xs
xsm
sm
md
lg

เมลามีนป่วนโลก“โคอาล่า-ลิปตัน-กูลิโกะ”เจอแจ็คพอต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในขณะที่ฮ่องกงและมาเก๊าตรวจพบขนม โคอาล่า ที่ผลิตในจีนปนเปื้อนสารเมลามีน แต่ในมณฑลกว่างตงซึ่งอยู่ใกล้เคียงก็ยังวางจำหน่ายอยู่
เอเอฟพี – นมเจือเมลามีนจีนสร้างกระแสหวั่นวิตกเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหารไปทั่วโลก ล่าสุดทางการจีนเผยผลตรวจนมผงทั่วประเทศ พบสารพิษปนเปื้อนสินค้า 31 รายการ ขณะเดียวกันดัตช์-ฮ่องกงสั่งโละขนมโคอาล่า ขนมขบเคี้ยวยี่ห้อกูลิโกะ และชานมผงลิปตันออกจากชั้นหลังตรวจเจอเมลามีนสูงเกินมาตรฐานกำหนด

สำนักงานควบคุมกักกันและตรวจสอบคุณภาพแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมความปลอดภัยสินค้าของจีนเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบนมผงทั่วประเทศพบว่ามีนมผง 31 รายการปนเปื้อนสารเมลามีน หรือคิดเป็นร้อยละ 11.7 จากสินค้าทั้งหมด 265 รายการที่ตรวจสอบ โดยสินค้าทั้งหมดผลิตก่อนวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2551 แต่สินค้าที่ผลิตหลังจากนั้นปลอดภัยทั้งหมด

โดยสินค้าเหล่านี้มาจากบริษัทต่างๆ 20 แห่ง รวมทั้งบริษัท ซานลู่ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่จุดชนวนวิกฤตเมลามีนครั้งนี้

ต่อปัญหาดังกล่าว ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ได้ออกมาเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตขนมและอาหาร เร่งคุมเข้มการตรวจสอบความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์ของตัวเองเพื่อความสบายใจของผู้บริโภค พร้อมเตือนให้บริษัทอาหารจีนเรียนรู้บทเรียนความผิดพลาดจากการปนเปื้อนสารพิษในอาหาร ซึ่งบ่อนทำลายชื่อเสียงของจีน และทำให้มีการแบนและสั่งระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนมจีนทั่วโลก

โดยล่าสุดบริษัทอาหารสหรัฐฯ “ไฮน์” (Heinz) ก็ได้ตัดสินใจหยุดซื้อนมจีนมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ โดยโฆษกของบริษัทกล่าวว่า “ทางไฮน์ได้ตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ในการเปลี่ยนแหล่งซัปพลายนมจากจีนและฮ่องกงไปเป็นที่อื่น เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ไฮน์ นอกจากนี้เรากำลังตรวจสอบสารเมลามีนจากส่วนผสมที่เป็นนมทั้งหมดในโรงงานของเราด้วย”

ขณะเดียวกันในตลาดเนเธอร์แลนด์ก็ได้มีการโละขนมโคอาล่ารสเกาลัดและช็อคโกแลตยี่ห้อ Koala ที่ผลิตในประเทศจีนลงจากชั้นวาง หลังจากตรวจพบว่าขนมดังกล่าวมีสารเมลามีนอยู่ที่ระดับ 4-5 มิลลิกรัม ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่รับได้ที่ 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยขนมที่เก็บมาเหล่านี้จะถูกนำไปทำลายต่อไป

ด้านคณะกรรมการความปลอดภัยสินค้าบริโภคและอาหารแห่งเนเธอร์แลนด์ (VWA) ระบุว่า ที่ผ่านมาขนมโคอาล่าดังกล่าวถูกวางจำหน่ายเฉพาะในร้านค้าจีนเท่านั้น พร้อมย้ำว่าผู้ที่รับประทานขนมดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย “น้อยมาก”

“เด็กจะต้องทานขนมโคอาล่ามากถึง 2 กิโลกรัมต่อวันถึงจะเป็นอันตราย” คณะกรรมการฯ ระบุ

เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ชานมชนิดผงยี่ห้อ “ลิปตัน” ซึ่งล่าสุดทางบริษัทยูนิลิเวอร์ยืนยันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 ก.ย.) ว่า บริษัทกำลังเรียกเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในตลาดฮ่องกง หลังจากตรวจพบสารเคมีที่ใช้อุตสาหกรรมใน “ปริมาณน้อย” โดยเกอร์เบิร์ก แวน เกนเดอเรน โฆษกของยูนิลิเวอร์ให้สัมภาษณ์ว่า “เราตรวจพบสารเมลามีนปริมาณเล็กน้อยในชานมผงยี่ห้อลิปตันที่จำหน่ายในฮ่องกงและมาเก๊า ตามที่ทราบมาสินค้าเหล่านี้ผลิตที่ฮ่องกง” ซึ่งล่าสุดทางบริษัทได้เรียกเก็บสินค้าแบรนด์ดังกล่าวแล้วหลายพันกล่อง
แคร็กเกอร์มันฝรั่ง “House of Steamed Potato”
นอกจากนี้ สำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารฮ่องกงยังเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบขนมขบเคี้ยวยี่ห้อกูลิโกะที่ผลิตในจีน และนำเข้ามาจำหน่ายในฮ่องกง พบว่ามีสารเมลามีน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตพลาสติกปนเปื้อนอยู่มากถึง 43 ในล้านส่วน (ppm.) ซึ่งเกิดกว่าระดับที่ทางการฮ่องกงอนุญาตถึง 17 เท่า โดยทางสำนักงานได้สั่งให้ทางผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเรียกเก็บสินค้าจากชั้นวางจำหน่ายแล้ว ส่วนช็อคโกแล็ตแคดเบอรี่ 11 รายการที่ทางบริษัทเรียกเก็บสินค้าในฮ่องกง ไต้หวัน และออสเตรเลียไปนั้น ทางฮ่องกงระบุว่ามีปริมาณเมลามีนอยู่ในระดับปลอดภัย

และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 ก.ย.) ทางการสิงคโปร์ก็เปิดเผยว่ามีการตรวจพบสารเมลามีนในขนมขบเคี้ยวจากจีนเพิ่มอีก ได้แก่ ขนมรสสตอเบอร์รี่ “New Sshma Ows Mallow Dippers” และแคร็กเกอร์มันฝรั่ง “House of Steamed Potato”

พ่อแม่เหยื่อนมเรียกร้องค่าเสียหาย

ทนายความพ่อแม่ของเด็กที่ได้รับอันตรายจากการดื่มนมที่ปนเปื้อนสารเมลามีน ดำเนินการฟ้องร้องบริษัทต้นเหตุจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพิษ เมื่อวันพุธ(1 ต.ค.)

จี้ เฉิง หนึ่งในทนายความจากสำนักทนายความเต๋อเฮิง ปักกิ่งเผยกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีว่า ขณะนี้เขามีเอกสารที่จะยื่นฟ้องร้องต่อบริษัทซานลู่ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทต้นเรื่องของนมผงปนเปื้อนสารเมลามีน โดยทนายจี้ เฉิงระบุจะทำการยื่นเอกสารฟ้องร้องต่อศาลในเมืองเจิ้นผิง มณฑลเหอหนันทางตอนกลางของประเทศจีน

“เราเตรียมพร้อมเอกสารทุกอย่างเพื่อชี้แจ้งต่อศาล และตอนนี้เรากำลังรอการตอบรับจากศาล” จี้กล่าว

สื่อท้องถิ่นเมืองเจิ้นผิงรายงานว่า เด็กชายรายหนึ่งวัย1 ขวบ เริ่มดื่มผงยี่ห้อซานลู่ตั้งแต่เดือนกรกฏาคมของปีที่แล้ว และป่วยเป็นโรคนิ่วในไตเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงปักกิ่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองของเด็กรายนี้ ได้เรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทซานลู่ กรุ๊ปเป็นเงินจำนวน 150,000 หยวน(ประมาณ 22,000 เหรียญสหรัฐ)

“ผมเชื่อว่าเงินจำนวนนี้มันสมเหตุสมผลแล้ว” พ่อของเด็กกล่าว โดยมีสื่อท้องถิ่นรายงานค่าเสียหายที่ผู้ปกครองเด็กเรียกร้องกับทางบริษัท หลังจากที่พวกเขาต้องนำลูกไปรักษาในทันทีที่เกิดอาการ

ข่าวอื้อฉาวเรื่องนมที่ปนเปื้อนนับว่ากระเทือนต่ออุตสาหกรรมนมจีนอย่างมาก โดยขณะนี้มีหลายประเทศที่ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากจีน รวมถึงกระแสเรียกเก็บสินค้าก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และตั้งแต่ทางการจีนตรวจพบสารเมลามีนที่ปนเปื้อนในนม ก็มีรายงานว่ามีเด็กที่เสียชีวิตแล้ว 4 คน และป่วยอีกราว 53,000 คน

อย่างไรก็ตาม กรณีนมอื้อฉาวในจีนยังคงบานปลายต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในตลาดต่างประเทศหลายรายต่างก็ทยอยโละสินค้าแบรนด์จีนออกจากชั้นวางสินค้าแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น