xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.วางมาตรการเข้มแก้เด็กติดเกม ชูแนวคิด 1 ร.ร. 100 ชมรม 10,000 คนเก่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพฐ.วางมาตรการแก้ปัญหาเด็กติดเกม ระยะสั้น 3 แนวทาง สอนทักษะชีวิตชั่วโมงไอที โรงเรียนหารือกับพ่อแม่เข้ม พร้อมสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ ชูแนวคิด 1 โรงเรียน 100 ชมรม 10,000 คนเก่ง ส่วนระยะยาวเตรียมทำวิจัยระบบดูแลช่วยเหลือเด็กเข้มข้น นำร่อง 15-20 โรงทุกช่วงชั้น

นพ.บัณฑิต สอนไพศาล
ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กวัยรุ่นและราชนครินทร์ เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เกี่ยวกับการป้องกันปัญหาเด็กติดเกมนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ป้องกันทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งในระยะสั้นนั้นจะมีการดำเนินการไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.จะมีการสอนทักษะชีวิตเกี่ยวกับการเรียนรู้อินเตอร์เน็ตเข้าไปอยู่ชั่วโมงการสอนวิชาไอที 2.ให้โรงเรียนได้มีหารือกับผู้ปกครองในการช่วยเหลือดูแลเด็กยุคไซเบอร์ และ3.สนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กมีพื้นที่กล้าแสดงออกและแสดงความสามารถในทางที่ถูก

"ความจริงแล้วปัญหาของเด็กติดเกมมักจะมากจากที่เด็กไม่มีกิจกรรมทำ จนต้องแสวงหาความภาคภูมิใจของตนเองในรูปแบบอื่น และเมื่อเด็กคิดว่าตัวเองเรียนไม่เก่งไม่มีความรับผิดชอบแล้วเด็กจะไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ส่งผลให้เกิดอาการซึมเซาหรือไปแสวงหาทางออกด้วยการเล่มเกมที่รุนแรงได้ ดังนั้นหากโรงเรียนมีพื้นที่ให้เด็กได้สร้างสรรค์ผลงานและกิจกรรมที่ดีอย่างเต็มที่ก็เชื่อว่าจะทำให้เด็กไม่ไปยึดติดกับการเล่มเกมได้"นพ.บัณฑิตกล่าวและว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้มีแนวคิด 1 โรงเรียน 100 ชมรม 10,000 คนเก่ง โดยต้องการให้โรงเรียนต่างๆสนับสนุนการมีชมรมให้มากพอกับความต้องการของเด็ก เพื่อจะได้ค้นพบเด็กเก่งตามความต้องการของตนเองด้วย

นพ.บัณฑิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการระยะยาวทาง สพฐ. จะทำการวิจัยเกี่ยวกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเข้มข้น นำร่องประมาณ 15 – 20 โรงทุกช่วงชั้น โดยจะนำวิชาทักษะชีวิตเข้ามาบูรณาการในการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง เพราะขณะนี้ปัญหาการใช้เทคโนโลยีหากรู้ไม่เท่าทันจะเป็นภัยต่อเด็กอย่างมาก ซึ่งระบบการวิจัยดูแลช่วยเหลือนักเรียนจะครอบคลุมปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาเด็กติดเกม ยาเสพติด เป็นต้น หลังจากนั้นจะมีการประเมินหลังชั่วโมงเรียน ว่านักเรียนมีแนวคิดหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ทั้งนี้ หากแนวทางดังกล่าวประสบความสำเร็จก็จะขยายให้ครอบคลุมไปทุกโรงเรียน

นอกจากนี้ทางสถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ ได้มีคู่มือดูแลพ่อแม่ยุคไซเบอร์ และคู่มือชุดการเรียนการสอนการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย พร้อมวีซีดีประกอบการเรียนรู้แจกจ่ายไปยังผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และครูแนะแนวด้วย โดยคู่มือดังกล่าวจะบอกถึงแนวทางว่าพ่อและแม่จะสร้างวินัยให้กับลูกได้อย่างไรบ้าง ซึ่งผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.icamtalk.com
กำลังโหลดความคิดเห็น