xs
xsm
sm
md
lg

24 อธิการบดี จี้ “สมชาย” แก้วิกฤต เสนอตั้ง คกก.รื้อระบบการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


24 อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐ-เอกชน ยื่นข้อเรียกร้อง “สมชาย” ประกาศวิกฤตการณ์การเมืองเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการเมืองการปกครอง ขีดเส้นการทำงานไม่เกิน 120 วัน ขอนายกฯ ตั้งเฉพาะตัวประธานคนเดียวและจัดงบประมาณดำเนินการในลักษณะเงินอุดหนุนให้ ชี้เป็นทางออกเดียวที่จะรักษาระบอบ

เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 26 กันยายน ที่ห้องประชุมสัญญาธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทน 24 อธิการบดีมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยพายัพ และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ตัวแทนอธิการบดีจากภาครัฐและเอกชนจำนวน 24 สถาบัน ร่วมแถลงข่าวยื่น 4 ข้อเรียกร้องต่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในการแก้ไขวิกฤตร้ายแรงของชาติ อย่างเร่งด่วน โดยระบุสาเหตุของการยื่นข้อเรียกร้องครั้งนี้ ว่า เนื่องจากมีความขัดแย้งทางความคิด ก่อให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และสังคมอย่างกว้างขวางขยายตัวรุนแรง

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อธิการบดี 24 สถาบันที่มาจากรัฐและเอกชน มีความเป็นห่วงสถานการณ์ชาติบ้านเมือง จึงได้ร่วมกันปรึกษาช่วยคิดหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกให้กับสังคมและชาติบ้านเมืองมีทางออก โดยได้ตกผลึกสรุปข้อเสนอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านการถกเถียงกันมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรี พึงจะกระทำได้  

ด้านนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้เป็นตัวแทนอธิการบดี อ่านข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ภายหลังได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือจำนวน 4 ข้อ เพื่อเสนอเรียกร้องต่อนากยกรัฐมนตรี ดังนี้

ข้อ 1.ขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขวิกฤตร้ายแรงในทางการเมืองโดยดำเนินการโดยเร่งด่วนที่สุดให้จัดตั้ง “คณะกรรมการอิสระ เพื่อปฏิรูประบบการเมืองการปกครอง” ขึ้น เพื่อศึกษาหาแนวทางและข้อเสนอแนะ ในการปฏิรูประบบการเมืองการปกครองของประเทศ โดยยึดหลักการการเพิ่มบทบาทของการเมืองภาคประชาชน การกระจายอำนาจ การจัดระบบการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองที่เหมาะสมเป็นธรรม และจัดระบบตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมือง

ข้อ 2.ขอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งประธานคณะกรรมการอิสระ เพื่อปฏิรูปการเมืองการปกครอง จากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งมีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยให้แต่งตั้ง เฉพาะตัวประธานคณะกรรมการ และระบุในคำสั่งแต่งตั้ง ให้ประธานคณะกรรมการ เป็นผู้เลือกสรรและแต่งตั้งกรรมการคนอื่นๆ ทั้งหมดตามจำนวนที่เหมาะสมเอง โดยทำเป็นคำสั่งของประธานคณะกรรมการ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยที่ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการเมืองจะต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการเลือกสรรหรือแต่งตั้งกรรมการของประธานคณะกรรมการตามอำนาจที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ 3.ให้คณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ภายในกรอบระยะเวลาไม่เกิน 120 วัน โดยให้มีอำนาจเรียกข้อมูล จากหน่วยงานของรัฐและเรียกบุคคลใด ๆ มาชี้แจงให้ข้อมูล โดยจะต้องจัดงบประมาณดำเนินการในลักษณะเงินอุดหนุนให้ เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ โดยคณะกรรมการจะต้องดำเนินการจัดทำข้อเสนอ และความเห็นต่างๆ โดยรับฟังและรายงานต่อสาธารณะ อย่างเปิดเผยและสม่ำเสมอ และเมื่อเสร็จขั้นตอนการดำเนินการแล้ว คณะกรรมการจะต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินการ และจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อการปฏิรูปการเมืองการปกครองตามแนวทางที่เสนอในรายงานเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

และข้อ 4.ขอให้นายกรัฐมนตรี ประกาศรับรองต่อสาธารณะในนามของรัฐบาลตั้งแต่ต้นว่า เมื่อได้รับข้อเสนอดังกล่าวจากคณะกรรมการแล้ว จะนำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองการปกครอง ตามรายงานดังกล่าว ไปสู่กระบวนการลงประชามติ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ของประชาชนทั่วประเทศ และหากประชาชนได้ให้ความเห็นชอบในข้อเสนอแนวทางตามรายงานดังกล่าวแล้ว คณะรัฐมนตรีจะได้นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่คณะกรรมการได้จัดทำขึ้นตามแนวทางดังกล่าวขอความเห็นชอบต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามเนื้อหาทั้งหมดที่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการดังกล่าว

อธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่ได้ลงนามในข้อเรียกร้องนี้ ได้ปรึกษาหารือกัน และมีความเชื่อมั่นโดยบริสุทธิ์ใจว่า มีแต่แนวทางการดำเนินการเช่นนี้เท่านั้น ที่จะสามารถนำไปสู่การหาข้อยุติ ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครอง อันเป็นปัญหารากฐานที่ก่อให้เกิดภาวะวิกฤติร้ายแรง ที่คุกคามประเทศชาติอยู่ในขณะนี้ได้ และขอเรียกร้องต่อกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นฝักฝ่ายทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ ให้ส่งผ่านข้อเสนอและแนวทางที่ตนเชื่อมั่น หรือเรียกร้องให้เกิดขึ้น ต่อคณะกรรมการชุดดังกล่าวที่จะได้ตั้งขึ้น เพื่อแสวงหาทางออกทางการเมืองการปกครองที่ถูกต้องเหมาะสม และสามารถเกิดเป็นจริงได้ร่วมกัน ภายใต้เงื่อนไขของกติกาทางปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขตามรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้

อธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่ได้ลงนามในข้อเรียกร้องนี้ ใคร่ขอวิงวอนต่อนายกรัฐมนตรีในการพิจารณาตัดสินใจและดำเนินการตามแนวทางที่ได้เสนอนี้โดยเร็วที่สุด เพื่อหาทางคลี่คลายวิกฤต และแสวงหาทางออกทางการเมืองและสังคมที่เป็นไปได้ให้แก่ประชาชนไทยทุกคนภายใต้สถานการณ์สังคมที่มีความแตกแยกร้ายแรงในทุกๆ ด้านที่เป็นอยู่ในขณะนี้ให้ทันท่วงที

ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าข้อเสนอจะได้รับการตอบสนองจากนายกรัฐมนตรี และจะดำเนินการอย่างไร หากไม่ได้รับการตอบสนอง นายสุรพล กล่าวว่า พื้นฐานของนายกรัฐมนตรีเป็นนักกฎหมาย น่าจะตอบรับข้อเสนอ แต่จะดำเนินการมากน้อยเพียงใด ต้องรอดูต่อไป แต่ขอย้ำว่าถ้าดำเนินการตามข้อเสนอของที่ประชุมอธิการบดีหัวใจของเรื่องอยู่ที่การตั้งประธานที่เป็นกลาง และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

สำหรับรายชื่ออธิการบดีจำนวน 24 สถาบันที่ร่วมลงชื่อยื่นข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย 1.นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต 2.ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3.รองศาสตราจารย์คิม ไชยแสนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง 4.ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5.ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

6.ดร.อุทัย ดุลยเกษม อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร 7.ศาสตราจารย์ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 8.รองศาสตราจารย์ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 9.รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 10.รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

11.ศาสตราจารย์ดร.ประกอบ วิโรจน์กูฎ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 12.รองศาสตราจารย์ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 13.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ศุภชัย สมัปปิโต รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 14.รองศาสตราจารย์ ดร.สุมนต์ สกลไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น 15.รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ตีรเศรษฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

16.อาจารย์ จงรัก พลาสัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 17. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประดิษฐ์ เถกิงรังสฤษฏ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพ 18.รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ สายธนู อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ 19.รองศาสตราจารย์ เปรื่อง กิจรัตน์ภรอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร 20.รองศาสตราจารย์ ดร.ปราณี สังขะตะวรรธน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

21.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี 22.รองศาสตราจารย์ ดร.เทพ พงษ์พานิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 23.รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม 2.รองศาสตราจารย์ ดร.อนุมงคล ศิริเวทินอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

กำลังโหลดความคิดเห็น