xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลัง “การ์ดอาสาพันธมิตรฯ” กับความจริงที่สังคมไม่เคยรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การสาบานตน ก่อนเข้าทำหน้าที่การ์ดอาสา
ผลจากเกมด้านข้อมูลข่าวสารที่รัฐบาลและตำรวจใช้เล่นงานพันธมิตรฯ ทำให้เกิดข่าวด้านลบที่เกิดขึ้นกับเหล่า"การ์ดอาสา"อยู่เนืองๆ จนหลายคนข้องใจในบทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขา และมองการ์ดพันธมิตรฯ ราวกับว่าเป็นกลุ่มคนอันตราย เป็นพวกอันธพาล สะสมอาวุธ เสพยาเสพติด นิยมความรุนแรง ฯลฯ

...แต่จะมีสักกี่คนที่ได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริงของการ์ดพันธมิตรฯ


จุดเริ่มต้น

แท้จริงแล้วการ์ดพันธมิตรฯ มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่การต่อสู้ของพันธมิตรฯ ในการขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2549 โดยในครั้งนั้นการ์ดพันธมิตรฯ มาจากหลายภาคส่วนด้วยกัน ทั้งจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ รวมไปถึง กองทัพธรรม ซึ่งร่วมกันทำหน้าที่

การทำงานของการ์ดพันธมิตรฯ ในเวลานั้น เป็นไปอย่างราบรื่นด้วยเพราะการ์ดอาสาที่มาทำหน้าที่ ต่างมีสังกัดชัดเจน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง ฯลฯ ซึ่งมีระบบสายงานการบังคับบัญชา มีสตาฟ ที่จะมาทำหน้าที่เป็นการ์ดค่อนข้างรัดกุม

แต่มาในครั้งนี้ ที่การต่อสู้ของพันธมิตรฯ ในการขับไล่รัฐบาลนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นมานั้น เป็นการชุมนุมต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ทั้งยังต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 6 เดือน มีการปิดถนน การใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจายและเข้ายึดพื้นที่ภายในทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันรัฐบาลให้ลาออก อุปสรรคในการที่จะรวบรวมบุคคลที่มาทำหน้าที่เป็นการ์ดรักษาความปลอดภัยจึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุเพราะการ์ดแต่ละคนที่เป็นพนักงานจากองค์กรต่าง ๆ ไม่สามารถที่จะลางานมาทำหน้าที่นี้ได้ อย่างต่อเนื่องยาวนาน

ประกอบกับพื้นที่การดูแลความปลอดภัยมีมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในบริเวณสนามหลวงอย่างเหมือนอย่างปี 2549 รวมไปถึงการชุมนุมครั้งนี้ มีกลุ่มจัดตั้ง โดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) ที่เข้ามาก่อกวน และสร้างความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่การ์ดรักษาความปลอดภัย ทั้งที่อยู่ในส่วนของการ์ดศรีวิชัย และการ์ดกองทัพธรรม ไม่เพียงพอที่จะดูแลผู้ชุมนุมได้อย่างทั่วถึง พันธมิตรฯ จึงทำการจัดตั้ง “การ์ดอาสาพันธมิตรฯ” โดยรับสมัครบุคคลที่มีจิตอาสา เข้ามาปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับผู้ร่วมชุมนุม

กว่าจะมาเป็น “การ์ดอาสา”



ถึงแม้แต่ละคนที่เข้ามาเป็นการ์ดอาสา จะเป็นการเข้ามาโดยจิตอาสา แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่เข้ามาสมัคร จะสามารถทำหน้าที่เป็นการ์ดอาสาได้ นั่นเพราะทางหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยของพันธมิตรฯ จะเข้มงวดในการรับคนเป็นอย่างมาก ทุกคนที่เข้ามาสมัคร จะต้องผ่านการคัดกรองหลายขั้นตอน

ตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อเข้ามาสมัครกับทางหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย จะมีการให้กรอกประวัติทั้งชื่อ ที่อยู่ อาชีพ สถานที่ทำงาน ช่วงเวลาที่สามารถช่วยปฏิบัติหน้าที่เป็นการ์ดได้และสถานที่ติดต่อโดยละเอียด พร้อมทั้งมีการถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไว้เป็นหลักฐานในการมาสมัคร เพื่อให้สามารถตรวจสอบประวัติบุคคลนั้น ๆ ได้อย่างละเอียด

จากนั้นจะมีการสัมภาษณ์ซักถามว่า ใครเป็นคนแนะนำให้มาสมัคร หากมีการ์ดอาสาเดิม (ซึ่งทำหน้าที่มาจนไว้วางใจได้) ให้การรับรองจึงจะถือว่าสอบผ่านในขั้นแรก แต่หากไม่มีใครมารับรองผู้สมัครเลย ผู้สมัครคนนั้นก็จะต้องไปทำการทดลองงานก่อนในระยะแรก โดยในการทดลองงานนั้น จะถือว่าสถานะยังคงเป็นผู้ชุมนุมธรรมดาเท่านั้น จะไม่มีบัตรประจำตัวการ์ด ซึ่งหากหัวหน้าหน่วยที่ทำการทดลองงานอนุมัติว่าผ่าน จึงจะสามารถดำเนินการในการสมัครขั้นต่อไปได้

ขั้นตอนสมัครในชั้นต่อมา เมื่อมีบุคคลรับรองแล้ว ผู้สมัครเป็นการ์ดจะต้องกรอกใบสมัครอาสารักษาความปลอดภัย (การ์ดอาสา) ที่มีรายละเอียดของบุคคลนั้นๆ รวมทั้งลงรายมือชื่อรับรองว่า “ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตามกฎและระเบียบคำสั่งของพันธมิตรฯ ทุกประการ และจะไม่เรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์ใด ๆ หากข้าพเจ้าทำให้พันธมิตรฯ เกิดความเสียหาย ข้าพเจ้าจะขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” (ตัวอย่างใบสมัครการ์ดอาสา)

จากนั้น ก่อนการปฏิบัติหน้าที่ และได้รับบัตรประจำตัวการ์ดอาสา ผู้สมัครจะต้องทำความเข้าใจและจดจำกฎระเบียบ ข้อปฏิบัติ-ข้อห้าม ของหน่วยรักษาความปลอดภัยให้ได้อย่างแม่นยำครบทุกข้อ จากนั้นจึงทำการสาบานตนต่อธงชาติไทย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ก่อนที่หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย จะทำการฝึกยุทธวิธีในการต่อสู้แบบสันติ-อหิงสา และการรักษาความปลอดภัยในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้แก่ผู้ชุมนุม(คลิก!ชมภาพการ์ดอาสาพันธมิตรฯ ร่วมดื่มน้ำสาบาน ยึดการต่อสู้แบบสันติ-อหิงสา) เมื่อผ่านขั้นตอนเหล่านี้แล้ว จึงจะได้รับบัตร และได้ชื่อว่าเป็นการ์ดอาสาของพันธมิตรฯ(อ่าน กฎและระเบียบของอาสาสมัครพันธมิตรฯ)

ศักดิ์และสิทธิของการ์ดอาสา

ความเป็นการ์ดอาสา จะถูกระบุเอาไว้ตั้งแต่เริ่มสมัครแล้วว่า ผู้ทำหน้าที่เป็นการ์ดจะมีหน้าที่หรือตำแหน่งในการเป็นการ์ดอาสา เฉพาะในพื้นที่การชุมนุม และการปฏิบัติรักษาความปลอดภัยอันเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเท่านั้น การกระทำอื่นใดที่การ์ดไปทำที่อื่นๆ การกระทำเหล่านั้นจะถือเป็นการกระทำส่วนบุคคล ไม่ถือเป็นการกระทำในนามของการ์ดพันธมิตรฯ และหากการ์ดอาสากระทำผิดกฎระเบียบของหน่วยรักษาความปลอดภัยที่ระบุไว้ การ์ดคนนั้นก็จะถูกปลดออก ยึดบัตรประจำตัวการ์ด สิ้นสภาพการ์ด กลายสภาพกลับไปเป็นเพียงผู้ชุมนุมธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น

สำหรับสิทธิของการ์ดอาสาที่มีนั่นคือ สามารถพกพาเครื่องป้องกันตัว (กระบองไม้) ได้ อาวุธอื่น ๆ ไม่สามารถพกพาได้ ส่วนสิทธิพิเศษสิ่งเดียวที่การ์ดอาสามีเหนือผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ก็คือการไม่ต้องเข้าแถวรับประทานอาหารที่โรงทานเหมือนผู้ชุมนุมคนอื่น (เพราะทางฝ่ายสวัสดิการจะจัดทำใส่กล่องแล้วนำไปส่งให้ในแต่ละหน่วย) นอกนั้นสิทธิของการ์ดอาสาจะเหมือนผู้ชุมนุมทั่วไปทุกประการ

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ หากผู้ชุมนุมคนใดพบเห็น การ์ดประพฤติตัวไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่ สน.พันธมิตรฯ ซึ่งหน่วยงานนี้จะรับแจ้งเรื่องแล้วลงบันทึกประจำวันเพื่อส่งเรื่องให้หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยสอบสวนการ์ดคนที่ถูกร้องเรียนต่อไป ซึ่งพบว่าเรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือ การใช้วาจาที่ไม่สุภาพกับผู้เข้าร่วมชุมนุม นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยังสามารถร้องเรียนได้โดยตรงที่หมายเลข 08-5382-8253 สายด่วนการ์ดพันธมิตร จึงเป็นอีกหนึ่งความมั่นใจว่า การ์ดพันธมิตรฯ จะไม่สามารถทำตัวกร่างว่าตนมีสิทธิพิเศษ หรือข่มเหงผู้ชุมนุมคนใดได้

นอกจากนี้กระบวนการทำงานในทุกขั้นตอนของการ์ดอาสา จะเป็นไปอย่างมีระบบ ตั้งแต่การบัญชาการจากศูนย์รักษาความปลอดภัย ที่จะมีการสั่งการจากห้องปฏิบัติการ มีการประชุมหัวหน้าการ์ดแต่ละชุดในทุกวัน โดยมีการจัดทำเอกสาร วาระการประชุม รวมทั้งบันทึกผลการประชุมโดยละเอียดในทุกวัน เพื่อให้การ์ดอาสาทุกส่วนได้ปฏิบัติหน้าที่ได้มีเอกภาพและเต็มประสิทธิภาพ

ความเป็นการ์ดยาวนานถึงเมื่อใด?

หน้าที่ในการเป็นการนอกจากจะหมดลงเมื่อกระทำความผิดดังที่ระบุข้างต้นแล้ว หน่วยรักษาความปลอดภัยของพันธมิตรฯ ก็ยังมีอีกมาตรการหนึ่งที่คอยคัดกรอง และตรวจสอบผู้ทำหน้าที่เป็นการ์ดอีกอย่าง นั่นคือการเปลี่ยนบัตรประจำตัวการ์ดใหม่ เนื่องจากบ่อยครั้งที่มีกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีปลอมตัวเข้ามาเป็นการ์ดพันธมิตรฯ ทั้งในรูปของการปลอมปนมาสมัครและปลอมแปลงบัตรประจำตัวการ์ด แล้วไปกระทำความผิดเพื่อหวังทำลายภาพความน่าเชื่อถือของการ์ดอาสาพันธมิตรฯ

สำหรับการเปลี่ยนบัตรนั้น หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยจะแจ้งให้หัวหน้าการ์ดในแต่ละหน่วยได้ทราบว่าจะมีการเปลี่ยนบัตรประจำตัวการ์ดใหม่ แล้วให้การ์ดทุกคนมารายงานตัวแล้วลงชื่อเปลี่ยนบัตรใหม่ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ประมาณ 3 วัน) ซึ่งเมื่อพ้นกำหนดการเปลี่ยนบัตรแล้ว บัตรประจำตัวการ์ดใบเก่า หรือรุ่นเก่าจะหมดอายุไปโดยปริยาย ดังนั้นหากการ์ดคนใดไม่มารายงานตัวเพื่อเปลี่ยนบัตรใหม่ การ์ดคนนั้นก็จะหมดหน้าที่ความเป็นการ์ด รวมถึงบุคคลใด ๆ ที่ยังพกใบประจำตัวการ์ดใบเดิมก็ไม่สามารถอ้างตัวได้ว่าเป็นการ์ดพันธมิตรฯ ได้

หลายคนอาจยังคงมีความสงสัยต่อไปว่า แล้วข่าวคราวในด้านลบของการ์ดอาสาที่ออกมาตามสื่อต่าง ๆ ทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ Forward Mail หรือในกระทู้ต่าง ๆ ในหลายเว็บไซต์นั้นมีข้อเท็จจริงอย่างไร นายกิตติชัย ใสสะอาด หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยพันธมิตรฯ ให้คำตอบในเรื่องต่างๆ ดังนี้

ภาพข่าว ที่อ้างว่าเป็นการ์ดอาสาพันธมิตรฯ ยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่อนทั่วโลกไซเบอร์



นี่คือภาพถ่ายที่ฝ่ายตรงข้ามใช้โจมตีการทำงานของการ์ดอาสาพันธมิตรฯ อยู่บ่อยครั้ง เป็นภาพเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยอ้างว่าบุคคลดังกล่าวเป็นการ์ดอาสาของพันธมิตรฯ เนื่องจากใส่เสื้อแจกเก็ต โพกผ้าเหลือง และมีบัตรประจำตัวการ์ดพันธมิตรฯ ห้อยคออยู่ จึงสรุปว่าบุคคลดังกล่าวคือการ์ดอาสาของพันธมิตรฯ

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา กรณีเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม ในประเด็นข้อสงสัยที่ว่า การ์ดพันธมิตรใช้อาวุธปืนยิงใส่ตำรวจนั้น คณะกรรมาธิการฯ ได้ข้อสรุปว่า ชายนิรนามที่ใช้อาวุธปืนเล็งยิงเข้าใส่ฝูงชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ชายในภาพ) ไม่น่าจะเป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยของพันธมิตรฯ เนื่องจากลักษณะการแต่งกายที่ไม่มีสัญลักษณ์ของการ์ดอาสา รวมไปถึงบัตรประจำตัวการ์ดอาสาที่ชายคนดังกล่าวแขวนอยู่ที่คอ ก็เป็นบัตรที่ถูกยกเลิกไปแล้ว (อ่านรายละเอียดผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ)

ข่าวลือ ! การ์ดอาสา มีห้องลับเอาไว้สำหรับซ้อมคน

ถือเป็นอีกหนึ่งข่าว (ลือ) ที่แพร่สะพัดไปแบบปากต่อปาก ทำให้ผู้ที่ไม่เคยมาชุมนุมกับพันธมิตรฯ และสังคมทั่วไปมีความเชื่อเช่นนั้น สำหรับเรื่องนี้นายกิตติชัย ใสสะอาด กล่าวว่า ข่าวลือนี้ทางเราได้ยินมานานมากแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะสามารถแก้ข่าวได้อย่างไร เพราะหากพูดไปก็เหมือนกับเป็นการแก้ตัว แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้นั่นคือ อยากขอร้องว่าสื่อแขนงใดที่สนใจ จะทำข่าวเรื่องนี้ให้ติดต่อมาที่ สน.พันธมิตรฯ ได้ทันที ทางการ์ดของเรา พร้อมที่จะให้ผู้สื่อข่าวทุกแขนงได้เข้าถ่ายทำทุกพื้นที่โดยละเอียดเพื่อเป็นการยืนยันว่าเราไม่มีห้องมืดสำหรับซ้อมคน ตามที่ถูกปล่อยข่าวไป

“ส่วนอีกหลักฐานหนึ่งที่จะเป็นการยืนยันถึงความโปร่งใส และการทำงานอย่างมีจริยธรรมของการ์ดอาสาพันธมิตรฯ ได้นั่นคือ เมื่อมีการจับบุคคลที่เข้ามาก่อความวุ่นวายหรือบุคคลต้องสงสัยได้ ทุกครั้งที่การ์ดอาสาควบคุมตัวมาได้ เราจะนำมาทำการสอบสวนพร้อมถ่ายภาพหลักฐานเอาไว้ที่ สน.พันธมิตรฯ เพื่อลงรายละเอียดการกระทำความผิด จากนั้นจึงประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจมารับตัวบุคคลนั้นไปซึ่งเห็นได้จากข่าวที่ปรากฎในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รวมถึงสื่ออื่นๆ อยู่บ่อยครั้ง” เช่น

พบ “3กุ๊ย” พกใบกระท่อมเข้าที่ชุมนุมการ์ดพันธมิตรฯ เชิญตัวไป สน.ดุสิตแล้ว

นปช.บุกป่วนพันธมิตรฯ ใช้หนังสติ๊กยิงผู้ชุมนุมก่อนถูกการ์ดรวบส่ง ตร.

พันธมิตรฯ จับผู้ต้องสงสัยลักรถในทำเนียบ ส่งตำรวจ สน.นางเลิ้ง

การ์ดอาสา พันธมิตรฯ = กุ๊ย ???

นับเป็นอีกคำถามยอดฮิต ที่สังคมมักตั้งคำถามให้กับการ์ดอาสาเหล่านี้ และนี่คือเรื่องราวชีวิตจริง ของการ์ดอาสาส่วนหนึ่งที่ยินดีจะตีแผ่ให้กับสังคมได้รับรู้ ด้วยหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะทำให้สังคมได้รับรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงว่าพวกเขาคือใคร

              “พี่อ้อย กฟผ.” การ์ดหญิงผู้กล้าแห่งหลังเวที “พันธมิตรฯ”



เจ้าหน้าที่วิชาชีพระดับ 5 แห่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผู้เด็ดเดี่ยว ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพันธมิตรฯ ในฐานะการ์ดอาสามาตั้งแต่เมื่อครั้งการชุมนุมขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 และการชุมนุมกู้ชาติครั้งนี้ กว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ไม่เคยมีแม้แต่วันเดียว ที่ชาวพันธมิตรฯ จะไม่พบเห็นเธอคนนี้ ทำหน้าที่เป็นการ์ดด้านหลังเวที

“พี่อยากบอกไปยังสังคมเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของการ์ดอาสาพันธมิตรฯ ว่า ไม่ควรมองภาพรวมคำว่าการ์ดพันธมิตรฯ กว้างเกินไป เพราะความเป็นการ์ดพันธมิตรฯ ไม่ได้ติดตัวคนๆ นั้นไปตลอด เหมือนพี่ที่เมื่อเดินพ้นจากการชุมนุม พี่ก็คือประชาชนคนหนึ่ง เมื่อพี่ทำผิดก็ไม่ใช่เรื่องที่พี่จะอ้างได้ว่าพี่คือการ์ดพันธมิตรฯ ดังนั้นอยากให้มองการ์ดด้วยความเป็นปัจจุบัน นั่นคือคนที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในสถานที่ชุมนุมเท่านั้น คนที่ถูกให้ออกไปแล้ว อย่านำมาเกี่ยวโยงกัน”

รายละเอียดคำให้สัมภาษณ์ของ “พี่อ้อย”

           “น้องอาย” สาวน้อยหน้าใส ผู้อาสาทำหน้าที่การ์ดอาสารุ่นเยาว์



สาวน้อยหน้าใสคนนี้ หากมองผิวเผิน ก็เหมือนนักเรียนหญิงมัธยมปลายทั่วไป ที่บางคนเลือกที่จะใช้เวลาว่างจากการเรียนไปเดินเที่ยวเล่น หรือสนุกอยู่กับเพื่อน ๆ แต่สำหรับ “น้องอาย” แล้ว เวลาว่างจากการเรียน เธอเลือกที่จะมอบให้กับการมาทำหน้าที่เป็นการ์ดอาสารุ่นเยาว์

“ถึงแม้หนูจะเป็นแค่เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่หนูก็อยากมีส่วนร่วมกับการปกป้องสถาบันหลักของชาติ หนูไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของเด็กหรือของผู้ใหญ่ แต่หนูมองว่า มันคือเรื่องของส่วนรวม ที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม”

รายละเอียดคำให้สัมภาษณ์ของ “น้องอาย”

    “พี่สัน” ชายหนุ่มผู้เดินทางไป-กลับ กรุงเทพฯ และสุพรรณบุรีทุกวัน เพื่อมาทำหน้าที่การ์ดอาสาให้ชาวพันธมิตรฯ



อยากบอกสังคมว่า ในเรื่องกระแสข่าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับการ์ดพันธมิตรฯ นั้น อยากให้ทุกคนอย่ามองประเด็นข่าวเพียงด้านเดียว ต้องมองให้รอบด้าน เมื่อได้รับข่าวจากสื่อใด ๆ ก็ตาม จะต้องใช้สติปัญญา พิจารณาประกอบกับเหตุผลให้รอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ เพราะก็ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันก็ยังมีสื่อบางสื่อ ที่อาจเต้าข่าวหรือเสนอข่าวที่บิดเบือนได้เช่นกัน

รายละเอียดคำให้สัมภาษณ์ของ “พี่สัน”

“หนึ่ง” หนุ่มวัย 33 ปี อาชีพขายอะไหล่รถยนต์ผู้นี้ อยากบอกกับสังคมว่า “บางครั้งข่าวที่คุณเห็นอาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป”




“ผมอยากให้ทุกคน ฟังข่าวอย่างใจเป็นธรรม เพราะข่าวหลายอย่างของการ์ดพันธมิตรฯ ที่บางสื่อเสนอออกไปนั้น ไม่ใช่ความจริงเสมอไป อยากให้สังคมเปิดใจรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย อย่าเชื่อแค่การฟังข่าวด้านเดียว หรือคนเล่าลือกันเท่านั้น”
รายละเอียดคำให้สัมภาษณ์ของ “หนึ่ง”

เปิดใจ มุมมอง สื่อ ที่มีต่อ “การ์ดอาสา”

เสถียร วิริยะพรรณพงศา สำนักข่าวเนชั่น

เสถียรบอกความรู้สึกที่มีต่อการ์ดอาสา พันธมิตรฯ ว่า โดยส่วนตัวแล้ว เข้าใจบทบาท และหน้าที่ของการ์ดดี ว่าต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาความปลอดภัย ดังนั้นการทำงานอาจมีการกระทบกระทั่งกันกับผู้สื่อข่าวบ้าง เพราะการ์ดคือด่านหน้า ที่จะต้องปะทะกับทุกฝ่าย ไม่ว่ากับมวลชนหรือกับผู้สื่อข่าว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ข่าวคราวของการ์ดอาสา อาจถูกนำมาตั้งเป็นประเด็นต่าง ๆ อยู่ในขณะนี้

การทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวในการชุมนุมพันธมิตรฯ ได้พบเห็นภาพการ์ดอาสา ในด้านการใช้ความรุนแรง หรือคุกคามสื่อ บ้างหรือไม่ ? คงไม่ถึงกับใช้ความรุนแรง แต่ก็ต้องยอมรับตามตรงว่า ในช่วงแรกก็มีอยู่บ้าง ที่การ์ดอาสาหลายคงมีการใช้คำพูดที่ค่อนข้างดุดัน ในการกันสื่อไม่ให้เข้าถึงตัวแกนนำได้ง่าย แต่ก็แค่นั้น ไม่ได้รุนแรงกว่านั้น ซึ่งเราก็เข้าใจว่าในสถานการณ์ช่วงแรกที่ค่อนข้างกดดัน และยังล่อแหลมที่อาจจะเกิดอันตรายได้ เขาก็ต้องทำหน้าที่อย่างเข้มงวด แต่ในช่วงหลังมานี้ก็ถือว่าดีขึ้นในระดับหนึ่ง ด้วยอาจเป็นเพราะการเริ่มคุ้นเคย และเข้าใจบทบาทของกันและกันมากขึ้น

คิดว่ามีการใช้เงินจ้างการ์ด หรือผู้มาชุมนุมหรือไม่ เสถียร อึ้งเล็กน้อยกับคำถามนี้ ก่อนจะตอบเราว่า “เรื่องนี้ผมคงตอบไม่ได้ชัดเจนนะ ว่ามีหรือเปล่า แต่เท่าที่เห็นก็ไม่เคยเห็นการใช้เงินจ้างนะ แต่อาจจะมีการอำนวยความสะดวกบ้าง ในเรื่องของอาหารการกิน หรือรถรับ-ส่ง แต่ถ้าเป็นการจ้างผมไม่เคยเห็นจริง ๆ แล้วโดยส่วนตัวผมมองว่า คนมาร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ เป็นคนชั้นกลาง ที่มีความรู้ มีการศึกษานะ ไม่ใช่คนที่จะมาจ้างด้วยเงินได้”

สุดท้าย เสถียร กล่าวว่าในฐานะของสื่อมวลชนคนหนึ่ง อยากจะขอฝากไปยังผู้สื่อข่าวสำนักอื่น ๆ และผู้ที่ดูแลการ์ดอาสาด้วยว่า ในเมื่อสื่อและการ์ดอาสา ต้องทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นทั้งสองฝ่ายควรช่วยกันปรับทัศนคติเข้าหากัน คือในส่วนของผู้สื่อข่าวเองก็ควรทำความเข้าใจในหน้าที่ของการ์ดว่าต้องรักษาความปลอดภัยให้กับแกนนำ และผู้ชุมนุมทุกคน ส่วนการ์ดก็ควรปรับทัศนคติว่า ผู้สื่อข่าวคือกระบอกเสียง ที่จะทำหน้าที่ขยายความรู้ ความคิดของพันธมิตรฯ ไปสู่สังคม ไม่ใช่คนที่จะต้องมาตั้งแง่ใส่กัน

“จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง” ผู้สื่อข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์แนวหน้า

จีรพงษ์ บอกเล่าถึงการทำหน้าที่ร่วมกันของผู้สื่อข่าว และการ์ดอาสาของพันธมิตรฯ ว่า จนถึงวันนี้ถ้านับตั้งแต่การชุมนุมภายในทำเนียบรัฐบาลของพันธมิตรฯ เห็นว่า ช่วงเดือนแรก สื่อและการ์ดอาสา ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ การ์ดอาสาและผู้สื่อข่าว จึงเป็นคนสองกลุ่มที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ก็มีการกระทบกระทั่งกันบ้าง เพราะต่างฝ่ายก็อยากทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด การ์ดก็ต้องรักษาความปลอดภัยให้กับแกนนำ สื่อก็ต้องการใกล้ชิดกับแกนนำให้มากที่สุด ดังนั้นเรื่องความไม่เข้าใจกันก็คงมีบ้าง แต่เท่าที่เห็นในตอนนี้ ก็รู้สึกว่าดีขึ้นมาก แต่ละฝ่ายก็เข้าใจกันมากขึ้น ทางแกนนำหรือการ์ดก็ไม่ได้ปิดกั้นการนำเสนอของสื่อมวลชน เพราะหากปิดกั้นป่านนี้เราคงเสนอข่าวกันไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ตรงก็ต้องบอกว่าขอบคุณ ที่ให้เราทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ

ต่อกระแสข่าวที่ว่า การ์ดอาสาพันธมิตรฯ ดุร้ายถึงขนาดมีห้องมืดไว้ซ้อมคน “ผมเคยได้ยินเหมือนกันนะ ก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริง หรือแค่ข่าวลือ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมทำข่าวที่นี่มา ก็หลายเดือนนะ แต่ไม่เคยเห็น” จีรพงษ์ กล่าว

คิดเห็นอย่างไรกับข่าวต่าง ๆ ในด้านลบของ การ์ดอาสา ที่ถูกปล่อยออกมา จีรพงษ์ กล่าวว่า ในจุดนี้เป็นเรื่องที่ทางพันธมิตรฯ และการ์ดอาสาต้องชี้แจงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่ออธิบายให้สังคมได้รับทราบ ซึ่งหากพันธมิตรฯ ยืนยันว่า การ์ดอาสาที่ไปสร้างความรุนแรงนั้น เป็นการ์ดที่ถูกปลดให้ออกจากหน้าที่ไปแล้ว ก็ต้องเร่งทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับสังคม พร้อมทั้งควรมีมาตรการที่รัดกุม ในการคัดกรองการ์ดอาสาให้มากขึ้น ซึ่งถึงแม้ปัจจุบันอาจจะดีอยู่แล้วในการคัดกรองคนเข้า แต่เมื่อมีการปลดให้ออกจากตำแหน่งไปแล้ว ก็ควรจะต้องมีการเฝ้าติดตามพฤติกรรมของคนเหล่านั้นเพิ่มขึ้นอีก เพราะจุดนี้เองที่เป็นความล่อแหลม ให้บุคคลที่เคยเป็นการ์ดพันธมิตรฯ นำชื่อการ์ดอาสาพันธมิตรฯ ไปแอบอ้างได้

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่พอจะตอบข้อสงสัยของสังคม ที่มีต่อการ์ดอาสาของพันธมิตรฯ บุคคลซึ่งอาสามาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมด้วยจิตอาสา ซึ่งทุกคนที่อยู่ในหน่วยนี้พยายามที่จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่การทำหน้าที่ของพวกเขาเหล่านี้ถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามต่าง ๆ นานา แต่พวกเขายังยืนยันว่า ไม่ท้อ และไม่หวั่น เพราะพวกเขาเชื่อว่า การทำหน้าที่ครั้งนี้แม้จะเป็นเหมือนการปิดทองหลังพระ ที่ไม่ค่อยมีใครเห็นใจหรือเห็นค่า เรียกได้ว่าเวลาทำดี ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง

ในทางกลับกันเมื่อมีกลุ่มคนจ้องทำลายโดยการสร้างสถานการณ์และป้ายความผิดมาให้ ข่าวเหล่านั้นกลับโด่งดังจนพวกเขาเป็นที่รู้จักในภาพลักษณ์ด้านลบ แต่พวกเขาก็ยินดีเป็นอีกด้านความงามแห่งองค์พระปฏิมาต่อไป เพราะยังแน่วแน่ว่าอุดมการณ์ที่พวกเขาอาสามาทำหน้าที่นี้ตั้งแต่แรก นั่นคือ “การปกป้องและดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องผู้มาชุมนุมด้วยความรักชาติทุกคน”
การดื่มน้ำสาบานตนของ การ์ดพันธมิตรฯ

ภายในห้องบัญชาการรักษาความปลอดภัยของเหล่า การ์ดอาสา
เมื่อการ์ดอาสา ตรวจพบเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็จะมาแจ้งเพื่อทำการบันทึกหลักฐานไว้ที่ ส.น.พันธมิตรฯ

กิตติชัย ใสสะอาด หัวหน้าการ์ดอาสา
กำลังโหลดความคิดเห็น