ในงาน “วันหัวใจโลก 2551” มีการเปิดเผยตัวเลขที่ระบุว่า คนเมืองกรุงมีอัตราเสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตีบ มากกว่าประชาชนในเขตชนบท เฉลี่ยประมาณ 38% และในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า จะสูงถึง 60% ซึ่งมีอัตราการเพิ่มของโรคอย่างต่อเนื่องประมาณปีละ 160,000 คน
นอกจากนี้ ข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงเรียนแพทย์ 17 แห่งทั่วประเทศ ยังพบว่า อายุเฉลี่ยผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตีบที่พบมากที่สุด คือ ช่วง 66 ปีขึ้นไปซึ่งมีมากกว่า 54% อายุ 55-64 ปี 24% อายุ 45-56 ปีมี 16.2% และต่ำว่า 45 ปีมี 5.9%
จากคำยืนยันของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประกอบกับพฤติกรรมของคนในสังคมช่วยตอกย้ำปัจจัยเสี่ยงที่กำลังรุกคืบเข้าหาวัยทำงานอย่างรวดเร็ว และอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คาดว่า จะมีผู้ป่วยในช่วงอายุ 35-45 ปีเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักใหญ่ที่ส่งผลให้แนวโน้มตัวเลขมีสูงขึ้น คือ พันธุกรรม รูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวัน การเลือกรับประทานอาหาร และพฤติกรรมการออกกำลังกาย ดังนั้น ความเชื่อเดิมที่คิดว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคคนรวยนั้นอาจจะต้องพลิกไปเสียแล้ว
ผศ.นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ให้ภาพรวมของสถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย ว่า แม้จะพูดกันมากว่าโรคหัวใจเป็นภัยเงียบและมีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นลำดับต้นๆ ของเมืองไทย แต่ยังมีปัญหาว่าการเก็บสถิติตัวเลขผู้ป่วยทั่วประเทศค่อนข้างลำบากกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องสถิติตัวเลขหรือข้อมูลอย่างจริงจัง ดังนั้นข้อมูลจากสำนักต่างๆ อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้างเนื่องจากต่างคนต่างทำ
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลแวดล้อมทำให้มั่นใจได้ว่าแนวโน้มโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตีบจะคร่าชีวิตคนไทยมากขึ้น จากสถิติเบาหวาน และจำนวนคนอ้วนลงพุง และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มากขึ้นทุกปีนั้นเป็นตัวบ่งว่าพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบใกล้คนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ
“เด็กอ้วนมากขึ้น แล้วเขาก็จะไม่ผอมอีกแล้ว นี่เองจะทำให้อีก 10-20 ปีข้างหน้า เขาจะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วน ฟันธงเลยว่าโรคหัวใจจะเพิ่มขึ้น”
ผศ.นพ.ระพีพล ตอกย้ำว่า คนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลยก็มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เช่นกัน แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงมากก็เพิ่มโอกาสมากเป็นทวีคูณ การที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลยไม่ได้การันตีว่าเราจะไม่เป็น
“การมีสัญญาณเตือนเป็นสิ่งที่ดี แต่บางทีเราก็แทบไม่มีสัญญาณเตือนเพราะบางคนเป็นแล้วอาจจะเสียชีวิตเลย สัญญาณเตือนเป็นสิ่งที่จะบอกให้เราไปหาหมอ ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หากเจ็บแน่นหน้าอก อึดอัดตรงกลาง ร้าวไปแขน หรืออาจจะแน่นเหมือนอะไรมาทับเวลาที่ออกแรงหนักๆ ในผู้สูงอายุอาจจะมาด้วยอาการจุกลิ้นปี่ ปวดกราม ปวดต้นคอ ปวดแขน และอาการแปลกไปก็ให้มาตรวจก่อน” อายุรแพทย์โรคหัวใจ แนะนำ
ด้าน พ.อ.นพ.นครินทร์ ศันสนยุทธ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพระมงกุฎ บอกว่า สิ่งที่จะมีผลกระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น มาจากกรรมพันธุ์ด้วยส่วนหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าหากมีประวัติครอบครัวเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ต้องใส่ใจเป็นพิเศษให้มากกว่าคนที่ไม่มีกรรมพันธุ์
“โดยปกติเราจะมีปัจจัยเสี่ยง 2 หลักใหญ่ คือ ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ เพศ อายุ ประวัติครอบครัวหรือกรรมพันธุ์ แต่ส่วนที่เหลือสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ ได้แก่ การสูบบุหรี่ ภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง ความดันสูง การป้องกันโรคเบาหวาน และที่เริ่มมีการพูดถึงในวงกว้างขึ้น ก็คือ อ้วนลงพุง คือมีรอบเอวเกิน 32 นิ้วในผู้หญิง และ36 นิ้วในผู้ชาย การออกกำลังกายน้อย ความเครียดที่สูง พวกนี้ก็ทำให้ปรับเปลี่ยนได้ และจะมีผลในการป้องกันภาวการณ์เลือดหัวใจตีบได้” พ.อ.นพ.นครินทร์ ให้ข้อมูล
ศ.นพ.ชัยชาญ ดีโรจน์วงศ์ อายุรแพทย์สาขาโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลราชวิถี ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดว่า นอกจากเกิดจากพันธุกรรมเป็นส่วนหนึ่งแล้ว สิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้คือพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งถือเป็นตัวการสำคัญ โดยมีพฤติกรรมเสี่ยง 9 ข้อ ได้แก่ ไขมันในเลือดผิดปกติ อ้วนลงพุง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย รับประทานผักผลไม้น้อย เครียด และดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่รู้ดีว่าเป็นพฤติกรรมไม่ดี แต่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ดังนั้นวันนี้พฤติกรรมเหล่านี้จะต้องได้รับการปรับเปลี่ยน
“บางคนบอกว่า ไม่อ้วน ไม่มีกรรมพันธุ์ หรือเบาหวานก็ไม่เป็น เลยไม่ใส่ใจ แต่ก็ใช่ว่าจะปกติ เพราะคุณอาจจะมีไขมันในเลือดสูง หรือสูบบุหรี่รึเปล่า บางทีไม่จำเป็นว่าจะต้องมีครบทุกปัจจัยจึงจะมีโอกาสเป็นได้ แต่บางคนเสี่ยงเพียง 1-2 ข้อก็มีมีโอกาสเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบได้ ดังนั้นอย่าทำแบบที่เคยไปเรื่อยๆ เราเริ่มลดปัจจัยเสี่ยงง่ายๆ ด้วยการออกกำลังกายก่อน” ศ.นพ.ชัยชาญ แนะนำ
อายุรแพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อจาก รพ.ราชวิถี ยังให้คำแนะนำสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูง ว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะช่วยให้พวกเขาออกห่างจากโรคมากขึ้น การออกกำลังกายตามสภาพร่างกาย เป็นสิ่งที่กระทำได้ง่ายๆ สำหรับผู้ที่มีอาการโรคหัวใจอยู่แล้วนั้นจะต้องออกกำลังกายพอให้เหนื่อย แนะนำให้เดิน วิ่งสายพาน หรือแอโรบิก ที่ดีต่อการเต้นของหัวใจเมื่อรู้สึกเหนื่อยให้หยุดพัก
แต่สำหรับคนที่ยังไม่มีอาการหรือตรวจเช็กแล้ว พบว่า ยังไม่เป็นโรคหัวใจก็ใช้หลักการเดียวกัน แต่ต้องยึดหลัก 3 ข้อ คือ หนัก นาน และบ่อย โดยจะต้องออกกำลังกายให้หัวใจเต้นเร็ว 70 เปอร์เซ็นต์ในอัตราการเต้นของหัวใจเต้นสูงสุด (180-อายุ=?) ซึ่งปัจจุบันเครื่องออกกำลังกายจะคำนวณให้ แต่สำหรับคนที่ออกกำลังกายนอกบ้านก็ใช้หลักจับชีพจร ซึ่งต้องฝึกจับให้เป็นเสียก่อน ส่วนเวลาที่ใช้ออกกำลังต้องนาน 20-30 นาทีเป็นอย่างน้อย ความถี่ 5 ครั้งต่อสัปดาห์
“เราจะทำอย่างไรให้ได้ผล ต้องมีบันทึกเพื่อเตือนความจำและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่การออกกำลังกายเท่านั้น การรับประทานอาหาร ทานผัก ลดแอลกอฮอล์และบุหรี่ก็ช่วยให้ห่างจากโรคไปได้เช่นเดียวกัน”
นอกจากนี้ ศ.นพ.ชัยชาญ ยังแนะนำอีกว่า การเดินเข้าโรงพยาบาลเป็นประจำเพื่อเช็คสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งที่ควรทำ อย่างน้อยก็ไปตรวจร่างกายทั่วไป แต่หากจะเช็คว่าเรามีความเสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจหรือไม่นั้นก็ขอเช็กไขมันในเลือดและระดับน้ำตาลได้ ฉะนั้นอย่างน้อยตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปต้องขอตรวจน้ำตาลและไขมันในเลือดเพื่อหาความเสี่ยง แต่หากใครอยากตรวจก่อนก็ต้องพิจารณาความเสี่ยงอื่นๆ ว่ามีมากน้อยแค่ไหนด้วย
เพราะฉะนั้นถึงเวลากันหรือยังที่จะเดินเข้าโรงพยาบาลเช็คความเสี่ยง ออกกำลังกายเพื่อประโยชน์สุขภาพ และปรับไลฟ์สไตล์ที่ไม่ดีหันหน้าสู่ Healthy Heart กันเสียที...