อุตุฯ เตือนฝนฟ้าคะนอง และตกหนักทั่วทุกภาคของไทย คลื่นลมทะเลฝั่งอ่าวไทย อันดามัน สูง 1-2 เมตร ด้านสำนักระบายน้ำ กทม.เผยฝนตกหนักสุดที่เขตลาดพร้าว
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานลักษณะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูง ยังคงปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ร่องความกดอากาศต่ำเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกระจายและฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้
อนึ่ง พายุโซนร้อน “ฮีโกส” (HIGOSY) ปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศจีนตอนใต้วันที่ 4-5 ตุลาคม 2551
พยากรณ์อากาศตั้งแต่เที่ยงวันนี้ (3 ต.ค.) จนถึงเที่ยงวันพรุ่งนี้
ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และ เพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี และ ราชบุรี
ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร
ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ สตูล ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร
กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง
ด้านนายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลาง ทำให้เกิดฝนตกหนักมากเมื่อคืนนี้ในเขต กทม.ปริมาณฝนมากที่สุดในเขตลาดพร้าว 100 มิลลิเมตร ส่วนที่อื่นๆ 75 มิลลิเมตร ขณะนี้น้ำท่วมขังตามถนนสายหลัก ถนนใหญ่ ไม่มีแล้ว ยังเหลือตามซอยอยู่บ้าง กำลังลดระดับระบายน้ำ อย่างไรก็ตาม ใน 1-2 วันนี้ กทม.จะยังมีฝนอยู่ สำนักการระบายน้ำได้สั่งการให้สถานีสูบน้ำริมแม่น้ำทุกจุด ลดระดับน้ำในคลองเพื่อรองรับการระบายน้ำท่วมขังจากฝนตกเอาไว้แล้ว
สำหรับจุดอ่อนไหวเกิดน้ำท่วมขังได้ง่าย คือ ถนนลาดพร้าว ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนงามวงศ์วาน ถนนรัชดาภิเษก ช่วงห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ถนนศรีอยุธยา ช่วงวังสวนผักกาด ถนนนิคมมักกะสัน
ส่วนวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังอยู่ในช่วงร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน แต่จะมีปริมาณฝนมากน้อยแค่ไหน กำลังตรวจสอบร่องความกดอากาศอยู่ อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม แจ้งว่า ขณะนี้ซอยที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ระหว่างสูบน้ำลงคลอง มีที่ซอยกรุงเทพนนท์ หมู่บ้านรัชมาเฮ้าส์ ซอยแม่ทองก้อน 1 ถนนสงฆ์ประภา เขตดอนเมือง หมู่บ้านเคหะธานี 4 ซอยมิสทีน ถนนราชพัฒนา เขตสะพานสูง
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 31 จังหวัด 12,092 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 20 ราย ราษฎรเดือดร้อน 454,304 ครัวเรือน รวมกว่า 1 ล้าน 5 แสนคน พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมประมาณ 547 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 557 บาท สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 26 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น และ ปราจีนบุรี ในพื้นที่ 20 อำเภอ 117 ตำบล 175 หมู่บ้าน
สำหรับพิษณุโลก ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพิษณุโลก 5 ตำบล อำเภอวังทอง 1 ตำบล อำเภอบางระกำ 6 ตำบล ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร ทำให้มีน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี แนวโน้มสถานการณ์ หากไม่มีฝนตกเพิ่มคาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 สัปดาห์ แต่จะยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตรบางแห่ง ลพบุรี ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอบ้านหมี่ และพื้นที่การเกษตร 9 ตำบล ระดับน้ำสูง 0.30-0.60 ม. แนวโน้มสถานการณ์ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกเพิ่ม คาดว่า อำเภอบ้านหมี่ จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 3-5 วันนี้ พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสักมีระดับสูงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำบางพื้นที่ใน 9 อำเภอ ขอนแก่น ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองขอนแก่น ชนบท บ้านแฮด และ แวงใหญ่ ปราจีนบุรียังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอศรีมหาโพธิ ส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ทำให้น้ำในลำห้วยสำราญมีปริมาณสูงขึ้นเอ่อท่วมบ้านเรือนราษฎรในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ 9 ชุมชน 185 ครัวเรือน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.10-0.30 เมตร แนวโน้มสถานการณ์ หากไม่มีฝนตกเพิ่มจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 2-3 วันนี้
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนเรือท้องแบนจำนวน 128 ลำ เพื่อออกให้บริการขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของ และอพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วม ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 11 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย พร้อมทั้งได้นำถุงยังชีพเครื่องอุปโภคและบริโภคจำนวน 13,250 ถุง ไปมอบให้กับผู้ประสบภัย รวมทั้งจัดรถผลิตน้ำดื่มสะอาด จำนวน 6 คัน ออกให้บริการน้ำดื่มเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนติดตั้งบ้านน็อคดาวน์ มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก จำนวน 10 หลัง และเต็นท์ที่พักอาศัย 70 หลัง ให้ผู้ประสบภัยได้พักอาศัยชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนในเบื้องต้นแล้ว สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป