xs
xsm
sm
md
lg

สรุปผู้บาดเจ็บล่าสุด นอนรพ.48 ราย สาหัส 4 ขาขาด 4 มือขาด 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์นเรนทรสรุปล่าสุดมีผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลรวม 48 ราย อาการสาหัส 4 ราย ขาขาด 4 ราย ข้อมือขาด 1 ราย ที่เหลือนิ้วมือ-เท้าขาด เป็นแผลไหม้ "หมอสุรเชษฐ์" ยันแพทย์จุฬาฯไม่แบ่งแยกช่วยเหลือตำรวจได้รับบาดเจ็บ ขณะเกิดเหตุ 7 ตุลาทมิฬ แต่ติดประกาศงดรักษาตำรวจเพราะต้องการให้รู้ว่าแพทย์ไม่พอใจการใช้ความรุนแรง

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (ศูนย์นเรนทร) สรุปยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชธิปไตยย(พธม.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ว่า ล่าสุดวันนี้ (11 ต.ค.) มีผู้ได้รับบาดเจ็บที่ยังพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทั้งสิ้น 48 ราย กระจายอยู่หลายโรงพยาบาลต่างๆ โดยเป็นผู้บาดเจ็บสาหัสต้องอยู่ห้องไอซียู 5 คน แบ่งเป็นโรงพยาบาลวชิรพยาบาล 12 คน อยู่ไอซียู 1 คน โรงพยาบาลกลาง 3 คน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 3 คน อยู่ไอซียู 1 คน โรงพยาบาลศิริราช 5 คน โรงพยาบาลราชวิถี 1 คน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 5 คน อยู่ไอซียู 1 คน โรงพยาบาลรามาธิบดี 8 คน อยู่ไอซียู 1 คน โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นตำรวจทั้งหมด 9 คน อยู่ไอซียู 1 คน โรงพยาบาลเลิดสิน 1 คน และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 1 คน อย่างไรก็ตาม คาดว่าในวันจันทร์ที่ 13 ตุลาคมนี้ ผู้บาดเจ็บหลายคนที่อาการดีขึ้นก็จะสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับจำนวนผู้บาดเจ็บที่พิการขาขาดจากเหตุการณ์ดังกล่าว ถึงวันนี้มีทั้งสิ้น 4 ราย และยังมีอีก 2-3 รายอยู่ระหว่างติดตามอาการอย่างใกล้ชิด อาจมีภาวะเสี่ยงต้องตัดขาเพราะแผลลุกลาม ส่วนผู้บาดเจ็บที่ข้อมือขาด มี 1 ราย ที่เหลือเป็นผู้บาดเจ็บที่นิ้วมือและนิ้วเท้าขาด 2-3 คน นอกจากนี้เป็นการบาดเจ็บจากแผลไหม้ ส่วนผู้ที่มีอาการสาหัสอยู่ระหว่างติดตามอาการอย่างใกล้ชิด มี 4 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล 1 ราย ขาขาดและมีโรคแทรกซ้อนทางปอด อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 ราย มีอาการสาหัสที่สมอง รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 ราย หลอดลมฉีกขาด และอีก 1 รายเป็นตำรวจหลอดอาหารทะลุ รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวถึงการที่แพทย์จุฬาฯ ได้ติดประกาศงดรักษาตำรวจว่า เป็นเรื่องของอารมณ์และต้องการแสดงสัญลักษณ์ให้ตำรวจรู้ว่าแพทย์ไม่พอใจกับการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำให้มีคนบาดเจ็บจำนวนมากและมีผู้เสียชีวิตด้วย

"ในฐานะที่ผมก็อยู่ในเหตุการณ์ที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม จึงอยากบอกต่อสังคมว่า แพทย์จุฬาฯ นำทีมโดย นพ.พิชิต ศิริวรรณ ศัลยแพทย์ ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ และทีมแพทย์จุฬาฯ เป็นผู้เข้าไปช่วยตำรวจที่ถูกยิงที่อาคารรัฐสภา 2 เพื่อนำตำรวจที่บาดเจ็บปฐมพยาบาลเบื้องต้นเจาะระบายเลือดให้ตำรวจรายดังกล่าว ก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ได้แบ่งแยกอย่างที่มีการประกาศไป แต่การแสดงออกแบบนั้นเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ต้องการสื่อกับสังคมเท่านั้น"นพ.สุรเชษฐ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น