xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ประกาศห้ามผลิต นำเข้า จำหน่ายอาหารที่ตรวจพบ "เมลามีน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"เหลิม"เซ็นแล้ว ประกาศมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ให้อาหารที่ตรวจพบสารเมลามีน และสารในกลุ่มเมลามีน เป็นอาหารต้องห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย กำหนดให้ผู้นำเข้าอาหารที่ผลิตจากประเทศจีน ต้องแสดงผลการวิเคราะห์จากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ที่มีระบบประกันคุณภาพตามมาตรฐานสากล ที่ด่านอาหารและยา คาดมีผลบังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในอีก 1-2 วันนี้

ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องเมลามีนว่า ในวันนี้(8 ตุลาคม 2551) ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2551 ห้ามอาหารที่ผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย อาหารที่ปนเปื้อนสารเมลามีน (Melamine) และสารในกลุ่มเมลามีน ได้แก่ กรดซัยยานูริก (Cyanuric acid) แอมมีไลด์ (Ammelide) และแอมมีลีน (Ammeline) ประกาศนี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าประมาณ 1-2 วันนี้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 26(1) อาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพเจือปนอยู่ด้วย ถือว่าไม่บริสุทธิ์ ฝ่าฝืนตามมาตรา 25(1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

ร.ต.อ.ดร.เฉลิม กล่าวต่อไปว่า ตามประกาศฉบับนี้ อาหารที่เข้าข่ายจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้ได้ตามมาตรฐานมี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนมและอาหารที่มีนมเป็นองค์ประกอบ โดยนมดัดแปลงสำหรับทารก นมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก นมผงชนิดต่างๆ กำหนดให้มีสารเมลามีน (Melamine) และสารในกลุ่มเมลามีน ได้แก่ กรดซัยยานูริก (Cyanuric acid) แอมมีไลด์ (Ammelide) และแอมมีลีน (Ammeline) ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) และอาหารที่มีนมหรือองค์ประกอบของนมเป็นส่วนผสม ได้แก่ นมพร้อมดื่ม นมเปรี้ยว ไอศกรีม โยเกิร์ต และกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม กำหนดต้องไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) ทั้งนี้ ให้ผู้นำเข้าอาหารดังกล่าวทุกรุ่น ที่ผลิตจากประเทศจีน ต้องแสดงผลการวิเคราะห์จากหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรหรือหน่วยงานเอกชน ที่มีระบบประกันคุณภาพตามมาตรฐานสากล ที่ด่านอาหารและยาทุกครั้ง

ร.ต.อ.ดร.เฉลิม กล่าวต่ออีกว่า ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ด่านอาหารและยา และผู้ประกอบการทั่วประเทศ เพื่อให้ยึดเป็นหลักปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และให้ อย.ติดตามข้อมูลความคืบหน้าของสารเมลามีนและสารในกลุ่มเมลามีน และข้อมูลการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพื่อพิจารณากลั่นกรองเกณฑ์ที่กำหนดให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง

ทางด้าน นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ขอให้ประชาชนไทยมั่นใจในมาตรการเข้มงวด ความปลอดภัยต่อผู้บริโภคของ อย. กลุ่มนมผงเลี้ยงเด็ก รวมถึงนมดื่มทั่วๆไป และผลิตภัณฑ์ที่มีนมผสม เช่น นมพร้อมดื่ม นมเปรี้ยว ไอศกรีม โยเกิร์ต ที่จำหน่ายในท้องตลาดขณะนี้ ผลการตรวจสอบไม่พบสารเมลามีนปนเปื้อน สามารถบริโภคได้ โดยขณะนี้อย.ได้เฝ้าระวังตรวจสอบปัญหาการปนเปื้อนสารเมลามีนในระดับโลกทางเครือข่ายความปลอดภัยอาหารนานาชาติอย่างใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น