถาม “ทำไม” (why?) มากกว่าเพียงการอธิบาย “ใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-เมื่อไร-อย่างไร” ควรนำเอาข้อมูลในอดีต อธิบายพร้อมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อชี้ให้เห็นแนวโน้มเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ควรมีความหลากหลายในการคัดเลือกแหล่งข่าว เปิดพื้นที่แหล่งข่าวภาคประชาชน-ประชาสังคม นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย และบุคคลในแวดวงอาชีพอื่นๆ หรือหน่วยงานองค์กรทางสังคมอื่นๆ ให้มากขึ้น สื่อฟรีทีวีทั้งหมด ควรวางตนเป็นกลาง ปราศจากอคติ ไม่มีความลำเอียง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ นำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริงของข่าวอย่างรอบด้าน หลากหลาย และเป็นธรรม ไม่ควรชี้นำความคิดของผู้ชมให้ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งโดยเฉพาะ