xs
xsm
sm
md
lg

“เฮียชู” แฉรายวัน ถึงคิวโรงเชือดสัตว์สร้างแพงแต่ใช้ไม่ได้ เผยเป็นผู้ว่าฯ ลดค่าสัมปทานอีกครึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชูวิทย์” โค้งสุดท้ายยังแฉไม่เลิก! วันนี้ถึงคิวโรงเชือดสัตว์มูลค่ากว่าพันล้านบาท สร้างเสร็จ 2 ปีแต่ใช้งานไม่ได้ เหตุค่าเช่าแพงเกือบพันล้านในสัญญา 15 ปี เผยได้เป็นผู้ว่าฯ ลดค่าสัมปทานเหลือ 500-600 ล้านบาท ยันพรุ่งนี้ถึงคิวเชือดรถดับเพลิง

เมื่อเวลา 10.45 น.ที่โรงชำแหละและแปรรูปเนื้อสัตว์ กรุงเทพมหานคร ถนนพุทธมณฑล สาย 3 เขตหนองแขม นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หมายเลข 8 สังกัดอิสระ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงกรณีที่โรงชำแหละและแปรรูปเนื้อสัตว์กทม.ซึ่งสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2549 แต่ปัจจุบันยังไม่เปิดให้บริการ

นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า ก่อนจะเกิดโรงชำแหละฯแห่งนี้ กทม.เคยมีโรงฆ่าสัตว์ชื่อบริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2504 แต่เกิดภาวะขาดทุนจึงได้ยกเลิกไป ต่อมานายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าฯ กทม. คิดฟื้นโครงการขึ้นจึงได้จัดหาที่ดินซึ่งอยู่ติดกับโรงกำจัดขยะของกทม.สร้างบนเนื้อที่ 50 ไร่ ซึ่งในสมัยของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 5 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่ากทม.ก็ได้เข้ามาสานงานต่อซึ่งก็มีเสียงคัดค้านจากคณะอนุกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนเมือง ของวุฒิสภา เพราะอยู่ใกล้กับโรงขยะ และจุดดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้มีโรงงานอุตสาหกรรม แต่นายอภิรักษ์ก็ยืนยันให้เดินหน้าโครงการ เพราะเห็นว่าเป็นโรงฆ่าสัตว์แบบปิด มีมาตรฐานการทำงาน และแยกพื้นที่กับโรงขยะชัดเจน จนสามารถเปิดประมูลการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อปี 2549 โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการรวมมูลค่าของที่ดินเกินกว่า 1,000 ล้าน ซึ่งเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนและต่อมา บ.กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของกทม.เข้ามาบริหารโครงการเพื่อตัดปัญหา พ.ร.บ. ร่วมทุน

แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้เนื่องจากไม่มีเอกชนรายใดให้ความสนใจเข้ามาบริหารงานแม้จะเปิดโอกาสให้ประมูลถึง 2 ครั้งด้วยกันเหตุเพราะว่าผลตอบแทนที่ กทม.เรียกเก็บ 940 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญาเช่าบริหาร 15 ปี สูงเกินไป เมื่อเทียบกับโรงฆ่าสัตว์เถื่อนที่มีอยู่ทั่ว กทม. ดังนั้น สิ่งที่เห็นในตอนนี้ก็คือ สภาพอาคารรกร้าง แม้จะมีอุปกรณ์พร้อมที่จะเปิดให้บริการแล้วก็ตาม

นายชูวิทย์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นหากตนได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ตนจะลดสัมปทานให้เหลือแค่ 500-600 ล้านบาทในสัญญาเช่า 15 ปี เพราะถ้าให้คิดค่าเช่าเกือบเท่าๆกับค่าก่อสร้างก็คงไม่มีเอกชนรายใดให้ความสนใจ ทิ้งไว้อย่างนี้ก็ไม่มีประโยชน์ แต่จะให้ย้ายไปสร้างใหม่ก็คงไม่ได้แม้ตนจะไม่เห็นด้วยที่ก่อสร้างโรงชำแหละที่นี่และอยู่ใกล้กับโรงกำจัดขยะที่มีกลิ่นโชยอยู่ตลอดเวลาก็ตามเพราะลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว แต่ตนจะเน้นการชำแหละให้ถูกสุขอนามัยมากขึ้น

นายชูวิทย์ กล่าวยืนยันด้วยว่า ตนจะเดินหน้าเปิดเผยข้อเท็จเรื่องต่างๆ แม้นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.พรรคประชาธิปัตย์ จะขู่ว่าหากตนเอาเรื่องมาพูดก็อาจจะได้ใบเหลือง ใบแดง หรือแม้แต่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ คณะทำงานด้านยุทธ์ศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาระบุว่าการพูดของตนจะผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้นถ้าแน่จริงก็ต้องฟังตนพูดและตนพร้อมที่ฟังนายอภิรักษ์ชี้แจง รวมถึงพร้อมที่จะแสดงวิสัยทัศน์กับนายอภิรักษ์ในทุกเวที และในวันพรุ่งนี้ (1 ต.ค.) ตนจะแถลงข้อเท็จจริงกรณีโครงการจัดซื้อรถเรือ และอุปกรณ์ดับเพลิงของกทม.แน่นอน แม้ว่าตนจะได้การขู่ต่างๆนานาก็ตาม

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รายอื่นจะร่วมกันเทคะแนนให้กับนายชูวิทย์ เพื่อให้มีคะแนนนำนายอภิรักษ์นั้น นายชูวิทย์ กล่าวว่า ไม่จริง ใครจะมายกคะแนนให้ตนเพราะทุกคนมีศักดิ์ศรี และตนก็สามารถหาคะแนนเสียงได้ด้วยตนเองไม่ต้องพึ่งใคร

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ก่อนหน้าที่นายชูวิทย์จะแถลงข่าวนั้นได้เกิดการโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของโรงชำแหละฯ เนื่องจากทาง รปภ.เห็นว่า นายชูวิทย์ ไม่มีใบอนุญาตให้เข้ามาในบริเวณโรงชำแหละ แต่นายชูวิทย์และทีมงานกลับมาโต๊ะ เก้าอี้ เข้ามาจัดวางบริเวณหน้าอาคารสำนักงาน พร้อมกับขอกับ รปภ.ว่าขอเข้ามาหลบแดด และจะไม่เดินวุ่ยวาย เพราะในขณะนั้นแดดร้อนจัดมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ รปภ.ก็ยังไม่ยอมเพราะเกรงจะเกิดปัญหาและได้รับโทษเพราะปล่อยให้บุคคลภายนอกเข้ามาในพื้นที่โดยไม่มีใบอนุญาตจาก กทม. จนในที่สุดต้องมีการต่อสายโทรศัพท์หาข้าราชการระดับสูงของสำนักอนามัย ที่ดูแลโรงชำแหละและได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจ สุดท้าย นายชูวิทย์และทีมงานสามารถเปิดแถลงข่าวได้ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะที่แถลงข่าวเจ้าหน้าที่ รปภ.ก็นำโทรศัพท์ขึ้นมาบันทึกภาพเก็บไว้จนกระทั่งแถลงข่าวเสร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น