ท่ามกลางสภาพปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่เป็นไปด้วยความตึงเครียด ไม่เพียงแค่เรื่องจิตใจเท่านั้นที่ต้องมีความเข้มแข็ง หากแต่การดูแลร่างกายก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่ายิ่งเรื่องของอาหารการกิน ด้วยว่าอาหารบางอย่างอาจทำให้ร่างกายเราร้อนรุ่ม กระตุ้นอารมณ์ ความอยาก ความปรารถนาได้ ทำให้ใจไม่เป็นสุข ในทางตรงกันข้ามถ้าเลือกกินอาหารที่จัดว่า “ร่าเริง” ได้นั้น ก็จะพลันทำให้เกิดความเย็นใจ อารมณ์สงบ ประสบแต่ความสุขทุกวันวาน
ทั้งนี้ อาหารที่เรียกว่าจะทำให้คุณเป็นสุขหนุ่มสาวได้อีกครั้งดังที่เรียกว่า “อาหารร่าเริง” นั้นส่วนใหญ่มีอยู่ในอาหาร “เจ” เป็นหลัก
นพ.กฤษดา ศิรามพุช, พบ.(จุฬาฯ) ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ให้ข้อมูลว่า อาหาร “เจ” ของจีนนั้นต่างกับอาหาร “มังสวิรัติ” ของฝรั่ง หรือ แขก โดยเจแบบของจีนนั้นไม่ได้ให้กินแต่ผักอย่างเดียว ด้วยมีผักถึง 5 อย่างที่กินไม่ได้ ซึ่งโดยมากเป็นผักกลิ่นแรง แถมเจของจีนก็ยังไม่ได้ห้ามเนื้อสัตว์ร้อยเปอร์เซ็นต์โดยสามารถกินหอยนางรมได้ ซึ่งเป็นความเชื่อตามตำนานของการกินเจ ส่วนถ้าเป็นมังสวิรัติของฝรั่งกับแขกนั้นจะไม่แตะต้องเนื้อสัตว์เลย แต่ผลิตภัณฑ์จากสัตว์นั้นก็อาจมีแตะต้องบ้าง ต่างกันไปตามลัทธิความเชื่อ เช่น บางลัทธิให้กินไข่ได้ หรือบางลัทธิให้กินนมได้ แต่บางลัทธิก็ไม่ให้กินผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เลยอย่างสิ้นเชิง
สำหรับการกินเจอย่างถูกต้อง มีความสุข ไม่ต้องพะวักพะวงว่าตนเอง หรือลูกหลานที่ยังเล็กจะขาดอาหารนั้น มีวิธีการดังต่อไปนี้ คือ
หนึ่ง- หนักอาหารผัก เช่น ผักคะน้า, บร็อกโคลี, ผักโขม, แครอท หรือฟักทอง ซึ่งไม่ต้องกลัวว่าจะขาดแป้ง โดยผักที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่มีแป้งเจืออยู่ทั้งนั้น แถมเป็นแป้งชั้นดีกว่าแป้งขาวๆ จากข้าวสวย ก๋วยเตี๋ยวเกี๊ยวน้ำหรือขนมปังเป็นก้อน โดยแป้งจากผักนี้จะทำให้ไม่หิวเร็วจึงไม่ต้องกลัวเอวใหญ่ไร้กางเกงใส่
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืม คือ ควรเติมวิตามินบีสิบสองจากอาหารจำพวกธัญพืชที่เติมวิตามิน, ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองแบบพิเศษสำหรับผู้กินมังสวิรัติหรือวิตามินบีสิบสองแบบเม็ดด้วย เพราะบีสิบสองนี้มีในนมและไข่ ถ้าขาดไปจะทำให้โลหิตจางได้
สอง -เว้นวรรคจากขนม ด้วยธรรมชาติของคนกินเจนั้นจะหิวเร็ว ถ้ากินอาหารเจแบบแท้ๆ ที่มีแป้งเยอะ ไม่ว่าจะหมี่กึงซึ่งเป็นแป้งสาลี หรือขนมจีบซาลาเปาเจ หรือแม้แต่น้ำเต้าหู้ที่ใส่หวานค่อนข้างเยอะ จึงทำให้เกิดอาการ “ติดแป้ง” อยากกินมื้อต่อไปไวขึ้น ดังนั้น ถ้ามื้อใดกินแป้งจากในอาหารแล้วก็ไม่ควรกินของหวาน
สาม - ไม่อมน้ำมัน นั่นคือ ให้เลี่ยงอาหารมันๆ เพราะน้ำมันเหล่านี้ถึงแม้จะเป็นน้ำมันพืชแต่ถ้าได้มากไปก็จะไปทำให้เกิดร้อนในอักเสบเหมือนไฟในร่างกายได้ เรียกง่ายๆ ว่า ไขมันนี้ถ้ากินมากไปก็ทำให้ร้อนใจได้ ไม่สงบเย็นสมกับการกินเจ แต่ถ้าเผลอกินเข้าไปแล้ว อาจรับประทานชาจีนหรือชาเขียวซึ่งมีธาตุต้านแก่เยอะแถมยังช่วยขัดตะกรันไขมันที่เกรอะอยู่ตามองคาพยพของเราได้ดีด้วย
สี่ -หมั่นเติมโปรตีน ดังที่ทราบว่าอาหารเจส่วนใหญ่ไร้เนื้อสัตว์ ดังนั้น ขอให้กินโปรตีนเกษตร, เต้าหู้, ถั่ว และ งา เสริมเข้าไป ส่วนถ้าบทบัญญัติใดที่ให้กินหอยนางรมได้ก็ยิ่งดี เพราะจะได้ธาตุสังกะสีมหาศาลมาบำรุงภูมิคุ้มกันและน้ำมันดีโอเมกาทรีอีกต่างหาก
นพ.กฤษดา ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า น่าแปลกอยู่พอดูที่ศาสนาใหญ่ของโลกล้วนแต่มีวัตรปฏิบัติที่คล้ายคลึงกันในแง่ของการกิน นั่นคือ ให้กินพอประมาณ ไม่มากไปจนอิ่มแปร้เป็นทุกข์หรือไม่น้อยไปจนร่างกายโทรมปฏิบัติไม่ได้ ถ้าลองเปรียบเทียบดูแต่ละศาสนาว่าเหมือนกันในเรื่องของการกินหรือไม่ สามารถดูได้ดังนี้
ศาสนาพุทธ มีเรื่องของวิกาลโภชนา ห้ามฉันอาหารตั้งแต่หลังเพลไป แต่ให้ฉันน้ำปานะหรือน้ำคั้นผลไม้ได้ถึง 8 ชนิด ศาสนาคริสต์ มีเรื่องฤดูถือบวชหรือ “เลนท์ (Lent)” ซึ่งกินเวลาราว 40 วันศาสนาอิสลาม มีช่วงถือศีลอดอาหารหรือรอมฎอนอยู่ในช่วงปลายปีเช่นเดียวกัน
“น่าแปลกทีเดียวว่าผลลัพธ์ทางสุขภาพของผู้ที่จำกัดอาหารเหล่านี้มีค่าที่น่าพึงใจไม่น้อยทีเดียว ด้วยค่าน้ำตาลที่ลดลง ไขมันอิ่มตัวไม่สูงมาก หรือแม้ความดันโลหิตที่เคยสูงก็ลดลงมาได้ ทำให้ไม่ต้องกินยาหรือปรับยาเพิ่มขึ้นมาก และที่สำคัญเลย ก็คือ ทุกท่านล้วนแล้วแต่รู้สึกหนุ่มสาวขึ้น มีพลังกายพลังใจกลับมาทำงานได้อีกครั้งเหมือนได้ชาร์จแบตเตอรี่ใหม่”
“ดังนั้น จึงอยากขอเน้นย้ำไว้อีกทีว่า ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาใด แต่การกินให้พอเหมาะไม่อิ่มจนเกินไปหรือไม่อดจนคนรอบข้างวุ่นวายนั่นแหละครับคือการ กินด้วยปัญญา ถ้าท่านกินเจก็จะเป็นเจที่ได้บุญหนุนส่งจริง ไม่ต้องวิ่งไปหาร้านเจที่อร่อยๆ หรือไปนั่งกินกับใครเขาก็ไม่ได้ต้องให้ปรุงเป็นพิเศษหรือออกนอกบ้านแล้วก็กินได้แต่ไข่เจียว เพราะสิ่งใดก็ตามที่ต้องไปรบกวนคนอื่นเขาก็ไม่น่าจะเอาบุญหรือความสุขใจได้เต็มที่เท่าตัวเราเองครองศีลให้ดีตามวิถีแห่งศาสนาที่อยู่ในใจไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม ด้วยบางทีไม่ว่าเราจะมีชีวิตดีหรือร้ายนอกจากการกระทำของเราเองแล้วดังนี้อาหารที่ดีก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กันครับ” นพ.กฤษดา ให้คำแนะนำทิ้งท้าย