xs
xsm
sm
md
lg

ผ่ากึ๋นแก้สิ่งแวดล้อม 4 ผู้ท้าชิงผู้ว่าฯ กทม.“อภิรักษ์-ดร.แดน-ประภัสร์-ลีน่าจัง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการเสวนาเพื่อโชว์วิสัยทัศน์ของผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.
4 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ร่วมดีเบตนโยบายสิ่งแวดล้อมแต่ไร้เงา “ชูวิทย์” ขณะที่ “อภิรักษ์” สานต่อนโยบายเดิม ผุดสวนดาดฟ้านโยบายใหม่ บังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด “ลีน่า จัง” เน้นสานต่อนโยบายผู้ว่าฯ กทม.คนเดิม แต่ชี้ทำสิ่งแวดล้อมกทม.ดีแค่ไหน แต่รถยังติด สุขภาพคน กทม.ก็ยังแย่อยู่ดี ประกาศดันแก้จราจรเป็นเรื่องแรกเพราะจราจรดีทำสิ่งแวดล้อมฉิว ส่วน “ประภัสร์” จะทำท่อรับน้ำเสียตลอดคลองแสนแสบเพื่อบำบัดก่อนปล่อยลงแม่น้ำ เผย รำคาญนักการเมืองที่ทำไม่ตรงกับพูด ขณะที่ “เกรียงศักดิ์” ชูดีทอกซ์ กทม.ให้สะอาด สร้างเรือดูดโคลนทำคลองแสนแสบสวยใส ทำผ้าอ้อมให้สุนัขอึใส่

วันนี้ (11 ก.ย.) เวลา 10.00 น.ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนาเรื่อง วิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกอบด้วย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน หมายเลข 5 พรรคประชาธิปัตย์ นายประภัสร์ จงสงวน หมายเลข 10 พรรคพลังประชาชน นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ หมายเลข 2 สังกัดอิสระ นางลีนา จังจรรจา (ลีน่า จัง) หมายเลข 7 สังกัดอิสระ เข้าร่วมงาน แต่ขาด นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 8 ที่เดิมจะมาร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย แต่เมื่อถึงเวลากลับไร้เงาของ นายชูวิทย์ ซึ่งทางผู้จัดงานได้แจ้งว่า นายชูวิทย์ ติดธุระอยู่

ทั้งนี้ นายอภิรักษ์ กล่าวในการเสวนาว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมสิ่งแรกที่จะเริ่มทำ คือ การฟื้นฟูระบบป้องกันน้ำท่วมอย่างครบวงจร ต่อเนื่องจากการทำงานสมัยที่ตนเป็นผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่จะทำเพิ่มต่อคือเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงคลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งเหลืออีก 7 กิโลเมตร จากแผน 77 กิโลเมตรในระหว่างนี้ก็จะมีการตั้งเครื่องสูบ และนำกระสอบทรายเป็นคันกั้นน้ำ รวมถึงการขยายพื้นที่ตามแก้มลิง ตามพระราชดำริ ตลอดจนจะบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน หมู่บ้านจัดสรรจัดทำแก้มลิงในหมู่บ้านเพื่อลดปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการสร้างหมู่บ้านใหม่ เช่น หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม
นอกจากนั้น ก็จะทำโครงการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการกับจังหวัดใกล้เคียง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมอุตินิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ และนอกจากนั้น ในชั่วโมงเร่งด่วนหากเกิดฝนตกหนักก็จะจัดให้มีหน่วยบริการเร่งด่วน (หน่วย BEST) เข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ส่วนเรื่องน้ำเน่าเสียตนจะดึงให้สถานประกอบการต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมที่สำคัญในการดูแลสภาพน้ำ มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ซึ่งมีจุดที่ใช้ในการตรวจวัด 24 ชั่วโมง มีการรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนมาเป็นอาสาสมัครรักษ์ สิ่งแวดล้อม

นายอภิรักษ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่นโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็จะทำโครงการต่อเนื่องจากที่เคยทำมาสมัยที่ตนเป็นผู้ว่าฯ กทม.โดยจะดึงความร่วมมือจากภาคเอกชน ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ กทม. ด้วยการร่วมปลูกป่ากทม.ให้ได้ 5,000 ไร่ ใน 4 ปีข้างหน้าพร้อมทั้งจะให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตปลูกต้นไม้อย่างน้อยปีละ 10,000 ต้น 50 เขตก็ 40,000 ต้น และใน 4 ปี ก็จะมีต้นไม้ปลูก 2,000,000 ต้น นอกจากนั้นแล้ว จะให้ประชาชนที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านครัวเรือน ให้ช่วยกันปลูกกันครัวเรือนละ 1 ต้น 4 ปีก็จะปลูกต้นไม้ได้ 8 ล้านต้น ทั้งนี้ ตนมีแนวความคิดใหม่ คือ การปลูกต้นไม้ ทำสวนดาดฟ้า ซึ่งตึกสูงในมหานครทั่วโลกจะใช้พื้นที่ดาดฟ้า ทำเป็นสวนดาดฟ้าเพื่อที่จะลดอุณหภูมิของแสงแดด

ส่วนปัญหาการจัดเก็บขยะตนจะเริ่มโครงการใหม่ คือ ธนาคารรีไซเคิล ส่งเสริมให้เด็กในโรงเรียน กทม.มีสมุดคู่ฝาก โดยนำขวดน้ำ ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง ที่สามารถใช้รีไซเคิลได้ นำมาส่งที่โรงเรียนและแลกเป็นเงินได้ ซึ่งผลประโยชน์ที่จะได้รับ คือ ทำให้บ้านเรือนทั้งหมดเห็นความสำคัญการคัดแยก และเราก็จะมีระบบจัดเก็บขยะจากเอกชนมาตามบ้าน โรงเรียน นอกจากนั้น ก็จะไปทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรม ซึ่งมีสถาบันสิ่งแวดล้อมทางด้านบรรจุภัณฑ์ ซึ่งได้ทำนำร่องไว้ด้วยกัน ก็จะทำนำร่องด้วยกัน ส่วนระยาวจริงๆ เพื่อลดการฝังกลบ ก็จะนำขยะมาแปลงเป็นพลังงาน หรือ ไฟฟ้า โดยมีโครงการที่จะศึกษาร่วมกัน ทางการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นอกจากนี้ ยังร่วมกับอีกหลายหน่วยงานในการนำสายไฟฟ้าลงดินในย่านใจกลางเมือง รวมถึงมีนโยบายส่งเสริมพลังงานทางเลือกเพื่อช่วยกันลดโลกร้อนอีกด้วย สุดท้ายคือการฟื้นฟูสภาพอากาศ ในกทม. ตนจะเข้าไปตรวจสอบบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในการลดปริมาณฝุ่นละอองทางอากาศ

ด้าน นางลีนา กล่าวว่า ตนจะสานต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของ นายอภิรักษ์ ครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เพราะดีอยู่แล้ว แต่อย่างก็ตาม ตนจะแก้ปัญหาจราจรก่อนเพราะไม่ว่ากทม.มีสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของคน กทม.ดีขึ้น เพราะรถยังติดอยู่ ซึ่งนโยบายสำคัญที่จะทำอันดับแรกคือ ลดการใช้รถโดยสารส่วนตัวจัดทำตั๋วร่วมราคาเดียว 88 บาทใช้โดยสารรถเมล์ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร ได้ทุกประเภทๆ ละ 8 ครั้ง จัดให้มีรถเมล์วิ่งในชุมชนฟรี รถรับส่ง นักเรียนจากบ้านไปโรงเรียน สถานศึกษาฟรี และตนจะสร้างทางลอด ทางข้ามทุก 4 แยกเพื่อไม่ให้มีรถติด นอกจากนั้นแล้ว ก็จะเข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนแออัดกว่า 1,700 แห่ง โดยการสร้างแฟลต 4-5 ชั้นให้คนจนเช่าเดือนละ 300 บาท นอกจากนั้นแล้ว ก็จะสร้างสวนสาธารณะให้กับประชาชนทุกเขตพื้นที่ กทม.เขตละ 1 แห่ง โดยจะนำพื้นที่ร้างในแต่ละเขตมาสร้าง พร้อมกันนี้ก็จะทำลานกีฬาให้กับประชาชน มีครูฝึกทักษะทางด้านกีฬามาฝึกสอนให้กับประชาชนที่สนใจ เพื่อช่วยลดปัญหายาเสพติด ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยก่อนที่จะถึงฤดูฝน ก็จะมีการล้าง ท่อไม่ให้มีสิ่งอุดตัน สามารถระบายน้ำได้สะดวก พร้อมนำเครื่องมือทันสมัยจากต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพมาในการสูบน้ำ ระบายน้ำ

ขณะที่ นายประภัสร์ กล่าวว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ แล้วต้องเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเอาใจใส่ คงไม่พูดเฉพาะเรื่องของน้ำ น้ำท่วม เพราะว่าน้ำเป็นเรื่องของฤดูกาล และในการบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องที่หน่วยงานอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทานที่เข้ามาจัดการน้ำ ทำให้น้ำไม่เข้ามา กทม.การติดตั้งที่สูบน้ำ คงจะไม่ได้ผลหากทางกรมชลประทานไม่เข้ามาดำเนินการ และในฐานะที่ตนอยู่ในระบบราชการมานาน เรื่องของสิ่งแวดล้อมก็อยู่ในแผนแม่บทของการทำงานในทุกๆ หน่วยงาน ไม่ใช่เฉพาะองค์กรใด องค์กรหนึ่ง และควรนำแผนแม่บทมาปฏิบัติอย่างจริงจัง รวมถึงมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข คือ ฝุ่นละออง เสียง ป้าย ที่เป็นมลภาวะทางสายตา ที่เป็นปัญหาสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของประชาชน ตนไม่ใช่นักวิชาการ แต่เป็นนักปฏิบัติ ตนจะเข้าไปดูแลจริงจัง กำกับให้ทำตามกฎหมายผู้รับเหมาก่อสร้างให้ทำตามระเบียบไม่ใช่ปล่อยให้ทำอะไรก็ได้ตามใจ เรื่องของน้ำเน่าเสีย เช่น น้ำในคลองแสนแสบ ที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ตนจะสร้างท่อรับน้ำเสียตลอดแนวคลองแสนแสบเพื่อนำไปบำบัดก่อนที่จะปล่อยลงสู่แม่น้ำ

“อยากถามว่า เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาที่ได้มีการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน มีการขุดดินขึ้นมากว่า 3 ล้านกว่าคิว มีใครหรือไม่ที่เห็นดินตกอยู่บนถนนบ้าง ขณะที่ กทม.มีหน้าที่โดยตรงสร้างคอนโดข้างถนน ก็ไม่สามารถที่จะไปกำกับดูแลให้พวกเอกชนดูแลความสะอาดของถนน ลองนึก 4 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และ 4 ปีวันนี้เป็นอย่างไร ผมบอกตรงๆ ว่า ไม่ใช่นักการเมือง และไม่ได้มีอาชีพเป็นนักการเมือง เป็นผู้ทำงานในระบบราชการและเป็นคนทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนมาโดยตลอด และในระบบที่อยู่ในรัฐวิสาหกิจก็รำคาญพวกนักการเมือง เพราะที่พูดกับที่ทำไม่ตรงกัน วันนี้ผมมาเสนอตัวในฐานะบุคคลธรรมดาที่จะเข้ามาทำงานให้กับประชาชน” นายประภัสร์ กล่าว

ด้าน นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ในพื้นที่ กทม.ปัญหาสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น สมองหยุดพัฒนา เนื่องมาจากสารปรอทที่ปนเปื้อนน้ำ อาหาร ไซนัสอักเสบ มาจากฝุ่นควัน ระบบทางเดินหายใจ โรคหอบหืด มาจากฝุ่นละอองจำนวนมาก โรคตับอักเสบ มาจากสารไดออกซินซิแลน กระดูกไม่แข็งแรง มาจากแคตเมียม โรคผิวหนัง ภูมิแพ้ เชื้อรา มาจากขยะ น้ำเสีย อากาศเป็นพิษ ดังนั้นจึงถึงเวลาที่จะดีทอกซ์กทม.ทำให้ประชาชนมีความสุขซึ่งตนจะทำอย่างจริงจัง เช่น สร้างสวนสาธารณะในพื้นที่ที่รกร้าง 841 ผืนเพื่อลดอากาศเป็นพิษ และสวนหย่อม สร้างสวนป่าในเมือง

“ผมต้องขอบคุณ นายอภิรักษ์ ที่ได้พยายามทำบ้าง แต่คิดว่าต้องทำอีกมาก ผมรู้ว่าทำมาเหนื่อยแล้ว ดังนั้น ขอให้ผผมช่วยผ่อนแรงให้ผมทำต่อ ทำสวนให้เพิ่ม ในอัตราที่เร่งขึ้น ซึ่งการสร้างสวนหย่อมลอยฟ้า สร้างบนดาดฟ้าของตึกให้มีพื้นที่สีเขียว ผมได้คุยกับนักออกแบบไว้แล้วหากว่าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ก็สามารถที่จะทำได้ทันที และที่สำคัญยังไม่มีใครพูดถึงคือผมจะสร้างเมรุเผาศพใน 500 วัดของ กทม.ให้เป็นเมรุที่ได้มาตรฐาน ไม่ก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นอันตรายกับประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบวัด ทั้งนี้ จะทำนำร่อง เขตละ 1 เมรุ” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ไขน้ำเน่าเสียตนจะสร้างเรือดูดโคลนมาดูดโคลนเพื่อให้ไม่ให้น้ำขุ่นทำคลองให้สวย ใส อย่างแท้จริง โดยจะมีการปักป้ายเพื่อบอกกับประชาชนว่าในแต่ละคลองจะมีการขุดลอกวันไหน เดือนไหน เพื่อให้เป็นช่องทางในการตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าฯ กทม.อีกทางหนึ่ง ขณะที่การจัดการขยะใน กทม.ก็จะทำแบบครบวงจร ไม่ใช่ใช้วิธีให้แต่ละบ้านแยกขยะ แต่พอรถมาเก็บขยะแล้วก็กลับนำขยะเหล่านั้นมาเทรวมกันอีกครั้ง โดยตนจะทำรถเก็บขยะแยกประเภทให้ชัดเจน และมีเก็บขยะทุกพื้นที่ ทุกวันทั้งในเมือง-นอกเมือง

ส่วนขยะที่เป็นพิษนั้นก็จะมีการเก็บและทำลายอย่างครบวงจร ไม่ใช่เป็นการฝังกลบอย่างที่เป็นไปในปัจจุบัน นอกจากนั้นแล้วในพื้นที่สาธารณะที่มักจะพบมูลของสุนัข ตนก็จะแก้ไขโดยการทำผ้าอ้อมสุนัข เพื่อไม่ให้ทางเท้าเปรอะเปื้อน

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการแก้ปัญหาจราจร อย่างแรกก็จะต้องลดปริมาณรถที่วิ่งเข้ามาในเมืองซึ่งทุกวันนี้มีไม่ต่ำกว่า 1 แสนคัน โดยการทำ กทม.ให้เป็นมหานคร WIMAX ที่มีความเร็วกว่ากรีน WiFi150 เท่า ใช้ได้ทุกเขตพื้นที่ซึ่งจะทำให้คนไม่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง นอกจากนั้นแล้ว จะสร้างเมโทรพอร์ต (Metro Port) สำนักงานออฟฟิศให้เช่าอยู่ในเขตชานเมืองลดปัญหาคนเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองหลวงเช่นกัน
อภิรักษ์ โกษะโยธิน
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
ประภัสร์ จงสงวน
ลีน่า จัง
บรรดากองเชียร์ที่เข้าร่วมรับฟัง
บรรดากองเชียร์ที่เข้าร่วมรับฟัง




กำลังโหลดความคิดเห็น