xs
xsm
sm
md
lg

พญ.วลัยรัตน์-นพ.สุธี “ความยากลำบากไม่มี มีแต่สุขใจที่ได้ช่วยคนไข้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“แพทย์ชนบทถือเป็นผู้ที่ทำงานช่วยเหลือชีวิตผู้ที่ยากจนทำประโยชน์ให้กับประเทศ ซึ่งผมขอชมเชยยกย่อง และประเทศของเราควรยกย่องคนดีและตำหนิคนไม่ดี เพราะคนดีเท่านั้นที่จะรู้จักการเสียสละเพื่อผู้อื่น หากคนในบ้านเมืองรู้จักเสียสละเหมือนกับแพทย์ชนบทที่ทำงานเพื่อประชาชน ดังเช่นหมอที่ได้รับรางวัลวันนี้ ก็เชื่อว่าจะทำให้มีความสุขที่ได้เสียสละ สิ่งที่แพทย์ได้มุ่งมั่นทำงานเพื่อคนยากจน คนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ซึ่งผมพูดเสมอว่า คนเราเกิดมาต้องทดแทนบุญคุณแผ่นดิน”         

“เชื่อว่า แพทย์ที่เสียสละจะเป็นผู้ที่มีความสุข เพราะการมีสุขภาพดีของคนไข้ คือ ความภูมิใจของแพทย์ในชนบท อย่าง พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผอ.รพ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ที่ได้รับรางวัล เป็นพื้นที่กันดารมาก เช่นเดียวกับ นพ.สุธี สุดดี ผอ.รพ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งผมเคยปฏิบัติราชการอยู่ 4 ปี ก็ทราบดีว่าเป็นที่ยากลำบาก จึงไม่ต้องสงสัยที่ได้รับรางวัล”

นั่นคือ คำกล่าวของ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในการเป็นประธานในการมอบโล่รางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นกองทุน นพ.กนกศักดิ์ พูลเกษร ประจำปี 2551
พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
และในปีนี้ ปรากฏว่า พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และนพ.สุธี สุดดี แพทย์ประจำโรงพยาบาลวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้รับคัดเลือกให้เป็นแพทย์ชนบทดีเด่น ด้วยผลของความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานและอุทิศตัวเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง

แน่นอนว่า เส้นทางชีวิตของคุณหมอทั้ง 2 ท่านนั้น ต้องบอกว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสียสละเป็นสำคัญ และหาได้ยากยิ่ง ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้คนในสังคมยุคปัจจุบันให้ได้รู้จักคำว่า “ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ดังที่ พล.อ.เปรม ได้กล่าวเอาไว้

                                                -1-

พญ.วลัยรัตน์ วัย 39 ปี เป็นชาวจังหวัดแพร่ ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ ขนาด 10 เตียง โดยเป็นผอ.รพ.ปางมะผ้า ตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งได้พยายามพัฒนาโรงพยาบาลให้สามารถดูแลบริการทั้งชาวบ้านในพื้นที่ และชาวเขาเผ่าต่างๆ ทั้งที่มีสัญชาติและไร้สัญชาติอย่างเต็มความสามารถทั่วถึง จนได้รับการยอมรับและเป็นที่รักของชาวบ้านในพื้นที่อย่างยิ่ง

คุณหมอวลัยรัตน์ ได้บอกเล่าถึงการทำงาน ว่า การได้มีโอกาสทำงานในพื้นที่ห่างไกล แม้ว่าจะต้องเดินทางไปทำงานไปกลับบ้านที่ จ.แพร่ 2-3 เดือนต่อครั้ง ก็ถือเป็นความยากลำบากเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับแพทย์ชนบทรุ่นก่อนๆ เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อทำงานแล้วมีความสุข ไม่ว่าอยู่ที่ไหนถ้ามีความสุขก็อยู่ได้นาน ไม่มีความสุขคงอยู่ไม่ได้ แม้การทำงานจะมีอุปสรรคอยู่บ้างแต่การที่สามารถแก้ปัญหาได้ก็ทำให้มีความสุข มีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกไว้ว่า “ความยากลำบากไม่มี มีแต่ความไม่เคยชิน” ซึ่งหมอก็เชื่อเช่นนั้น


สภาพในรพ.ปางมะผ้า
“เมื่อ 4-5 ปีก่อน ที่โรงพยาบาลไม่มีแม้แต่ไฟฟ้า แต่ตอนนี้สบายกว่าเดิมเยอะ เพราะได้โซลาเซลล์ ความเจริญต่างๆ ก็มีมากขึ้น ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ ถนนหนทางก็ถือว่าดีกว่าแต่ก่อน งบประมาณที่ไม่เพียงพอ ปีหลังๆ ได้งบประมาณเพิ่มขึ้น ก็ช่วยให้โรงพยาบาลอยู่ได้ แต่ก็มีปัญหาเรื่องอื่นเข้ามาแทน ทั้งการปฏิรูประบบ หรือแม้แต่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ ก็มีบ้างที่คนไข้ไม่พอใจในการให้บริการ แต่เราก็ดูว่าจะพัฒนาแก้ไขปรับปรุงเรื่องความไม่เข้าใจ เพื่อลดความขัดแย้งและให้เกิดความพึงพอใจมากขึ้น”

พญ.วลัยรัตน์ บอกถึงความประทับใจในการทำงานด้วยว่า “รู้สึกประทับใจชาวบ้านมาก เพราะความเป็นกันเอง เหมือนลูกเหมือนหลาน เคารพซึ่งกันและกัน เมื่อเกิดความท้อใจก็มีการให้กำลังใจกัน ชาวบ้านมักจะพูดว่า ถ้าไม่มีหมอก็อยู่ไม่ได้ เหมือนเราเป็นแม่เป็นญาติพี่น้องของเขาและทำให้รู้สึกว่า ชีวิตเรามีค่ามีประโยชน์มากๆ ที่สำคัญประทับใจทีมงานมาก บอกได้เลยว่า ถ้าไม่มีทีมงานที่ดี ให้ความร่วมมือ เหน็ดเหนื่อย ทุ่มเท อุทิศตนมาโดยตลอดก็ไม่เกิดผลงานอย่างที่เห็นทุกวันนี้”

ส่วนอนาคตนั้น คุณหมอบอกว่า เป็นเรื่องไม่แน่นอน อย่างเดิมที่ตั้งใจจะไปศึกษาต่อ และคิดว่าคงอยู่ที่นี่ได้ไม่นาน และจะหาทุนไปเรียนต่อ หรือไปทำงานในเมือง เป็นอาจารย์ ก็เปลี่ยนไปหมด ตอนนี้ยังมีงานให้ทำอีกมากและจะทำต่อไปเรื่อยๆ แต่อีก 5-6 ปีข้างหน้าก็ไม่แน่เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร
-
นพ.สุธี สุดดี แพทย์ประจำโรงพยาบาลวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
                                            
                                                -2-
นพ.สุธี วัย 42 ปี เป็นชาวจังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นชาว จ.อุบลราชธานีคนหนึ่ง โดยเริ่มทำงานใน จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่ปี 2533 ปัจจุบันเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลวารินชำราบ และประจำศูนย์แพทย์ชุมชนห้วยขะยุง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และเคยเป็นผู้บริหาร ผอ.โรงพยาบาลวารินชำราบ แต่ด้วยปณิธานมุ่งมั่นที่ต้องการรักษาคนไข้และทำงานกับชุมชนมากกว่างานบริหาร จึงผันตัวออกมาและทุ่มเทแก้ไขปัญหาสุขภาพของชุมชน โดยสร้างระบบและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในงานปฐมภูมิ(PCU) ให้สามารถบริการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นต้นแบบของการบริการปฐมภูมิที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์

คุณหมอสุธีบอกเล่าถึงความรู้สึกหลังจากได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นในปีนี้ด้วยว่า การเป็นแพทย์เป็นความใฝ่ฝันและเป็นการเลือกทางเดินที่ไม่ผิด ช่วงระยะเวลา 16 ปีที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เรียกได้ว่ามีความสุขอยู่ตลอด ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ให้โอกาส และเพื่อนร่วมงานที่คอยให้กำลังใจ กระทั่งได้รับรางวัลที่ทรงคุณค่าในวันนี้

นพ.สุธี บอกถึงหลักในการทำงานว่า การที่เราเป็นแพทย์ก็เป็นเหมือนฟันเฟืองเล็กๆ ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพ ไม่ใช่พนักงานที่ตรวจคนไข้ในโรงพยาบาลแล้วจ่ายยาเท่านั้นแต่เราสามารถที่จะมีส่วนร่วมได้ ซึ่งการทำงานก็จะยึดหลักการสร้างคุณค่าและมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน เด็ดขาด เมื่อทำงานใดก็จะต้องเห็นเส้นทาง และมีความรู้สึกสนุกกับงานที่ทำ โดยที่เราไม่มีเป้าแต่แรกแล้วว่าไม่อยากเป็นผู้บริหารหรือเข้าไปทำงานงานเอกสารในกระทรวง เพราะสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เราไม่ได้ตรวจรักษาคนไข้อีก

“รู้สึกภูมิใจที่เราสามารถเลือกเส้นทางเดินของเราได้ ซึ่งทำให้เรามีความสุขมากกว่าหมอหลายคนมากๆ ที่ไม่รู้ว่าต้องการอะไร ไม่รู้ว่าชอบอะไร แม้แต่จะเรียนต่อบางครั้งก็ยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร แล้วก็ทำงานทั้งๆ ที่ไม่มีความสุข นั่นเพราะมีสเตปชีวิตของการเป็นหมอคล้ายๆ กัน หลายคนเรียนจบใช้ทุนทำงาน 1 ปี เรียนต่อ จากนั้นก็ทำงานในโรงพยาบาลรัฐ หรือออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน หรือเปิดคลินิก แต่เรารู้สึกตัวเอง สามารถกำหนดได้ว่าอยากทำอะไรในชีวิต แต่ก็รู้สึกเป็นห่วงน้องๆ ที่จบใหม่ บางคนสถานการณ์อาจไม่เอื้ออำนวยให้สามารถทำตามที่ต้องการได้ ดังนั้น การที่แพทย์หลายคนจะทำงานในโรงพยาบาลเอกชนบ้างหรือคลินิกบ้างก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากจะทำเพื่อครอบครัว”

นพ.สุธี พูดถึงการทำงานของตนเองด้วยว่า “การที่เราเคยอยู่โรงพยาบาล พอมาอยู่แบบนี้เรามีความสุข ได้ดูแลเขาใกล้ชิด แต่ก่อนก็ไม่เข้าใจ คิดว่างานที่มีลักษณะให้ความช่วยเหลือแบบนี้ไม่ใช่หน้าที่หมอ น่าจะเป็นของหน่วยงานที่ทำด้านสังคมสงเคราะห์มากกว่า แต่ความจริงแล้วการทำงานทุกระบบต้องทำแบบองค์รวม งานด้านการแพทย์ก็ต้องผสมผสานกับความรู้ทางด้านสังคมและวัฒนธรรม เพราะสิ่งที่เห็นไม่ใช่ปัญหาทางการแพทย์อย่างเดียว แต่มันเป็นชีวิตของคน”

ส่วนอนาคตนั้น นพ.สุธี มองว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่ได้ก้าวเดินเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่สามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อมองเห็นทางก็ยังไปต่อได้เรื่อยๆ ประคับประคอง และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆ ให้กับสังคม

และนี่เป็นดวงจิตใจอันมุ่งมั่นในการทำงานด้วยใจ ของแพทย์ทั้ง 2 ท่าน ซึ่งถือเป็นอีกแบบอย่างหนึ่งที่ควรยึดถืออย่างยิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น