กกต.-กทม.ซ้อมระบบประมวลผลการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะมีขึ้น 5 ต.ค.นี้ ยันพร้อมแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการรับมือสภาพอากาศ หากมีฝนตกในวันเลือกตั้ง ได้เพิ่มเต็นท์สำรองสำหรับให้ประชาชนพักรอ และมีเทศกิจคอยอำนวยความสะดวก ด้าน “ดร.แดน” ลง พท.ย่านตลาดน้อย ร่วมกินเจ ชูกำจัดขยะ-น้ำเน่า อย่างจริงจัง
วันนี้ (3 ก.ย.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เสาชิงช้า นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจเยี่ยมการซ้อมประมวลผลคะแนนการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 5 ต.ค.นี้ โดยมี นายรัฐพล มีธนาถาวร รองปลัด กทม.นำชมระบบประมวลผล ซึ่ง กทม.จัดเตรียมคอมพิวเตอร์ไว้ 20 เครื่อง มีขั้นตอนการดำเนินการหลังปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง
เริ่มจากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหีบบัตรไปส่งต่อคณะกรรมการนับคะแนนประจำสถานที่นับคะแนนแต่ละแห่ง และคณะกรรมการนับคะแนนเมื่อได้รับหีบบัตรแล้ว จะตรวจสอบความถูกต้องแล้วเปิดหีบบัตรนับยอดจำนวนบัตรให้ตรงกับที่รายงานไว้ แล้วนำบัตรมานับแยกเป็นมัดๆ มัดละ 50 บัตร แล้วนำไปใส่ถุงใส ถุงละ 500 บัตร และนำไปรวมไว้ในภาชนะรวมบัตร เพื่อรอการแจกจ่ายไปนับคะแนน
จากนั้น เมื่อหีบบัตรมาส่งครบทุกหน่วยแล้ว คณะกรรมการนับคะแนนจะมอบบัตรให้เจ้าหน้าที่นับคะแนนประจำกระดานขีดคะแนน ครั้งละ 500 บัตร หรือ 1 ถุงใส เพื่อนับคะแนน เมื่อนับเสร็จแต่ละกระดานแล้ว เขตจะประมวลผลคะแนนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ณ สถานที่นับคะแนน และส่งผลการประมวลผลคะแนนด้วยระบบออนไลน์ไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ที่ศาลาว่าการ กทม.โดยจะส่งเป็นระยะๆ จนครบทุกกระดาน ซึ่งศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ที่ศาลาว่าการ กทม.จะรวมผลคะแนนของทุกสถานที่นับคะแนนเป็นระยะๆ และแสดงผลออกทางทีวีขนาดใหญ่ 2 จอ ด้านหน้าศาลาว่าการ กทม.ลานคนเมือง จนครบทั้ง 50 เขต และจะประกาศผลการนับคะแนนไว้ที่หน้าศาลาว่าการ กทม.พร้อมส่งประกาศผลรวมคะแนนให้ กกต.กทม. เพื่อส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งต่อไป
นายประพันธ์ กล่าวว่า ระบบการรายงานผล และการจัดเตรียมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ถึงวันนี้ มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ แล้ว กกต.พิมพ์บัตรเลือกตั้งไว้ 4.4 ล้านใบ มากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มี 4.2 ล้านคน เพื่อเตรียมไว้สำหรับจำนวนผู้เพิ่มถอนชื่อภายหลัง และการส่งบัตรเลือกตั้งให้ทุกเขต จะส่งเป็นเล่ม 1 เล่ม มี 25 ใบ หลังปิดหีบแล้ว ทุกบัตรจะถูกตรวจสอบได้ ดังนั้นจึงอยากให้คนกรุงเทพฯ ออกมาใช้สิทธิกันอย่างเต็มที่ แม้จะอยู่ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองมีปัญหา
นายประพันธ์ กล่าวว่า หลังการนับคะแนนเสร็จสิ้น รู้ผลอย่างไม่เป็นทางการ กฎหมายกำหนดให้ กกต.มีเวลา 30 วัน ในการพิจารณา ก่อนที่จะประกาศรับรอง แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ระบุไว้ให้มีการส่งมอบตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ใน 7 วัน หลังเลือกตั้ง กกต.จะเร่งใช้ดุลพินิจในการพิจารณา อย่างไรก็ตาม หากประกาศรับรองไม่ทันใน 7 วัน ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ก็ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ สำหรับผู้ร้องคัดค้านจะต้องร้องต่อ กกต.ภายใน 30 วัน ซึ่งถึงวันนี้ มี 2 เรื่องที่มีการร้องเรียน คือ กรณีป้ายหาเสียง และกรณีร้องเรียนว่าแจก wi-fi ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต.อยู่
ด้าน นายรัฐพล กล่าวถึงสภาพอากาศในวันเลือกตั้ง ที่มีพยากรณ์ว่า ในช่วงเช้าจะมีฝนร้อยละ 10-20 และในช่วงค่ำจะมีฝนหนัก ว่า กทม.ได้เตรียมแผนรองรับหากเกิดฝนตกในวันเลือกตั้ง โดยมีการจัดเตรียมเต็นท์สำรองเพิ่มทุกหน่วยเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนพักรอหากมีฝนตก และจะมีเทศกิจคอยอำนวยความสะดวกในการกางร่มให้ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิได้ ส่วนอุปกรณ์การเลือกตั้งก็ได้จัดเตรียมอุปกรณ์การป้องกันน้ำฝนไว้แล้ว
** ดร.แดน ชูกำจัดขยะ-น้ำเน่า อย่างจริงจัง
ด้าน นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เบอร์ 2 ลงพื้นที่หาเสียงและร่วมงานเทศกาลกินเจ ที่ศาลเจ้าโจวซือกง ย่านตลาดน้อย มีชาวไทยเชื้อสายจีนที่ร่วมประเพณีถือศีลกินเจ ทักทายอย่างอบอุ่น จากนั้น นายเกรียงศักดิ์ ได้ร่วมทำขนมตุ้บตั้บ ซึ่งเป็นขนมโบราณ ทำจากถั่วและน้ำตาล โดยแสดงท่าทางใช้ฆ้อนไม้ขนาดใหญ่ทุบขนมให้ผู้สื่อข่าวชม และกล่าวว่า เปรียบการทุบทำขนมเหมือนการทุบปัญหาของชาวกรุงเทพฯ โดยตนอาสาเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม.
จากนั้นได้เดินทางไปร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการเสวนาเรื่อง “นโยบายผู้ว่าฯ แก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อม กทม.” ที่สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสภาวะแวดล้อมเข้าร่วม อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโยธาธิการและผังเมือง
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า การรณรงค์แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องสร้างจิตสำนึกให้กับคน กทม.อย่างจริงจัง โดยผู้ว่าฯ กทม.ต้องเป็นแบบอย่าง เพื่อให้เกิดจิตสำนึกร่วมกัน จากนั้นใช้เทคโนโลยีเข้าแก้ปัญหาเหมือนเช่นต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น น้ำเน่าเสีย ที่ประเทศสวีเดนประสบมากกว่าไทย การรณรงค์คัดแยกขยะอย่างจริงจัง มีการจัดตั้ง Call Center เรียกจัดเก็บขยะได้ตลอด 24 ชั่วโมง